จริยธรรมอิสลาม
จริยธรรมอิสลาม
0 Vote
98 View
จริยธรรม หมายถึง ความเคยชินของจิตใจ ซึ่งความเคยชินนั้นเองก่อให้เกิดการกระทำอันง่ายดายออกมาจากจิตวิญญาณ โดยไม่ต้องรั้งรอหรือใคร่ครวญอีกต่อไป เป็นการกระทำหรือความประพฤติดีอันเป็นสาเหตุทำให้ผู้กระทำได้รับคำสรรเสริญเยินยอ ดังนั้น ทุกความประพฤติที่ดีงามจึงเรียกว่า จริยธรรม ส่วนทุกความประพฤติที่ไม่ดีไม่เรียกว่าเป็น จริยธรรม มนุษย์จำเป็นต้องขวนขวายและต่อสู้เพื่อให้ชีวิตประสบความสำเร็จ มีความสุขและพบเจริญรุ่งเรือง การที่มนุษย์ขวนขวายทุกอย่าง มิใช่เพียงเพื่อความสำเร็จและความสุขของชีวิตเพียงอย่างเดียว ทว่าเพื่อยกระดับคุณค่าของความเป็นมนุษย์ให้สูงขึ้น สิ่งนี้เองถือว่าเป็นสิ่งที่มีค่าที่สุดในชีวิตซึ่งไม่อาจหาสิ่งใดมาแลกเปลี่ยน หรือทดแทนได้เด็ดขาด และสิ่งที่สำคัญยิ่งสำหรับมนุษย์อันเป็นเหตุทำให้ชีวิตของเขาประสบความสำเร็จคือ "การรู้จักหน้าที่ของตนเอง" ซึ่งการให้ความสำคัญต่อหน้าที่ก็เท่ากับการให้ความสำคัญต่อการเป็นมนุษย์ของตน เพราะใครก็ตามที่ละทิ้งหน้าที่ของตนเอง หรือไม่ใส่ใจ หรือไม่ให้ความสำคัญเท่ากับเขาได้ทำให้ความเป็นมนุษย์ของตนหยุดนิ่ง และจมดิ่งลงสู่ความตกต่ำ ประหนึ่งได้ยอมจำนนต่อความต่ำทราม ขณะเดียวกันถ้ามนุษย์ละเมิดหรือละเลยหน้าที่ของตนมากเท่าใด ก็เท่ากับได้ทำลายตัวเอง และสังคมมากเท่านั้น อัลลอฮ ตรัสว่า แท้จริงมนุษย์คือผู้ที่ขาดทุน ยกเว้นมวลผู้ศรัทธา และประพฤติคุณงามความดีเท่านั้น และพวกเขาตักเตือนกันในเรื่องความถูกต้องและความอดทน" (อัล-กุรอาน บทอัล-อัซร์ โองการที่ 3) "ความชั่วได้ปรากฏขึ้นแล้วบนหน้าแผ่นดินและพื้นน้ำ เพราะความพากเพียรของมนุษย์" (อัล-กุรอาน บทอัร โรม โองการที่ 41) การให้ความสำคัญต่อหน้าที่ ถือเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับทุกคน ละเป็นกฎเกณฑ์อันดีงามของสังคม เนื่องจากหน้าที่ของมนุษย์เกี่ยวข้องโดยตรงกับความสำเร็จและการดำเนินชีวิตเองตน อิสลามสอนว่า แท้จริงชีวิตมนุษย์เป็นอมตะนิรันดรกาล ไม่มีขอบเขตและปราศจากจุดจบและความตายไม่ใช่จุดจบของมนุษย์ ซึ่งหลังจากตายแล้วมนุษย์ยังต้องเดินทางต่อไป เสบียง และสัมภาระที่จำเป็นที่ต้องนำติดตัวไปคือ ความเชื่อที่ถูกต้อง มารยาทที่ดีงาม และคุณงามความดีที่เขาได้ขวนขวายเอาไว้บนโลก ฉะนั้น การกำหนดบทบาทและหน้าที่ของมนุษย์ตามที่ศาสนาได้กำหนด หมายถึง การมีชีวิตอย่างเป็นสุขทั้งโลกนี้และโลกหน้า ศาสนาได้วางกฎเกณฑ์ให้มนุษย์เรียนรู้จักพระผู้เป็นเจ้า หลังจากนั้นจึงแสดงความเคารพภักดีต่อพระองค์ ซึ่งผลของสิ่งนี้จะประจักษ์ชัดหลังจากมนุษย์ตายไปแล้ว และในวันที่เขาฟื้นขึ้นมาอีกครั้งเพื่อรอการสอบสวน และตอบแทนผลรางวัลหรือลงโทษไปตามผลกรรม ถ้ามนุษย์ได้วางกฎเกณฑ์และกำหนดบทบาทของตัวเองให้เป็นไปในทางวัตถุแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่ได้คำนึงถึงสภาพที่แท้จริงอันได้แก่จิตวิญญาณและการมีชีวิตที่ถาวร มนุษย์จะประสบความสำเร็จได้อย่างไร แน่นอน วัฒนธรรมของสังคมที่นิยมศาสนากับสังคมที่ปราศจากศาสนาย่อมแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง การรู้จักหน้าที่ ดังกล่าวไปแล้วตั้งแต่ต้นว่า ศาสนาอิสลามเป็นศาสนาที่วางโครงสร้างไว้เพื่อส่วนรวม และเพื่อชนทุกยุคทุกสมัยโดยพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งพระองค์ได้ประทานศาสดาต่าง ๆ ลงมาเพื่อรับใช้และชี้นำมวลมนุษย์ว่า เขาต้องดำเนินชีวิตอย่างไรทั้งโลกนี้และโลกหน้า