Drawer trigger

อิสลามมีบทบัญญัติอย่างไรเกี่ยวกับการโคลนนิ่ง

มีมัรญะอ์ท่านใดที่ฟัตวาอนุญาตให้โคลนนิ่ง อิสลามมีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับเรื่องนี้? การโคลนนิ่ง โดยเฉพาะการโคลนนิ่งมนุษย์ ถือเป็นประเด็นปัญหาใหม่ จึงไม่อาจจะพบโองการกุรอานหรือฮะดีษที่ระบุเกี่ยวกับเรื่องนี้โดยตรง อย่างไรก็ดี ผู้รู้และนักวิชาการชีอะฮ์ได้ใช้กระบวนการวินิจฉัยหลักฐานจากกุรอานและฮะดีษ ทำให้สามารถแสดงทัศนะเกี่ยวกับเรื่องนี้ ซึ่งแบ่งออกเป็นสามทัศนะด้วยกัน ก. มัรญะอ์บางท่านถือว่าหากไม่มีตัวแปรอื่นใด อนุมัติให้กระทำได้ ข. บางท่านอนุญาตในวงแคบ และตามเงื่อนไขที่จำกัด ค. บางท่านถือว่ากระบวนการโคลนนิ่งเป็นฮะรอมโดยสิ้นเชิง เพื่อความกระจ่าง เราจะขอเกริ่นด้วยข้อมูลเบื้องต้นพอสังเขป ก. กระบวนการโคลนนิ่ง: มีลำดับขั้นตอนต่างๆดังนี้ 1. ดูดไข่ออกมาจากรังไข่ 2. ดูดนิวเคลียสออกจากไข่ เพื่อใช้เป็นไซโตพลาสผู้รับ (ไข่ที่ปราศจากนิวเคลียสจะสูญเสียโครโมโซมทั้ง23ชนิดไป ซึ่งทำให้สูญเสียลักษณะทางพันธุกรรม แต่ก็ยังมีเหลืออยู่บ้าง) 3. คัดเลือกเซลล์ร่างกายเพื่อเป็นเซลล์ต้นแบบ จากนั้นฉีดเข้าไปในไซโตพลาสผู้รับ(ไข่ที่ปราศจากนิวเคลียส) ทำให้ไข่มีโครโมโซมที่จำเป็น(46ชนิด)อย่างครบถ้วน 4. กระตุ้นไข่ด้วยไฟฟ้าหรือสารเคมี เพื่อเชื่อมต่อไข่กับเซลล์และกระตุ้นการแบ่งเซลล์ 5. หลังจากที่เซลล์แบ่งตัวตามต้องการแล้ว ย้ายตัวอ่อนไปฝากในครรภ์ผู้รับ 6. หลังจากระยะที่กำหนด ตัวอ่อนจะเจริญเติบโตและคลอดออกมา ทารกที่เกิดจะคล้ายกับผู้ให้เซลล์ร่างกายถึง 97% (ยกเว้นอิทธิพลเล็กน้อยของดีเอ็นเอที่มีอยู่ในไมโตคอนเดรีย) และทารกจะมีเพศตรงกับผู้ให้เซลล์.[1] ข. ประเภทการโคลนนิ่ง: 1. โคลนนิ่งระหว่างสัตว์ ไม่ว่าจะสายพันธ์เดียวกันหรือไม่ 2. ระหว่างพืชและสัตว์ 3. ระหว่างสัตว์และมนุษย์ 4. ระหว่างมนุษย์ด้วยกัน ซึ่งมีหลายกรณี เช่น เป็นสามีภรรยากันหรือไม่ เจ้าของครรภ์สมรสแล้วหรือไม่ ฯลฯ ซึ่งแต่ละกรณีก็มีบทบัญญัติศาสนาที่แตกต่างกัน[2] ประเด็นที่ต้องพิจารณาเป็นพิเศษคือ ผลกระทบต่างๆที่อาจจะเกิดจากการโคลนนิ่งมนุษย์ อาทิเช่น 1. ทำให้เชื้อสายมนุษย์คละกัน 2. ทำให้สับสนเกี่ยวกับสถานะในครอบครัว 3. ขาดผู้รับผิดชอบในฐานะผู้ปกครอง 4. ทำให้สับสนในการแบ่งมรดกและค่าเลี้ยงดู 5. อาจทำให้มีทารกพิการ 6. อาจทำให้ทารกป่วยเป็นโรคแปลกประหลาด 7, ขัดต่อหลักความแตกต่างของบุคคล 8. ลดอัตราการแต่งงานและทำลายสถาบันครอบครัว 9. ทำลายสถานภาพความเป็นแม่ 10. อาจส่งผลให้ผิดประเวณี 11. อาจส่งผลให้รักร่วมเพศระบาด 12. อาจตกเป็นเครื่องมือประกอบอาชญากรรม และข้อกังวลทางศาสนาอื่นๆ[3] ผลกระทบเหล่านี้สร้างความลำบากใจแก่แวดวงนักการศาสนาของคริสเตียนและพี่น้องอะฮ์ลิสซุนนะฮ์อย่างยิ่ง กระทั่งขนานนามว่าเป็นปัญหาแห่งศตวรรษ พระสันตปาปาได้ออกแถลงการณ์ห้ามโคลนนิ่งเนื่องจากขัดต่อเกียรติของมนุษย์ ส่วนพี่น้องอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ก็จัดประชุมระดมความคิดกว่าสิบครั้ง ซึ่งมติที่ประชุมเกือบจะเอกฉันท์เห็นว่าเป็นฮะรอม[4] มีเพียงดร.