จริยศาสตร์อิสลาม

3. การให้ความสำคัญต่อการศึกษาในทัศนะอิสลาม การให้ความสำคัญและการเพียรพยายามเพื่อให้ไปถึงยังเป้าหมายทุก ๆ เป้าหมาย มีความพอดีตัว แต่การให้ความสำคัญกับการศึกษาถือว่าสูงส่งและเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาล อิสลาม เป็นศาสนาที่วางอยู่บนธรรมชาติของมนุษย์ ถือว่าการศึกษาเป็นสิ่งมีค่าที่สุด ท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) กล่าวว่า "ผู้ที่กำลังศึกษาหาความรู้ ถือว่าเป็นที่รักยิ่งของอัลลอฮ" การทำสงครามศาสนาถือว่าเป็นหนึ่งในหลักการอิสลาม หากท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) และอิมาม (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) ได้ออกคำสั่งเมื่อใดถือเป็นหน้าที่ของมุสลิมทุกคนต้องออกไปสงครามทันที ยกเว้นบุคคลที่กำลังทำการศึกษาหาความรู้ ดังนั้น จะเห็นได้ว่าอิสลามให้ความสำคัญต่อการศึกษาอย่างมาก จึงเป็นหน้าที่ของทุกคนในสังคมที่ต้องให้การสนับสนุนและส่งเสริมให้เยาวชนของตนได้รับการศึกษาสูง อัล-กุรอาน กล่าวว่า "บรรดาผู้ศรัทธาทั้งหลายไม่ควรออกไปทำสงครามพร้อมกันทั้งหมด แต่ควรให้แต่ละกลุ่มส่งคนของตนออกไป เพื่อศึกษาข้อเท็จจริงของศาสนา และเมื่อพวกเขาได้กลับมายังกลุ่มพวกพ้องของตนจะได้สั่งสอนชี้แจงอิสลามแก่พวกของตน โดยหวังว่าพวกเขาจะได้สังวรตน" (อัล-กุรอาน บท อัต-เตาบะฮ โองการที่ 122) 4. การให้ความสำคัญต่อครู ครูถือว่าเป็นศูนย์รวมของความรู้ ที่ได้สั่งสมวิชาการและความรู้จากรัศมีอันมีความประเสริฐ เพื่อขจัดความโง่เขลาชนิดขุดรากถอนโคนให้สิ้นไปจากสังคม ครูเป็นผู้ประสิทธิ์ประสาทวิชาการและแสงสว่างแก่ผู้ที่โง่เขลาให้เป็นผู้มีความรู้ และเฉลียวฉลาด ครูเป็นผู้จุดประกายความรู้ให้สว่างขึ้นเพื่อเป็นประทีปส่องนำทางไปสู่ความสำเร็จ จากความสำคัญนี้เอง อิสลามจึงกล่าวว่าเป็นข้อบังคับ(วาญิบ) ต้องให้ความเคารพและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของครูบาอาจารย์ และถือว่าครู คือ บุคคลที่บริสุทธิ์และศักดิ์สิทธิ์ที่สุดในสังคม ท่านอิมามอะลี (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) ได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า "ใครก็ตามที่ได้สั่งสอนฉัน เท่ากับได้ทำให้ฉันกลายเป็นทาสของเขา" ท่านอิมามอะลี (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) ได้กล่าวอีกว่า "ประชาชนแบ่งออกเป็นสามกลุ่ม คือ หนึ่ง ผู้รู้นักปราชญ์ สอง กลุ่มชนที่ได้ทำการศึกษาเพื่อช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นให้รอดปลอดภัย สาม กลุ่มชนที่หลีกเลี่ยงความรู้ ซึ่งพวกเขาไม่ต่างอะไรไปจากตัวเหลือบหรือแมลงวันที่คอยไต่ตอมอยู่ตามหน้าตาของสัตว์และสิ่งปฏิกูลทั้งหลาย