เพื่อให้เกิดรูปธรรมและนามธรรมในทางปฏิบัติ และเพื่อช่วยเหลือมนุษย์นี้ให้รอดพ้นจากความมืดมิดแห่งความโง่เขลาทั้งหลาย ไปสู่โลกของความสว่างไสวแห่งปัญญา อิสลามได้แสดงทัศนะว่าศาสนา คือ แนวทางในการดำเนินชีวิต ส่วนคำสอนของศาสนาเป็นครรลองในการเลือกสรรปัจจัยยังชีพที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตของตน โดยศาสนาจะเป็นตัวกำหนดหน้าที่ให้กับมนุษย์และพึ่งหวังการปฏิบัติจากเขา ดังนั้น ศาสนาจึงกำหนดหน้าที่โดยกว้าง ๆ ของมนุษย์ไว้ 3 ประการดังนี้ หน้าที่ของมนุษย์กับอัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) ในฐานะที่พระองค์คือผู้ทรงสร้างเขาและประทานปัจจัยยังชีพแก่เขา ดังนั้น การเรียนรู้จักพระผู้เป็นเจ้าจึงมีความจำเป็นเหนือวามจำเป็นทั้งหลาย หน้าที่ของมนุษย์กับตัวเอง หน้าที่ของมนุษย์กับคนอื่น หรือกับสังคมส่วนรวมที่เขาอาศัยอยู่ ซึ่งในแต่ละสังคมต้องการความสัมพันธ์ การประสานงานและการร่วมมือต่อกัน ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่ามนุษย์มีหน้าที่หลักโดยรวมอยู่ 3 ประการ ดังกล่าวไปแล้วข้างต้นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ก.) หน้าที่ของมนุษย์ที่มีต่ออัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) 1. การรู้จักพระผู้เป็นเจ้า หน้าที่ของมนุษย์ที่มีต่ออัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) คือการรู้จักพระองค์ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ที่มีความสำคัญที่สุด และเป็นหน้าอันดับแรกสำหรับมนุษย์ การเรียนรู้จักพระองค์ต้องมีจิตใจสะอาดและเจตนาที่บริสุทธิ์ การมีอยู่ของพระองค์ คือ ต้นกำเนิดของมวลสรรพสิ่งทั้งหลายและปัจจัยทั้งปวง การรู้จักพระองค์ คือ รัศมีแห่งปัญญาที่ส่องผ่านจิตใจทั้งหลายที่ยังมืดมิดอยู่ในโลกของความจริง ส่วนการไม่ใส่ใจที่อยากจะรู้จัก คือ บ่อเกิดแห่งความโง่เขลาทั้งหลาย ที่ปิดบังนัยนาให้มืดมิดจากการรู้จักหน้าที่ของตน และใครก็ตามที่ไม่สนใจต่อการรู้จักพระองค์ ก็เท่ากับเขาได้ดับแสงแห่งปัญญาของตนให้มืดสนิท และหมดหนทางที่จะไขว่คว้าหาความสำเร็จและความสุขที่แท้จริงของการเป็นมนุษย์มาไว้ในครอบครองได้ ดังที่เราได้ประสบพบอยู่ทุกวันนี้ว่า ประชาชนได้หันหลังให้กับการเรียนรู้จักพระผู้เป็นเจ้าที่แท้จริงของตน และตลอดชั่วอายุไขก็ไม่เคยคิดที่จะใส่ใจในเรื่องนี้ ในความเป็นจริงแล้วเขาได้ละทิ้งธาตุแท้ของความเป็นมนุษย์ไปอย่างสิ้นเชิง ส่วนธาตุแท้ที่ยังหลงเหลืออยู่ในตัวเขา คือ ธาตุแห่งความเป็นอมนุษย์ ซึ่งไม่แตกต่างอะไรไปจากก้อนหินหรือก้อนดิน อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) ตรัสว่า "ดังนั้น เจ้าจงหันออกจากบุคคลที่หันเหออกจากคำเตือนของเรา เพราะเขามิได้มุ่งหวังสิ่งใดนอกจากชีวิตทางโลกนี้เท่านั้น และนั่นแหละเป็นความรู้ที่บรรลุที่สุดแล้วของพวกเขา " (อัล-กุรอาน บม อัน-นัจมุ โองการที่ 29) ในความเป็นจริง การรู้จักพระผู้ถือเป็นธรรมชาติและเป็นสัญชาติญาณสำหรับมนุษย์ ไม่ต้องการข้อพิสูจน์หรือหลักฐานใด ๆ เพียงมนุษย์พิจารณาหรือสังเกตธรรมชาติที่อยู่รอบ ๆ ตัวเอง ก็จะพบหลักฐานอย่างดาษดื่นที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า พระผู้ทรงเมตตา ผู้ทรงปรีชาญาณ และทรงอำนาจยิ่ง ด้วยเหตุนี้ ความหมายของการรู้จักพระผู้เป็นเจ้ามิได้หมายถึงการที่มนุษย์ได้รู้จักพระองค์เป็นการส่วนตัว แต่หมายถึง การรู้จักวงจรชีวิตของสิ่งเหล่านั้นอย่างเป็นระบบ ซึ่งเท่ากับเป็นการตอบรับคำเชิญชวนของพระองค์ด้วยจิตใต้สำนึกและสลัดความสงสัยที่มีต่อพระองค์ออกจากจิตใจ 2. การเคารพสักภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว หลังจากได้รู้จักพระผู้เป็นเจ้าแล้วลำดับต่อมา คือ การเคารพภักดีต่อพระองค์ เพราะความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองอันเป็นเป้าหมายเพียงประการเดียวของเรานั้น อยู่ที่การปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์ผู้ทรงเมตตา ที่ได้กำหนดกฎเกณฑ์การปฏิบัติ และแนวทางในการดำเนินชีวิตให้กับมนุษย์ โดยผ่านบรรดาศาสนทูตของพระองค์ที่ได้มาทำหน้าที่เผยแผ่แก่มนุษย์ ฉะนั้น การภักดีและปฏิบัติตามคำบัญชาของพระองค์ถือเป็นหน้าที่เพียงประการเดียวของมนุษย์ ซึ่งไม่มีหน้าที่อันใดจะมาเทียบเคียงหรือยิ่งใหญ่กว่า อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) ตรัสว่า "คำบัญชาขององค์พระผู้อภิบาลของเจ้า คือ จงอย่าเคารพภักดีต่อสิ่งอื่นนอกจากพระองค์" (อัล-กุรอาน บท บนีอิสรออีล โองการที่ 23) "ข้ามิได้สัญญากับสูเจ้ามาก่อนหรือ โอ้ลูกหลานของอาดัมเอ๋ย สูเจ้าทั้งหลายจงอย่านมัสการซาตานมารร้าย เพราะมันเป็นศัตรูที่ชัดแจ้งสำหรับสูเจ้า และสูเจ้าจงนมัสการเฉพาะข้า และนี่คือแนวทางที่เที่ยงตรง" (อัล-กุรอาน บท ยาซีน โองการที่ 60) ฉะนั้น เป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่ต้องรู้จักความเป็นบ่าว การภักดีและความต้องการของตัวเอง ขณะเดียวกันต้องรำลึกถึงความยิ่งใหญ่ และความเกริกเกียรติเกรียงไกรของพระองค์เสมอ พร้อมทั้งมอบหมายให้พระองค์เป็นผู้ชี้นำการดำเนินชีวิตโดยยึดมั่นปฏิบัติตามบัญชาของพระองค์ ซึ่งเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่ต้องไม่เคารพภักดีต่อสิ่งอื่นใดนอกจากพระองค์ และต้องไม่ปฏิบัติตามคำบัญชาของผู้ใดนอกจากท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัว) และอิมามผู้นำผู้บริสุทธิ์ที่อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) ได้กำชับและเตือนสำทับอยู่ตลอดเวลาว่า ต้องปฏิบัติตามพวกเขาเและจงอย่าได้ปฏิบัติตามผู้อื่น พระองค์ตรัสว่า "จงภักดีต่ออัลลอฮ จงภักดีต่อศาสนทูต และผู้ปกครองในหมู่พวกเจ้า" (อัล-กุรอาน บทอัน-นิซาอ โองการที่ 59) แน่นอน ผลพวงประการหนึ่งที่เกิดจากการภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าและผู้นำนั้นก็คือ การให้ความเคารพต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่สัมพันธ์ไปยังพระองค์ เช่น นามอันจำเริญของพระองค์และนามต่าง ๆ ของผู้นำที่ต้องจดจำด้วยความนอบน้อม ต้องแสดงความเคารพต่อ อัล-กุรอาน วิหาร อัล-กะอบะฮ มัสยิดต่าง ๆ และสถานที่ฝังศพของเหล่าบรรดาผู้นำศาสนาของพระองค์ ดังที่พระองค์ตรัสว่า "ใครก็ตามที่ยกย่องสัญลักษณ์ของอัลลอฮ ดังนั้น การทำเช่นนี้เป็นลักษณ์ของผู้มีจิตใจยำเกรง" (อัล-กุรอาน บท อัล-หัจญ์ โองการที่ 32) ข.) หน้าที่ของมนุษย์ต่อตนเอง การที่มนุษย์ได้ขวนขวายหาวิธีการและแนวทางต่าง ๆ ในการดำเนินชีวิตของตนนั้น ซึ่งแก่นแท้ของมันมิใช่เพื่ออื่นใดนอกไปจากความสำเร็จและความเจริญรุ่งเรืองของชีวิต และเนื่องจากว่าการได้รับความสำเร็จและรู้จักถือเป็นสาขาหนึ่งของการรู้จักตนเอง กล่าวคือ ตราบใดก็ตามที่มนุษย์ยังไม่รู้จักตัวเอง เขาก็จะไม่มีวันรู้จักความต้องการที่แท้จริงของตนที่มีความสำเร็จเป็นจุดหมายปลายทางได้อย่างเด็ดขาด ดังนั้น หน้าที่ที่สำคัญที่สุดของมนุษย์ก่อนอื่นใด คือ การรู้จักตัวเองเพื่อให้สิ่งนี้เป็นบันไดก้าวขึ้นไปสู่การเรียนรู้ และเข้าถึงความสำเร็จ โดยต้องขจัดความต้องการขั้นพื้นฐานและความสงสัยทั้งมวลให้หมดไป อย่าปล่อยให้ชีวิตที่มีค่าซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนเพียงประการเดียวของตนต้องได้รับความเสียหาย ท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) กล่าวว่า "ใครก็ตามที่รู้จักตัวเองเท่ากับไดรู้จักพระผู้เป็นเจ้าของตน" ท่านอิมามอะลี (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) กล่าวเช่นกันว่า "ใครก็ตามที่รู้จักตัวเองเท่ากับได้ถึงตำแหน่งที่สูงที่สุดของการรู้จัก" เมื่อมนุษย์ได้รู้จักตัวเองจะทำให้เกิดความเข้าใจทันทีว่า หน้าที่อันยิ่งใหญ่ของเขาก็คือการให้เกียรติต่อคุณค่าสูงสุดในการเป็นมนุษย์ของตน ซึ่งเขาต้องรักษาคุณค่าอันสูงส่งนี้ให้เจิดจรัสอยู่เสมอ พยายามรักษาพลานามัยทั้งภายนอกและภายในให้สมบูรณ์แข็งแรง เพื่อจะได้มีชีวิตที่มีความสุขตลอดไป อิมามอะลี (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) กล่าวว่า ""ใครก็ตามที่ให้เกียรติตัวเอง อารมณ์ใฝ่ต่ำและจิตใจที่ต่ำทรามจะหมดความหมายไปทันที" ดังกล่าวไปแล้วว่า การมีอยู่ของมนุษย์ประกอบขึ้นด้วยร่างกายและจิตวิญญาณ จึงเป็นหน้าที่ของมนุษย์ที่จะต้องปกป้องรักษาให้ทั้งสองสมบูรณ์แข็งแรงและปลอดภัยจากความสกปรกโสมมทั้งหลาย อิสลามจึงได้นำเสนอแนวทางในการรักษาสุขภาพอนามัยของร่างกายและจิตวิญญาณแก่มนุษย์ เพื่อเป็นครรลองในการปฏิบัติ พลานามัยด้านร่างกาย 1. จงออกห่างจากอันตรายต่าง ๆ อิสลามแนวทางอันบริสุทธิ์ ได้วางกฎเกณฑ์ไว้เพื่อเป็นการสนับสนุนสุขภาพและอนามัยของมนุษย์ เช่น อิสลามห้ามรับประทานเลือด ซากสัตว์ เนื้อสัตว์บางประเภทและอาหารที่เป็นพิษต่อร่างกาย ห้ามดื่มของมึนเมาทุกประเภท น้ำที่ไม่สะอาดหรือดื่มน้ำมากจนเกินไปจนเป็นอันตรายต่อร่างกาย และคำสั่งห้ามอื่น ๆ อีกมากมายดังที่ระบุอยู่ในหนังสือริซาละฮ (ตำราที่ว่าด้วยกฎเกณฑ์การปฏิบัติ) 2. จงรักษาความสะอาด ความสะอาด ถือว่าเป็นหนึ่งในคำสอนที่มีความสำคัญยิ่งของอิสลามเกี่ยวกับเรื่องอนามัย อิสลามได้ให้ความสำคัญไว้อย่างมาก โดยสามารถกล่าวได้ว่า ไม่มีแนวทางใดให้ความสำคัญยิ่งไปกว่าอิสลาม ท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) กล่าวว่า "ความสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของความศรัทธา" ซึ่งคำกล่าวของท่านศาสดาย่อมเป็นสิ่งที่ยืนยันให้เห็นว่า อิสลามได้ให้ความยิ่งใหญ่และให้ความสำคัญยิ่งต่อความสะอาดจริง ท่านอิมามมูซากาซิม (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) ได้กล่าวแนะนำเกี่ยวกับเรื่องการอาบน้ำไว้ดังนี้ว่า "การอาบน้ำทุกวันจะทำให้ร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์" ท่านอิมามอะลี (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) กล่าวว่า "การอาบน้ำทุกวันช่วยให้ร่างกายสมบูรณ์แข็งแรง" อิสลาม นอกจากจะเน้นหนักความสะอาดส่วนรวมแล้ว ยังเน้นหนักในเรื่องของส่วนตัวอีกต่างหาก เช่น แนะนำว่าต้องหมั่นดูแลตัดเล็บมือเล็บเท้าอยู่เสมอ ต้องตัดผมและขนในที่ต่าง ๆ ให้สะอาดหมดจด ต้องหวีผมให้เรียบร้อย ต้องแปรงฟันทุกวัน ต้องล้างมือก่อนและหลังจากรับประทานอาหารทุกครั้ง ต้องล้างรูจมูกวันละหลาย ๆ ครั้ง ต้องเก็บกวาดเช็ดถูบ้านเป็นประจำ หมั่นรักษาความสะอาดทางเดินเข้าบ้าน ประตูบ้านและใต้ต้นไม้ที่ปลูกในบริเวณบ้าน นอกจากนี้ อิสลามยังได้เน้นความสะอาดเกี่ยวกับหลักการศาสนาโดยตรง