กรุณาแจกแจงความสำคัญของฮะดีษกิซาอ์
กรุณาแจกแจงความสำคัญของฮะดีษกิซาอ์
0 Vote
96 View
กรุณาแจกแจงความสำคัญของฮะดีษกิซาอ์ ฮะดีษกิซาอ์ที่ปรากฏในตำราฮะดีษและหนังสือมะฟาตีฮุลญินานของเชคอับบาสกุมี มีความสำคัญเป็นพิเศษในแง่อิมามัตและอิศมัต(ภาวะไร้บาป) ตำแหน่งอิมามและวิลายะฮ์ของอะฮ์ลุลบัยต์ได้รับการพิสูจน์จากเบาะแสในฮะดีษบทนี้ เนื่องจากกริยาและวาจาของท่านนบี(ซ.ล.)บ่งบอกว่าตำแหน่งดังกล่าวว่าเป็นสิทธิอันชอบธรรมของอะฮ์ลุลบัยต์เท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการเรียกอะฮ์ลุลบัยต์มานั่งใต้ผ้าคลุมในสถานที่ๆมีเพียงบุคคลเหล่านี้เท่านั้น อีกทั้งยังมีการกล่าวถึงอิมามอลีในฐานะผู้สืบทอดอีกด้วย และจบท้ายด้วยประโยคที่แสดงถึงความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างนบี(ซ.ล.)กับอะฮ์ลุลบัยต์ของท่าน ส่วนภาวะปลอดบาปของบุคคลเหล่านี้ก็ได้รับการพิสูจน์แล้วด้วยสำนวนที่ว่า وَ اَذْهِبْ عَنْهُمُ الرِّجْسَ وَ طَهِّرْهُمْ تَطْهیراًสรุปคือ ฮะดีษนี้มีความสำคัญในสองแง่มุม นั่นคือประเด็นอิมามัตและอิศมัต คำตอบเชิงรายละเอียด มีรายงานมากมายที่กล่าวถึงฮะดีษกิซาอ์โดยสังเขป[1] ทุกบทรายงานตรงกันว่า ท่านนบี(ซ.ล.) ได้เรียกอิมามอลี ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ อิมามฮะซันและอิมามฮุเซน(อ.) มาอยู่ใต้ผ้าคลุมร่วมกับท่าน แล้วกล่าวว่า “โอ้อัลลอฮ์ บุคคลเหล่านี้คือคนในครอบครัวของข้าพระองค์ ขอทรงขจัดมลทินให้ห่างจากพวกเขา” ทันใดนั้นเอง โองการนี้ก็ประทานแก่ท่าน إِنَّما یُرِیدُ اللَّهُ لِیُذْهِبَ عَنْکُمُ الرِّجْسَ نازل گردید ฮากิม ฮัสกานี ผู้รู้ที่มีชื่อเสียงฝ่ายอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ได้รายงานฮะดีษนี้ไว้ในหนังสือ ชะวาฮิดุตตันซี้ล[2] และซัยยิด บิน ฏอวู้ส[3]ก็ได้รายงานฮะดีษดังกล่าวจากสายรายงานที่หลากหลาย แต่สิ่งที่เราจะกล่าวถึง ณ ที่นี้ก็คือฮะดีษกิซาอ์ที่ปรากฏในหนังสือมะฟาตีฮุลญินานของเชคอับบาส กุมี รายงานชิ้นนี้มีความสำคัญในสองแง่มุมเป็นพิเศษ 1. พิสูจน์ตำแหน่งอิมามและวิลายะฮ์ ในเบื้องต้น ฮะดีษกิซาอ์บ่งบอกถึงประเด็นอิมามัตและวิลายะฮ์ของอะฮ์ลุลบัยต์ โดยได้จำกัดตำแหน่งนี้ไว้เฉพาะบุคคลดังกล่าว ก. ความเป็นอิมามของอะฮ์ลุลบัยต์: ท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวถึงภาวะผู้นำของอิมามอลี(อ.)ในหลายเหตุการณ์ด้วยกัน ซึ่งฮะดีษกิซาอ์ก็ถือเป็นหนึ่งในเหตุการณ์เหล่านั้น ท่อนหนึ่งของฮะดีษนี้ระบุว่าท่านนบี(ซ.ล.)กล่าวถึงอิมามอลี(อ.)ว่าเป็นน้องชาย เคาะลีฟะฮ์ และผู้ถือธงชัยของท่าน[4] ท่านต้องการจะให้ผู้คนทราบถึงฐานันดรและความสำคัญของอะฮ์ลุลบัยต์ เพื่อจะได้รักษาเกียรติยศของพวกเขาภายหลังจากท่าน จึงได้รวบรวมบุคคลดังกล่าวไว้ใต้ผ้าคลุมพร้อมกับกล่าวว่า บุคคลเหล่านี้เท่านั้นที่เป็นสมาชิกครอบครัว คนพิเศษ และวงศ์วานของฉัน เนื้อพวกเขาคือเนื้อของฉัน เลือดพวกเขาคือเลือดของฉัน ผู้ใดทำให้พวกเขาเจ็บปวดเท่ากับทำให้ฉันเจ็บปวด ผู้ใดทำให้พวกเขาโศกเศร้า เท่ากับทำให้ฉันโศกเศร้า ฉันรบกับผู้ที่ก่อสงครามกับพวกเขา และสันติกับผู้ที่สานสันติกับพวกเขา จึงขอให้พระองค์ทรงประสาทพร และมอบบะเราะกัตและความรัก และความอภัยโทษแก่ข้าพระองค์และพวกเขา ข. จำกัดกรอบตำแหน่งอิมามัต: หลังจากที่อิมามฮะซัน อิมามฮุเซน อิมามอลี ท่านหญิงฟาฏิมะฮ์ (อ.) เข้าพบท่านนบี(ซ.ล.) ท่านได้คลุมบุคคลเหล่านี้ด้วยผ้าคลุมเยเมน และขอพรจากพระองค์ให้พวกเขาหลุดพ้นจากมลทินทั้งปวง เป็นเหตุให้อัลลอฮ์ทรงประทานโองการลงมา คำถามก็คือ พฤติกรรมดังกล่าวของท่านนบี(ซ.ล.) มีเหตุผลรองรับหรือไม่? หรือว่าปราศจากเหตุผลใดๆรองรับ? แน่นอนว่าบุคคลที่ยิ่งใหญ่อย่างท่านนบี(ซ.ล.)ย่อมไม่กระทำสิ่งใดโดยปราศจากเหตุผลอย่างแน่นอน[5] เมื่อพิจารณาถึงประโยคก่อนและหลังโองการ إِنَّما یُرِیدُ اللَّهُ لِیُذْهِبَ... จะพบว่าท่านประสงค์จะจำแนกอะฮ์ลุลบัยต์ออกจากบุคคลทั่วไป และต้องการจะสื่อว่าโองการดังกล่าวจำกัดเฉพาะบุคคลเหล่านี้เท่านั้น เพื่อไม่ให้ผู้ใดเข้าใจผิดคิดว่าสมาชิกครอบครัวของท่านนบีทั้งหมดทุกคนเป็นอะฮ์ลุลบัยต์ ทั้งนี้ ถ้าหากท่านนบีไม่ได้จำแนกเช่นนั้น อาจทำให้บางคนเข้าใจว่าภรรยานบีและเครือญาติคนอื่นๆของท่านอยู่ในกรอบความหมายของโองการด้วย ด้วยเหตุนี้จึงมีรายงานว่า ท่านนบี(ซ.ล.) กล่าวย้ำถึงสามครั้งว่า “โอ้ อัลลอฮ์ บุคคลเหล่านี้เท่านั้นที่เป็นอะฮ์ลุลบัยต์ของข้าพระองค์ ขอทรงขจัดมลทินจากพวกเขาเทอญ”[6] นอกจากนี้ยังมีรายงานจากตำราอะฮ์ลิสซุนนะฮ์ว่า ท่านนบี(ซ.ล.) แวะมาเคาะประตูบ้านของอิมามอลีและท่านหญิงฟาฏิมะฮ์(อ.) โดยพร่ำกล่าวว่า السلام علیکم أهل البیت و رحمة الله و برکاته ، الصلاة رحمکم الله »، إنما یرید الله لیذهب عنکم الرجس أهل البیت و یطهرکم تطهیرا[7] [8] 2. พิสูจน์ภาวะปลอดบาป (อิศมัต) อีกแง่มุมหนึ่งที่สะท้อนจากฮะดีษกิซาอ์ก็คือภาวะปลอดมลทินของอะฮ์ลุลบัยต์และบรรดาอิมาม ทั้งนี้ จากการที่ฮะดีษดังกล่าวเป็นเหตุที่โองการ إِنَّما یُرِیدُ اللَّهُ لِیُذْهِبَ عَنْکُمُ الرِّجْسَ ประทานลงมา ฉะนั้น ในเมื่อโองการดังกล่าวบ่งบอกถึงภาวะปลอดบาป ฮะดีษนี้ก็บ่งบอกในทำนองเดียวกัน นักอรรถาธิบายบางคนจำกัดความหมายของ “ริจส์” เพียงแค่การตั้งภาคี หรือบาปใหญ่ที่น่ารังเกียจเช่น ซินา...ฯลฯ ทว่าจริงๆแล้วไม่มีเหตุผลใดรองรับการจำกัดความหมายเช่นนี้ ความหมายเชิงกว้างของ ริจส์ (เมื่อคำนึงว่ามีอลีฟลามที่ให้ความหมายเชิงกว้าง) ครอบคลุมถึงมลทินและบาปกรรมทั้งปวง เนื่องจากบาปทุกชนิดล้วนถือเป็นมลทินทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้กุรอานจึงใช้คำนี้กับการตั้งภาคี การดื่มสุราเมรัย การพนัน การหน้าไหว้หลังหลอก และเนื้อสัตว์ที่ผิดบทบัญญัติ[9] อีกมุมหนึ่ง ด้วยเหตุที่พระประสงค์ทุกประการของอัลลอฮ์จะต้องบังเกิดขึ้น ฉะนั้น ประโยค إِنَّما یُرِیدُ اللَّهُ لِیُذْهِبَ عَنْکُمُ الرِّجْسَ จึงบ่งบอกถึงพระประสงค์ที่ต้องบังเกิดขึ้น โดยเฉพาะการที่มีคำว่า انّما ปรากฏอยู่ ซึ่งให้ความหมายเชิงเจาะจง ซึ่งหมายความว่าพระองค์ทรงประสงค์อย่างแน่วแน่ที่จะต้องบันดาลให้อะฮ์ลุลบัยต์หลุดพ้นจากมลทินทั้งปวง และนี่ก็คือภาวะปลอดบาปนั่นเอง ที่น่าสนใจก็คือ พระประสงค์ในโองการนี้มิไช่พระประสงค์ประเภทเดียวกับบทบัญญัติฮะล้าลฮะรอม (พระประสงค์เชิงขะรีอัต) เนื่องจากบทบัญญัติศาสนาครอบคลุมถึงบุคคลทั่วไปมิได้เจาะจงอะฮ์ลุลบัยต์ ซึ่งย่อมขัดต่อเจตนารมณ์ที่มีการใช้คำว่า انّما ฉะนั้น พระประสงค์อันต่อเนื่องนี้จึงหมายถึงการช่วยเหลือประเภทหนึ่งจากอัลลอฮ์ ที่ทำให้อะฮ์ลุลบัยต์สามารถรักษาภาวะปลอดบาปไว้ได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันก็มิได้ขัดต่อหลักอิสรภาพของมนุษย์ในการเลือกกระทำ อันที่จริงนัยยะของโองการดังกล่าวก็ปรากฏในบทซิยารัตญามิอะฮ์เช่นกัน “อัลลอฮ์ทรงปกป้องพวกท่านจากความเฉไฉ และให้พ้นจากความเสื่อมเสีย และชำระให้ปลอดจากมลทิน และผลักไสราคะให้ห่างไกลจากพวกท่าน เพื่อให้บริสุทธิหมดจด” [10] ด้วยคำอธิบายที่นำเสนอไปแล้ว คงไม่เหลือข้อกังขาใดๆเกี่ยวกับภาวะปลอดบาปของอะฮ์ลุลบัยต์อีกต่อไป[11] ฉะนั้น จึงกระจ่างแล้วว่าฮะดีษกิซาอ์มีความสำคัญต่อการพิสูจน์หลักอิมามัตและภาวะปลอดบาปของอะฮ์ลุลบัยต์เพียงใด [1] ฮะละบี,ฮะซัน บิน ยูซุฟ, นะฮ์ญุลฮักก์ วะกัชฟุศศิดก์, หน้า 228-229, สถาบันดารุลฮิจเราะฮ์,กุม,ฮ.