เมื่อลมพัดโชยมาก็จะถลาไปตามลม หรือเมื่อได้กลิ่นเหม็นโชยมาจากทิศใดก็จะบินไปสู่ทิศนั้น ทำตัวเป็นพวกไม้หลักปักขี้เลน" 5. การให้เกียรติผู้รู้และนักปราชญ์ อัล-กุรอานได้กล่าวถึงตำแหน่งของผู้รู้และนักปราชญ์ผู้ทรงเกียรติไว้ดังนี้ว่า "อัลลอฮทรงยกย่องบรรดาผู้ศรัทธาในหมู่สูเจ้า และบรรดาผู้ที่ได้รับความรู้ไว้ในหลายฐานันดรด้วยกัน (อัล-กุรอาน บท อัล มุญาดะละฮ โองการที่ 11) ฐานันดรและเกียรติยศที่สูงส่งของผู้รู้และนักปราชญ์ ในทัศนะของผู้นำอิสลาม ท่านได้กล่าวว่า : อัล-กุรอาน กล่าวว่า "บรรดาผู้รู้กับผู้ไม่รู้จะเท่าเทียมกันหรือ แท้จริงผู้ที่มีวิจารณญาณเท่านั้นที่จะสำนึก" (อัล-กุรอาน บท อัชซุมัร โองการที่ 10) ประเด็นสำคัญจากโองการ คือ ความรู้ในทัศนะของอัล-กุรอาน ไม่ได้หมายถึงความรู้เกี่ยวกับศาสนาเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงความรู้ของศาสตร์ทุกแขนง อันทำให้มนุษย์เกิดความสว่างไสว และสามารถช่วยเหลือมนุษย์ในภารกิจต่าง ๆ ทั้งโลกนี้และโลกหน้าได้ ตำแหน่งของผู้รู้และนักปราชญ์ สูงส่งกว่าตำแหน่งของผู้บำเพ็ญศีลแต่เพียงอย่างเดียว ดังที่ท่านอิมามมุฮัมมัดบากิร (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) กล่าวว่า "ผู้รู้ที่ใช้ประโยชน์จากความรู้ของตน ประเสริฐกว่าผู้บำเพ็ญศีลถึง 70,000 คน" มาตรฐานของบรรดาอิมาม (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) ที่ใช้วัดบุคลิกภาพและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ คือความรู้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์ ท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) กล่าวว่า "ผู้ที่มีความรู้ที่สุดในหมู่ของประชาชน คือ ผู้ที่นำเอาประโยชน์จากความรู้ของผู้อื่นมาเสริมความรู้ของตน เพราะคุณค่าของความเป็นมนุษย์ คือ ความรู้ ดังนั้น ผู้ใดมีความรู้มากคุณค่าของเขาย่อมมากตามไปด้วย  ในทางกลับกัน ใครก็ตามมีความรู้น้อย คุณค่าของเขาก็ลดน้อยตามไปลำดับเช่นกัน" 6. หน้าที่ของครูและศิษย์ อัล-กุรอาน ยกย่องความรู้ว่าเป็นธาตุที่แท้จริงแห่งชีวิต เพราะถ้าไม่มีความรู้ มนุษย์กับสรรพสัตว์และสิ่งอื่น ๆ ก็จะไม่แตกต่างกัน ด้วยเหตุนี้ นักเรียนจะต้องสำนึกตลอดเวลาว่า ผู้เป็นครู คือ ศูนย์กลางแห่งชีวิตของตน เพราะอนาคตที่แท้จริงได้เจริญงอกงามมาจากน้ำมือของผู้เป็นครู ครูจึงเป็นเสมือนชีวิตที่สองของนักเรียน ซึ่งพวกเขามีหน้าที่ให้ความเคารพยกย่องเชิดชูเกียรติยศ และยอมรับคำแนะนำสั่งสอนของครู แม้ว่าในบางครั้งจะแฝงไว้ด้วยความร้ายกาจก็ตาม นักเรียนต้องไม่แสดงความแข็งกระด้างก้าวร้าว ดูถูกเหยียดหยาม หรือทำลายคุณค่าของความเป็นครูทั้งต่อหน้าและลับหลัง หรือแม้ว่าครูจะล่วงลับไปแล้วก็ตาม ในทำนองเดียวกัน