มะห์รู้ส นักวิชาการมัซฮับฮะนะฟีจากอิรักเท่านั้นที่ถือว่าอนุมัติ [5] ผู้รู้ฝ่ายชีอะฮ์บางท่านได้ตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับเรื่องนี้  โดยไม่ถือว่าผลกระทบข้างต้นจะทำให้กระบวนการโคลนนิ่งกลายเป็นฮะรอม[6] เกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว สามารถจำแนกทัศนะของมัรญะอ์ชีอะฮ์ได้ดังนี้ 1. อนุญาต(หากไม่มีตัวแปรอื่น) 2. อนุญาตในวงจำกัด 3. ฮะรอมโดยสิ้นเชิง[7] 1. อนุญาต(หากไม่มีตัวแปรอื่น) มัรญะอ์บางท่านถือเหตุผลที่ว่า ในเมื่อไม่มีหลักฐานศาสนาใดๆที่ระบุว่าห้ามโคลนนิ่งมนุษย์ จึงอาศัยกฏแห่ง“ฮิ้ลล์”(ทุกสิ่งเป็นที่อนุมัตินอกจากจะมีคำสั่งห้าม) และกฏแห่ง“อิบาฮะฮ์”ในการวินิจฉัยอนุมัติ บรรดาผู้รู้เช่น อายะตุ้ลลอฮ์ฯ ซีสตานี, มูซาวี อัรดะบีลี, ฟาฎิ้ล ลังกะรอนี, ฟัฎลุลลอฮ์, มุฮัมมัด มุอ์มิน ฯลฯ ได้ตอบข้อซักถามที่ว่า “การให้กำเนิดมนุษย์ในห้องทดลองด้วยกรรมวิธีโคลนนิ่งอันทันสมัย เป็นที่อนุมัติหรือไม่?” โดยตอบว่า “โดยตัวของมันเองไม่มีปัญหาอะไร”[8] ผู้รู้บางท่าน[9]นอกจากจะตอบว่าอนุมัติแล้ว ยังชี้แจงถึงเหตุผลที่ทำให้ผู้อื่นฟัตวาห้ามอีกด้วย[10] แต่ผู้รู้บางส่วนก็เห็นว่า ในกรณีที่การโคลนนิ่งจะบังเกิดผลเสียที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ก็ให้ถือว่าเป็นฮะรอมในลักษณะซานะวีย์ (ฮะรอมเนื่องจากตัวแปร) อายะตุ้ลลอฮ์ฯ ซัยยิด กาซิม ฮาอิรี และ อายะตุ้ลลอฮ์ฯ มะการิม ชีรอซี ถือทัศนะนี้[11] 2. อนุญาตในวงจำกัด บางท่านถือว่าการโคลนนิ่งเป็นที่อนุมัติในเบื้องต้นตามหลักฐานและหลักการในภาพรวม แต่ก็เชื่อว่าการโคลนนิ่งในวงกว้างจะทำให้เกิดปัญหาต่างๆตามมา ซึ่งเชคฮะซัน ญะวาฮิรี ถือตามทัศนะนี้ ไม่เพียงแต่ท่านจะถือว่าการโคลนนิ่งในระดับปัจเจกบุคคลเป็นที่อนุมัติ แต่ยังได้ฟัตวาห้ามผู้ใดกล่าวอ้างว่าการโคลนนิ่งเป็นฮะรอมอีกด้วย เนื่องจากท่านเชื่อว่าเป็นการวินิจฉัยที่ไร้เหตุผลรองรับ[12] 3. ฮะรอมโดยสิ้นเชิง ผู้ที่ถือตามทัศนะนี้มี อายะตุ้ลลอฮ์ฯ ตั้บรีซี และ อัลลามะฮ์ มุฮัมมัดมะฮ์ดี ชัมซุดดีน ชาวเลบานอน ซึ่งไม่เพียงแต่ห้ามการโคลนนิ่งมนุษย์ แต่ยังห้ามรวมไปถึงการโคลนนิ่งสัตว์ด้วย[13]     [1] เจาะลึกฟิกเกาะฮ์: การโคลนนิ่งมนุษย์จากมุมมองผู้รู้ชีอะฮ์,สำนักงานกิจการเผยแพร่อิสลาม,หน้า 6 [2] อัลอิสตินซ้าค บัยนัตตักนียะฮ์ วัตตัชรี้อ์, ซัยยิดอลี มูซา ซับซะวอรี,หน้า 43 [3] คัดจากนิตยสารอุฟุกเฮาซะฮ์, และ การโคลนนิ่งมนุษย์จากมุมมองผู้รู้ชีอะฮ์ [4] อ้างแล้ว [5] อ้างแล้ว [6] ดู: การโคลนนิ่งมนุษย์และชุดฟัตวาการแพทย์,ซัยยิด มุฮัมมัด ฮะกีม [7] เจาะลึกฟิกเกาะฮ์: การโคลนนิ่งมนุษย์จากมุมมองผู้รู้ชีอะฮ์,สำนักงานกิจการเผยแพร่อิสลาม,หน้า 32 [8] อ้างแล้ว [9] อายะตุ้ลลอฮ์ ซัยยิด มุฮัมมัด สะอี้ด ฮะกีม [10] เจาะลึกฟิกเกาะฮ์: การโคลนนิ่งมนุษย์จากมุมมองผู้รู้ชีอะฮ์,สำนักงานกิจการเผยแพร่อิสลาม,หน้า 32 [11] อ้างแล้ว [12] อ้างแล้ว [13] อ้างแล้ว