ศ.1407 ในหนังสือมุสนัด อะห์มัด บิน ฮัมบัล ได้รายงานฮะดีษจากหลากสายรายงาน ส่วนหนังสือ อัลญัมอ์ บัยนัศ ศิฮาฮิส ซิตตะฮ์ รายงานจากท่านหญิงอุมมุสะละมะฮ์ว่า ฟาฏิมะฮ์ได้เข้าพบท่านนบี(ซ.ล.) ท่านกล่าวว่า เธอจงเรียกสามีและลูกชายทั้งสองคนมาด้วย ขณะที่ทั้งหมดอยู่ใต้ผ้าคลุม โองการ إِنَّما یُرِیدُ اللَّهُ لِیُذْهِبَ عَنْکُمُ الرِّجْسَ أَهْلَ الْبَیْتِ وَ یُطَهِّرَکُمْ تَطْهِیراً ก็ประทานลงมา ท่านนบีจับปลายผ้าคลุมแล้วชี้ไปที่เบื้องบนพร้อมกับกล่าวว่า คนเหล่านี้แหล่ะคืออะฮ์ลุลบัยต์ของข้าพระองค์ ท่านหญิงอุมมุสะละมะฮ์เล่าว่า ฉันได้ก้มศีรษะเพื่อจะเข้าไปอยู่ใต้ผ้าคลุมด้วย แล้วถามท่านนบีว่า ดิฉันเป็นอะฮ์ลุลบัยต์ด้วยหรือไม่คะ? ท่านตอว่า เธออยู่ในสถานะที่ดี (ทว่ามิได้อยู่ในกรอบอะฮ์ลุลบัยต์) เนื้อหาเดียวกันนี้รายงานในเศาะฮี้ห์ อบี ดาวู้ด และ มุวัฏเฏาะอ์ มาลิก, และเศาะฮี้ห์มุสลิม โดยอ้างสายรายงานที่แตกต่างกัน [2] ฮัสกานี, ฮากิม, ชะวาฮิดุตตันซี้ล ลิกอวาอิดุตตัฟฎี้ล, เล่ม 2,หน้า 17, เตหราน,ฮ.ศ.1411 [3] ซัยยิด บินฏอวู้ส, อัฏเฏาะรออิฟ ฟี มะอ์ริฟะติล มะซาฮิบิฏ เฏาะวาอิฟ,เล่ม 1,หน้า 124, สำนักพิมพ์คัยยอม,ฮ.ศ.1400 [4] قالَ لَهُ وَعَلَیْکَ السَّلامُ یا اَخى یا وَصِیّى وَخَلیفَتى وَصاحِبَ لِواَّئى [5] อันนัจม์, 3,4 และเขา(นบี) ไม่พูดบนพื้นฐานของกิเลส ทุกวาจานั้นมิไช่อื่นใดนอกจากวะฮีย์ [6] اللهم هؤلاء أهل بیتی و خاصتى فاذهب عنهم الرجس و طهرهم تطهیر เชคเศาะดู้ก, อะมาลี, สำนักพิมพ์อะอ์ละมี,เบรุต ฮ.ศ.1400 [7] อะฮ์ซาบ,33 [8] ฏ็อบรอนี, อัลมุอ์ญัม อัลเอาสัฏ, เล่ม 17,หน้า 438, ฮะดีษที่ 8360 [9] ฮัจญ์,30 มาอิดะฮ์,90 เตาบะฮ์,125 อันอาม,145 [10] عصمکم اللَّه من الذلل و آمنکم من الفتن، و طهرکم من الدنس، و اذهب عنکم الرجس، و طهرکم تطهیرا [11] มะการิม ชีรอซี, นาศิร, ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์, เล่ม 17,หน้า 298, ดารุลกุตุบอัลอิสลามียะฮ์, เตหราน, พิมพ์ครั้งแรก,ฮ.ศ.1374