เช่น ร่างการและข้าวของเครื่องใช้ในการแสดงความเคารพภักดีต่อพระเจ้า (อุปกรณ์ประกอบการนมัสการต่อพระผู้เป็นเจ้า) ต้องสะอาดอยู่เสมอ เช่น ต้องรักษาร่างกายและเสื้อผ้าให้สะอาดจากสิ่งโสโครก (นะญิซต่าง ๆ ) ต้องวุฎูอวันละหลายครั้งเพื่อทำนมาซ ต้องฆุสล (อาบน้ำตามหลักศาสนาหลังจากหมดรอบเดือนหรือหลังจากการร่วมหลับนอนกับภรรยา) เพื่อนมาซ และถือศีลอด ซึ่งวุฎูอและฆุสลนั้นจะต้องให้น้ำถูกผิวหนังด้วย ถ้ามีคราบไขมันหรือสิ่งอื่นอันเป็นอุปสรรคกีดขวางน้ำมิให้ถูกผิวหนังจะต้องขจัดออกก่อน ฉะนั้น จะเห็นว่าสิ่งที่อิสลามเน้น คือ ให้มุสลิมรักษาร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ 3. จงรักษาความสะอาดเสื้อผ้า เรื่องการรักษาความสะอาดเสื้อผ้าอาภรณ์ได้ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มแรกของการประกาศอิสลาม ดังจะเห็นได้จากโองการ อัล-กุรอานที่ประทานลงมาในช่วงต้น ๆ ของการแต่งตั้งศาสดา ได้กำชับเรื่องการทำความสะอาดเสื้อผ้าไว้ดังนี้ "ส่วนเสื้อผ้าของเจ้านั้น เจ้าจงทำความสะอาดเสมอ " (อัล-กุรอาน บท อัล-มุดดัซซิร โองการที่่ 4) การรักษาเสื้อผ้าให้สะอาดขณะนมาซ หมายถึง เป็นข้อบังคับ (วาญิบ) ในทางบทบัญญัติอิสลาม แต่อย่างไรก็ตาม อิสลามถือว่าการรักษาเสื้อผ้าอาภรณ์ให้สะอาดอยู่ตลอดเวลานั้น เป็นสิ่งที่ดีสมควรปฏิบัติเสมอ บรรดาอิมามผู้บริสุทธิ์ได้กล่าวแนะนำไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยอ้างจากคำพูดของท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) ที่ว่า "การสวมใส่เสื้อผ้า ต้องสวมใส่เฉพาะเสื้อผ้าที่สะอาดเท่านั้น" อิมามอะลี (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) กล่าวว่า "การซักเสื้อผ้าให้สะอาดจะช่วยขจัดความทุกข์โศกและเป็นเหตุให้นมาซถูกยอมรับ" รายงานจากท่านอิมามซอดิกและท่านอิมามมูซากาซิม (ขอความสันติพึงมีแด่ทานทั้งสอง) ว่า "การมีเสื้อผ้าหลายชุด เพื่อสับเปลี่ยนเวลาสวมใส่ ไม่ถือว่าเป็นการฟุ่มเฟือย" นอกเหนือจากเสื้อผ้าต้องสะอาดแล้ว ยังต้องมีความเป็นระเบียบเรียบร้อย และดูดีเมื่อเวลาสวมใส่ โดยเฉพาะเวลาที่จะออกไปพบปะกับผู้คน หรือแขกผู้มาเยือนต้องสวมใส่เสื้อผ้าที่ดีที่สุด และมีความสง่างามเมื่อยามพบเห็น ท่านอิมามอะลี (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) กล่าว่า "จงสวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสม และจงตบแต่งตัวเองให้สวยงาม เพราะอัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) ทรงเป็นผู้สง่างาม และทรงรักผู้ที่มีความสง่างาม แต่ต้องเป็นที่อนุมัติ" หลังจากนั้นท่านอิมาม (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) ได้อ่านโองการนี้ "จงบอกซิว่า ใครกล้าที่จะวางกฎห้ามเครื่องประดับของอัลลอฮ ซึ่งพระองค์ไดทรงนำออกมาให้แก่ข้าทาสขอพระองค์" (อัล-กุุรอาน บท อัล-อะอรอฟ โองการที่ 32) 4. จงบ้วนปากและแปรงฟัน ปากเป็นเหมือนกับโรงงานย่อยอาหารเล็ก ๆ ที่ทำหน้าที่ย่อยอาหารในระดับหนึ่ง และเนื่องจากว่าอาหารต้องผ่านไปทางปากจึงทำให้ปากสกปรกมีเศษอาหารติดอยู่ตามซอกฟันและในที่ต่างๆ ของปาก เป็นเหตุทำให้เกิดแบคทีเรียและมีกลิ่นปาก และบางคนต้องหายใจทางปาก ดังนั้นถ้าปากมีกลิ่นเหม็นเท่ากับเป็นการทำลายบรรยากาศและสร้างความรบกวนแก่ผู้อื่น ท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) กล่าวว่า "ถ้าฉันไม่เกรงว่ามันจะเป็นความยากลำบากสำหรับบรรดามุสลิมแล้วละก็ ฉันจะกำหนดให้การแปรงฟันเป็นสิ่งจำเป็น (วาญิบ) สำหรับพวกเขา" ในบางครั้งท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) ได้กล่าวว่า "ญิบรออีลได้แนะนำเรื่องการแปรงฟันตลอดเวลา ซึ่งในบางครั้งฉันคิดว่าหลังจากนี้ต่อไปคงเป็นข้อบังคับ (วาญิบ)" 5. จงล้างจมูก การหายใจเป็นความจำเป็นสำหรับมนุษย์ทุกคน อากาศที่หายใจเข้าไปมีความแตกต่างกัน เพราะสถานที่อยู่อาศัยของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาศัยอยู่แถบที่มีฝุ่นละอองมากหนาแน่น มีอากาศไม่บริสุทธิ์ หรือมีมลภาวะเป็นพิศ การหายใจเอาอากาศจำพวกนี้เข้าไปมาก ๆ มีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) พระผู้ทรงสร้างมนุษย์ทรงมีความปรีชาญาณ พระองค์ได้สร้างระบบป้องกันเบื้องต้นให้กับมนุษย์ โดยให้มีขนขึ้นในรูจมูกเพื่อกลั่นกรองฝุ่นละอองมิให้เข้าไปถึงปอดไดง่ายเมื่อเวลามนุษย์หายใจเข้าไป ในบางครั้งจึงพบว่า ภายในรูจมูกจะมีฝุ่นละอองจับตัวกันอยู่เป็นก้อน ด้วยเหตุนี้เอง อิสลามจึงมีคำสั่งแก่บรรดามุสลิมทั้งหลายว่า ในวันหนึ่ง ๆ ก่อนวุฎูอต้องล้างจมูกเสียก่อน ซึ่งการล้างจมูกด้วยน้ำสะอาดเป็นการช่วยรักษาระบบทางเดินหายใจ พลานามัยของจิตวิญญาณ 1. การขัดเกลาจิตวิญญาณ ธรรมชาติโดยทั่วไปของมนุษย์ คือ ชอบผู้ที่มีมารยาทดีงาม มีความประพฤติเรียบร้อย และมักจะเอาใจใส่ต่อความดีงามเหล่านั้นทั้งส่วนตัวและสังคม ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ค่อยพบเห็นผู้มีมารยาทดีงาม แต่ไม่มีผู้ให้ความเคารพหรือเกรงใจ ความใส่ใจของมนุษย์ต่อมารยาทอันดีงามถือเป็นธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ ส่วนคำแนะนำของอิสลามเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นที่ชัดเจน เนื่องจากผู้ให้การอบรมสั่งสอนมารยาทในอิสลาม คือ ท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) ซึ่งจวบจนถึงปัจจุบันนี้ยังไม่มีบุคคลใดสามารถค้นหาข้อบกพร่อง หรือความผิดพลาดของท่านได้แม้แต่นิดเดียว อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) ตรัสว่า "ขอสาบานกับดวงจิต (และพระเจ้า) ผู้ซึ่งได้สร้างมันขึ้นมาและหลังจากนั้น ทรงดลให้เขารู้ถึงความดีและความชั่วทั้งหลาย แน่นอน คนที่ประสบความสำเร็จ คือ คนที่ขัดเขลาจิตใจ และผู้ที่ขาดทุน คือ ผู้ที่สั่งสมความชั่ว" (อัล-กุรอาน บท อัชชัมช โองการที่ 10) ท่านอิมามซอดิก (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) ได้กล่าวอธิบายโองการข้างต้นว่า "แท้จริงอัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) ทรงตรัสอย่างชัดเจนแก่มนุษย์ทั้งปวงว่า : พวกท่านจงปฏิบัติการงานที่ดี และละเว้นการงานที่ไม่ดี 2. การศึกษาหาความรู้ คุณสมบัติประการหนึ่งที่เป็นที่ยอมรับของคนโดยทั่วไป คือ ความรู้ ซึ่งความประเสริฐของความรู้มีอยู่เหนือความโง่เขลาทั้งหลาย อาจกล่าวได้ว่า อิสลามเป็นศาสนาเดียวที่ให้การสนับสนุนการแสวงหาความรู้มากกว่าศาสนาอื่น และมากกว่าทุก ๆ การปกครองทั้งในระบบเก่าและระบบใหม่ อิสลามถือว่าการแสวงหาความรู้นั้นเป็นรากฐานอันสำคัญของสังคมที่มีอารยธรรมที่ดีงาม และเรียกสังคมที่มีการศึกษาว่าเป็นสังคมที่มีชีวิต ในทางกลับกัน เรียกสังคมที่ปราศจากการศึกษาและมีความล้าหลังว่าเป็นสังคมที่ตายแล้ว และเป็นสังคมของอนารยชน ด้วยเหตุนี้ อิสลามจึงได้กำหนดว่า การแสวงหาความรู้เป็นข้อบังคับ (วาญิบ) ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย และเกี่ยวกับเรื่องการแสวงหาความรู้นี้ ท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) และอิมามท่านอื่น ๆ ได้มีคำสั่งกำชับไว้อย่างมากมาย เช่น ท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) ได้กล่าวว่า "การแสวงหาความรู้เป็นวาญิบ (ข้อบังคับ) สำหรับมุสลิมทุกคน" ซึ่งความรู้ในความหมายของท่านศาสดาตามที่กล่าวมานั้น หมายถึง ความรู้ของทุกแขนง มิได้เฉพาะเจาะจงเฉพาะศาสตร์แขนงใดแขนงหนึ่ง หรือเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น และในการแสวงหาความรู้ไม่มีข้อยกเว้นไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) ได้กล่าวอีกว่า "การแสวงหาความรู้เป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคน แน่แท้ อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) ทรงรักผู้แสวงหาความรู้" ท่านอิมามอะลี (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) ผู้นำของบรรดาผู้ศรัทธา กล่าวว่า "โอ้ประชากรทั้งหลาย พึงรู้ไว้เถิดว่าวุฒิภาวะของศาสนานั้นตั้งอยู่บนการแสวงหาความรู้และนำไปสู่การปฏิบัติ แท้จริงการแสวงหาความรู้เป็นข้อบังคับสำหรับท่านมากกว่าความพยายามในการแสวงหาเครื่องยังชีพ สำหรับเครื่องยังชีพของท่านได้ถูกจัดสรรและค้ำประกันโดยองค์แห่งความยุติธรรม และจะถูกนำมาให้แก่ท่านอย่างแน่นอน ความรู้ถูกเก็บรักษาไว้กับเจ้าของมันและท่านถูกบัญชาให้แสวงหามันจากพวกเขา" ท่านอิมามอะลี (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) กล่าวอีกว่า "หลายคนอ้างถึงความรู้ แต่น้อยคนนักที่จะจำใส่ใจ ของขวัญที่สมบูรณ์ที่สุดของพระเจ้าคือ ให้ชีวิตที่ตั้งอยู่บนความรู้" "มีคนโง่จำนวนมากมายที่ทำให้ผู้รู้เกิดความกลัวอย่างมาก" "ผู้รู้ย่อมเข้าใจในความเขลา เพราะครั้งหนึ่งเขาเคยมีความเขลามาก่อน" "ผู้มีความเขลาย่อมไม่เข้าใจในผู้รู้ เพราะเขามิได้เคยเรียนรู้ด้วยตนเอง" "ผู้รู้ย่อมมีชีวิตอยู่ท่ามกลางมวลชนที่โง่เขลา" "ความรู้ให้ชีวิตแก่วิญญาณ" "ความรู้ (ในพระเจ้า) เพียงเล็กน้อยย่อมทำลายความประพฤติ" "ไม่มีสิ่งใดสามารถทำให้ชีวิตบริสุทธิ์ได้ เว้นแต่แสงสว่างที่แท้จริง" "การให้ความเคารพต่อผู้รู้ คือการเคารพพระผู้เป็นเจ้า" "ความรู้ย่อมก่อกำเนิดความยำเกรงต่อพระผู้เป็นเจ้า" "การฝึกฝนตนในการปฏิบัติ ทำให้ความรู้เกิดความสมบูรณ์" ท่านอิมาม ญะอฟัร อัซซอดิก (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) ได้กล่าวถึงเรื่องการแสวงหาความรู้ไว้ว่า "เป็นหน้าที่ของท่านต่อการเข้าใจเป็นอย่างดีในศาสนาของอัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) ดังนั้น จงอย่าเป็นเยี่ยงบุคคลที่ระหกระเหินกลางทะเลทราย ในวันแห่งการตัดสิน อัลลอฮ จะไม่เหลียวแลพวกเขา ผู้ซึ่งมิได้ทำความเข้าใจต่อศาสนาของพระองค์ และจะไม่ทรงเพิ่มน้ำหนักใด ๆ เลยต่อการกระทำของพวกเขา" "บรรดานักปราชญ์ คือ ทายาทของบรรดาศาสดา สำหรับท่านศาสดามิได้ทิ้งไว้ซึ่งความมั่งมีทางทรัพย์สมบัติ แต่ทว่าท่านได้ละทิ้งไว้ซึ่งจารีตประเพณี และผู้ใดก็ตามรับมันไว้เขาจะเป็นผู้มั่งมี แต่พึงระวังไว้ว่า ท่านได้รับมันจากใคร แท้จริงในทุก ๆ ยุคสมัยย่อมมีผู้ยุติธรรมคนหนึ่งจากพวกเรา ครอบครัวของท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) จะเป็นผู้คุ้มครองศาสนาให้พ้นจากความบิดเบือนที่บ้าคลั่ง นักโกหกที่ชอบขโมยความคิดของผู้อื่น และนักตีความไร้สาระ" "บุคคลที่แสวงหาความรู้แล้วนำไปปฏิบัติและสั่งสอนคนอื่น ๆ เพื่อพระผู้เป็นเจ้า