Drawer trigger

หน้าที่ต่อสังคม-ความโกรธ

ความโกรธ  คือสภาพของจิตใจที่เกิดจากความไม่พอใจหรือขุ่นเคืองอย่างรุนแรง และคิดที่จะล้างแค้นฝ่ายตรงข้ามตลอดเวลา  ซึ่งตราบใดที่ยังไม่ได้ชำระแค้นจะไม่สบายใจ  คนเราถ้าอยู่ในห้วงอารมณ์ความโกรธจะปราศจากการยับยั้งชังใจ  ควบคุมสติไม่อยู่  อารมณ์จะอยู่เหนือสติสัมปชัญญะ  นึกอะไรได้ก็อยากจะทำทันทีไม่ว่าสิ่งนั้นจะดีหรือไม่ดีก็ตามสภาพจิตใจในเวลานั้นมีความร้ายกาจยิ่งกว่าสัตว์ดุร้าย  และมีความร้อนแรงกว่า เพลิงที่กำลังลุกโชตช่วง  เขาจึงเปรียบเปรยความโกรธว่าเป็นความโง่ โมโหคือความบ้า อิสลามแนะนำว่า  มนุษย์จะต้องรู้จักอดทนอดกลั้นต่อความโกรธ  และกล่าวประณามผู้ที่ผลิตทุกอย่างเพื่อความโกรธแค้น ขณะเดียวกันกล่าวชมเชยผู้ที่มีความอดกลั้นและกลืนความโกรธแค้นลงในทรวงอกและพร้อมที่จะให้อภัยฝ่ายตรงข้ามขณะที่ตนยังโกรธอยู่ อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) ตรัสว่า وَجَنَّةٍ عَرْضُهَا السَّمَاوَاتُ وَالأَرْضُ أُعِدَّتْ لِلْمُتَّقِينَ  الَّذِينَ يُنفِقُونَ فِي السَّرَّاء وَالضَّرَّاء وَالْكَاظِمِينَ الْغَيْظَ وَالْعَافِينَ عَنِ النَّاسِ وَاللّهُ يُحِبُّ الْمُحْسِنِينَ “สรวงสวรรค์ของพระองค์ที่มีความกว้างเท่ากับฟากฟ้าและปฐพี  ได้ถูกเตรียมไวเพื่อปวงบ่าวที่มีความสำรวมตน  ซึ่งพวกเขาได้ทำการบริจาคทรัพย์ทั้งในยามสุขและยามเดือดร้อน  และเป็นผู้ระงับความโกรธและให้อภัยแก่ผู้อื่น  อัลลอฮทรงรักผู้ประพฤติดีทั้งหลาย”  (อัล-กุรอาน บทอาลิอิมรอน โองการที่ 134) อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) ได้กล่าวถึงคุณสมบัติที่แท้จริงประการหนึ่งของบรรดาผู้ศรัทธาว่า وَإِذَا مَا غَضِبُوا هُمْ يَغْفِرُونَ “เมื่อพวกเขามีความโกรธ  พวกเขาก็จะให้อภัย” (อัล-กุรอาน บท อัช-ชูรอ โองการที่ 37) ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวถึงโมหะไว้ว่า 1. จงระวังโมหะ ซึ่งจะเริ่มต้นจากความบ้าคลั่งและ จบลงด้วยกับความเสียใจ 2. โมหะเป็นไฟที่เผาผลาญ ผู้ใดก็ตามที่สามารถระงับยับยั้งความโกรธของเขาได้เท่ากับเป็นการดับไฟลงได้ แต่ถ้าผู้ใดไม่อาจสามารถทำได้ตัวของเขาเองก็ต้องถูกเผาผลาญ 3. โมหะเป็นพันธ์หนึ่งของความบ้า ส่วนการสำนึกผิดเป็นสิ่งที่ติดตามมันมา หรือถ้าหากมันมิเป็นเช่นนั้น ก็หมายความว่าความบ้าได้เกาะกุมมันไว้อย่างมั่นคงแล้ว 4. จงเป็นเจ้านายเหนือความโกรธเคืองและความรุนแรง ในความมีโมหะของท่าน จงกระทั่งโมหะของท่านได้ละไปจากท่านและสติปัญญาได้กลับคืนมา 5. บุคคลที่มีคุณธรรมอันยิ่งใหญ่ก็คือ ผู้ที่สามารถทำให้โมหะของเขาอ่อนละมุนลง และไม่ถือความได้เปรียบด้วยกับกำลังอำนาจของเขา การให้ความสำคัญต่ออาชีพการงาน อิสลามให้ความสำคัญกับเรื่องการงาน  และความอุตสาหะในการประกอบอาชีพเป็นอย่างยิ่ง  ซึ่งตามหลักการของอิสลามแล้วมนุษย์ต้องทำงานและต้องหลีกห่างจากความเกียจคร้าน  ความอุตาหะถือเป็นฐานรากที่มั่นคง  ซึ่งระบบการสร้างของพระผู้เป็นเจ้าก็วางอยู่บนฐานรากดังกล่าว  พระองค์ได้ทรงสร้างทุกสรรพสิ่งขึ้นมาตามความเหมาะสมของมัน  