พระองค์จะยกเขาขึ้นสู่สถานภาพที่ศักดิ์สิทธิ์และกล่าวว่า : เจ้าเรียนเพื่ออัลลอฮ ปฏิบัติเพื่ออัลลอฮและอบรมสั่งสอนผู้อื่นเพื่อพระองค์" ผู้รู้คือผู้ปฏิบัติเพื่อส่งเสริมคำพูดของเขา" "การสนทนากับนักปราชญ์บนกองขยะ ย่อมดีกว่าการสนทนากับคนเขลาบนพรมชั้นดี" "จงระวังสองสิ่งที่ทำลายมนุษย์ การใช้ทัศนะทางคดีความในเรื่องที่เป็นความนึกเอาเดาว่า และผูกติดอยู่กับบางสิ่งด้วยความเชื่อ (ในศาสนา) โดยปราศจากความรู้" "ความตายของบุคคลผู้ไร้ศรัทธา มิได้ทำให้ซาตานมารร้ายยินดีเหมือนกับนักปราชญ์คนหนึ่ง" ฉะนั้น การแสวงหาความรู้จึงเป็นสุดยอดของการขวนขวายและพากเพียรทั้งหลาย อิสลามถือว่าเป็นภาระของทุกคน โดยไม่ได้กำหนดว่าเป็นหญิงหรือชาย ซึ่งในความเป็นจริงแล้วการแสวงหาความรู้ก็คือ มาตรการของสังคมนั่นเอง ขณะเดียวกัน อิสลามไม่ได้กำหนดเวลาสิ้นสุดของการแสวงหาความรู้เอาไว้ ดังคำกล่าวของท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน)ที่ว่า "จงศึกษาตั้งแต่ในเปลนอนจนถึงหลุมฝังศพ" ทุก ๆ ข้อบังคับในศาสนาจะมีเวลาที่เฉพาะ ซึ่งผู้ที่จะปฏิบัติมีเงื่อนไขอยู่ว่า ต้องบรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ ถ้ามิเช่นนั้นถือว่าไม่เป็นข้อบังคับใด ๆ สำหรับเขา และในบางครั้งกฎและเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เป็นข้อบังคับก็ถูกยกเว้นสำหรับเด็ก คนชราและผู้ที่ไร้ความสามารถ แต่สำหรับการแสวงหาความรู้ไม่มีเงื่อนไขใด ๆ ทั้งสิ้น ซึ่งให้เริ่มศึกษาตั้งแต่คลอดออกจากครรภ์ของมารดาเป็นต้นไปจนถึงวันตาย กล่าวคือ การศึกษาหาความรู้เป็นข้อบังคับตลอดอายุไขของตน และทุก ๆ วันต้องมีความรู้ใหม่เพิ่มขึ้นมา ท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) ยังได้กำชับอีกว่า "จงแสวงหาความรู้ไม่ว่ามันจะอยู่ไกลถึงเมืองจีนก็ตาม" อิสลามได้แนะนำให้ทำการเรียนรู้ถึงความเร้นลับของการสร้างท้องฟ้า แผ่นดิน ธรรมชาติของมนุษย์ ประวัติศาสตร์ของบรรพชนในอดีต (ปรัชญา วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และธรรมชาติวิทยา) และทำการใคร่ครวญให้มาก ขณะเดียวกันต้องเรียนรู้และจดจำจริยธรรมและกฎมายของอิสลาม ควบคู่ไปกับการเรียนรู้ถึงวิธีการหาปัจจัยเพื่อการดำรงชีพ จะเห็นได้ว่าท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรท่านและครอบครัวของท่าน) ได้ให้ความสำคัญต่อการศึกษาหาความรู้อย่างมากซึ่งในครั้งหนึ่งในสงครามบะดัร บรรดาทหารมุสลิมได้จับพวกปฏิเสธเป็นเชลย ต่อมาท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) ได้สั่งว่า ถ้าพวกศัตรูได้นำเงินมาไถ่ตัวเชลยก็จงรับและปล่อยตัวเขาไป ยกเว้นเชลยที่อ่านออกเขียนได้ ไม่ต้องเสียค่าไถ่ตัว แต่มีเงื่อนไขว่าเชลยหนึ่งคนต้องสอนหนังสือให้กับมุสลิม 10 คน การจัดการเรียนการสอนในรูปแบบของชั้นเรียนครั้งนั้น ถือเป็นครั้งแรกของโลกที่ได้เกิดขึ้นตามคำสั่งของท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) และถือเป็นเกียรติยศอันยิ่งใหญ่สำหรับมุสลิม แต่ที่น่าสนใจไปกว่านั้นก็คือ ถือเป็นครั้งแรกและอาจเป็นครั้งสุดท้ายในโลกที่มีการไถ่ตัวเชลยสงคราม ด้วยการเรียนการสอน ซึ่งก่อนหน้าท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) และหลังจากนั้น ไม่ได้มีการทำเช่นนั้นอีกเลย นักประวัติศาสตร์ท่านหนึ่งบันทึกไว้ว่า มีสตรีคนหนึ่งนามว่า "อัช-ชะฟาอ" ซึ่งได้ทำการเรียนรู้หนังสือก่อนยุคสมัยของอิสลาม และเธอเป็นผู้มาสอนหนังสือให้แก่ภรรยาของท่านศาสดา ณ ที่บ้านของท่าน