ทรงประทานสื่อในการทำมาหากิน  เพื่อเป็นเครื่องมือแก่ประชาชาติ  เพื่อพวกเขาจะได้หาประโยชน์และขจัดความเดือดร้อนต่าง ๆ จากมัน มนุษย์คือสิ่งถูกสร้างที่ดีที่สุด  มีความละเอียดอ่อนและมีความต้องการในทุก ๆ ด้านมากกว่าสิ่งอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้  มนุษย์จึงต้องอุตสาหะมากกว่าใครทั้งหมด  เพื่อที่ให้ผลของความอุตสาหะนั้นพอเพียงกับความต้องการของตนและครอบครัว  อิสลามเป็นศาสนาที่มีคำสอนครอบคุลมในทุก ๆด้านของชีวิตและสังคม  ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการงานและความอุตสาหะ  อิสลามถือว่าความเกียจคร้านในการประกอบอาชีพเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ  และถือว่าคนที่เกียจคร้านนั้นเป็นตัวถ่วงดุลทำให้สังคมเกิดความล้าหลังและปราศจากการพัฒนาไปสู่ความเจริญ อิสลามถือว่าอาชีพสุจริตทุกประเภทล้วนมีเกียรติทั้งสิ้น  ซึ่งเป็นหน้าที่ของทุก ๆ คน  ที่จะต้องประกอบอาชีพตามความเหมาะสมและความถนัดของตัวเองเพื่อให้ได้ปัจจัยในการยังชีพ  และขณะเดียวกันก็ถือว่าเป็นการแบ่งภาระรับผิดชอบแทนสังคม  ทำให้สังคมไม่เกิดปัญหาการว่างงาน อัลลอฮ (ซ.บ) ตรัสว่า “มนุษย์จะไม่ได้รับสิ่งใด  นอกจากสิ่งที่เขาได้อุตสาหะเอาไว้”  (อัล-กุรอาน บท อัน-นัจมุ โองการที่ 39) หมายถึง มนุษย์ทุกคนสามารถไปถึงยังเป้าหมายของตนได้ด้วยความพยายามและอุตสาหะ  เกียจคร้านหรือเป็นคนประเภทหนักไม่เอาเบาไม่สู้นั้น  จึงได้ถูกห้ามปรามไว้อย่างเด็ดขาด การเชื่อมั่นตนเอง หลักการโดยทั่วไปของอิสลามคือ  บรรดาผู้ศรัทธาจะต้องไม่เคารพสักการะสิ่งอื่นใดนอกจากอัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์)  ต้องไม่เกรงกลัวอำนาจอื่นนอกจากพระองค์  ผู้ซึ่งเป็นผู้อภิบาลแห่งสากลโลก  และต้องมอบหมายความไว้วางใจแก่พระองค์เท่านั้น บรรดาสรรพสิ่งและสรรพสัตว์ทั้งหลายได้ถูกสร้างขึ้นมาโดยพระองค์  พระองค์คือผู้ประทานเครื่องยังชีพแก่มนุษย์และสัตว์  ด้วยเหตุนี้ ณ พระองค์และไม่มีใครดีกว่าใคร  ยกเว้นผู้ที่มีความยำเกรงต่อพระองค์ มนุษย์จะต้องมีความเชื่อมั่นในตัวเองและรู้จักใช้ประโยชน์จากเสรีภาพที่พระองค์ได้ประทานให้มา  ต้องรู้จักเลือกสรรสื่อในการประกอบอาชีพตามความสามารถและความถนัดในงาน  มีความเชื่อมั่นต่อการช่วยเหลือของพระองค์  อย่างฝากความหวังไว้กับผู้อื่นและอย่าคิดว่านอกจากพระองค์แล้ว  ยังมีคนอื่นที่คอยช่วยเหลืออยู่อีก  เพราะความคิดและการทำเช่นนั้นเป็นการตั้งภาคีกับพระองค์ การเชื่อมั่นในตัวเองเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งที่จะนำพามนุษย์ไปสู่เป้าหมายและความสำเร็จ  และตราบใดที่บุคคลนั้นไม่มีความมั่นใจในตัวเองก็อย่าหวังว่าเขาจะประสบความสำเร็จ  ฉะนั้น ต้องมั่นใจตลอดเวลาว่าเมื่อใดก็ตามที่ลงมือทำงาน  อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) จะให้ความช่วยเหลือและนำความสำเร็จมาสู่  ซึ่งบุคคลอื่นไม่ใช่ที่พึ่งสำหรับตนพวกเขาเป็นเพียงตัวประกอบเท่านั้น  และถ้ายังฝากความหวังไว้กับพวกเขาก็เท่ากับว่าเราพยายามที่จะอกตัญญูต่อพระองค์