ครูก็ต้องสำนึกเหมือนกันว่า เขาคือผู้รับผิดชอบชะตากรรมและอนาคตของนักเรียน ตราบใดก็ตามที่ครูยังไม่สามารถสอนให้นักเรียนคนหนึ่งยืนอยู่บนเท้าทั้งสองข้างแห่งความเป็นมนุษย์ได้ เขาจะต้องไม่แสดงความเหน็ดเหนื่อย หรือท้อถอยเด็ดขาด แม้ว่าในบางครั้งนักเรียนจะยอมรับคำอบรมสั่งสอนของครูไม่ได้ก็ตาม ครูจะต้องไม่กำลังใจ ถ้าหากมีความก้าวหน้าและประสบความสำเร็จในการสั่งสอน ก็จงอย่างแสดงความดีใจอย่างออกหน้าออกตา และครูต้องระมัดระวังตลอดเวลา อย่าให้คำพูดหรือกริยาท่าทางของตนเป็นเหตุทำให้นักเรียนต้องเสียใจ ท้อถอยหรือหมดกำลังใจต่อการศึกษา 7. หน้าที่ของบุตรที่มีต่อบิดามารดา บิดามารดา คือบุพการีและอยู่ในฐานะของครูคนแรกที่ให้การอบรมสั่งสอนกริยามารยาทแก่บุตร บิดามารดาจึงมีบุญคุณอย่างล้นเหลือแก่บุตรและธิดาของตน อันเป็นบุญคุณที่มิอาจทดแทนได้ตราบชั่วชีวิตจะหาไม่ ด้วยเหตุนี้ อิสลามจึงได้กำชับไว้อย่างหนักแน่นว่า บุตรทุกคนมีหน้าที่ให้เกียรติ แสดงความเคารพยกย่อง และปฏิบัติตามคำสั่งสอนของบิดามารดาอย่างเคร่งครัด ถึงขนาดที่อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) ได้กล่าวถึงการให้เกียรติต่อบิดามารดา หลังจากการกล่าวถึงการเคารพภักดีพระองค์ทันที นั่นแสดงให้เห็นว่า บิดามารดาอยู่ในตำแหน่งที่สูงส่งอันแท้จริง อัล-กุรอาน กล่าวว่า “พระผู้อภิบาลของเจ้าได้มีบัญชาว่า เจ้าจงอย่าเคารพภักดีต่อสิ่งอื่นใดนอกเหนือจาก อัลลอฮ และจงทำดีกับบิดามารดาทั้งสอง” (อัล-กุรอาน บท บนีอิสรออีล โองการที่ 23) มีรายงานจำนวนมากมายที่กล่าวถึงบาปใหญ่หลังจากการตั้งภาคีกับอัลลอฮ คือ การประพฤติที่ไม่ดีกับบิดามารดา อัล-กุรอานได้กล่าวว่า “และถ้าหากคนหนึ่งจากทั้งสองหรือทั้งสองท่าน ได้ถึงวัยชราภาพเจ้าก็จงอย่ากล่าวแก่ทั้งสองด้วยคำพูดที่ไม่ดี “อุฟ” เจ้าจงอย่าขู่ตะคอกแก่ทั้งสอง จงพูดกับทั้งสองท่านด้วยคำพูดที่อ่อนโยน นอบน้อมและอ่อนหวาน” (อัล-กุรอาน บท บนีอิสรออีล โองการที่ 23) 8. สิทธิของบิดามารดา ฐานันดรของบิดามารดาที่มีต่อบุตรเปรียบเสมือนรากแก้วที่ทำหน้าที่ยึดลำต้นมิให้ล้มทลาย และเป็นที่มาของกิ่งก้านและดอกใบ บิดามารดา คือ ผู้สร้างฐานอันมั่นคงให้แก่บุตร เป็นร่มโพธิ์ร่มไทรที่แท้จริงให้กับครอบครัวและเป็นเสาหลักที่สำคัญของสังคม ความประพฤติไม่ดี การแสดงมารยาทที่ต่ำทราม หรือการกลั่นแกล้งท่านทั้งสอง ถือเป็นความอกตัญญูที่ไม่รู้จักบุญคุณของคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบุญคุณของบิดามารดาที่ไม่มีวันตอบแทนได้หมดสิ้น การแสดงกริยาไม่ดีกับบิดามารดา ประหนึ่งได้สลัดความเป็นมนุษย์ออกไปจากตนจนหมดสิ้น เป็นการทำลายคุณค่าของความเป็นคนและสังคมให้พินาศย่อยยับ บรรดาเยาวชนจะเป็นทรัพยากรที่ดีได้อย่างไรเมื่อพวกเขาประพฤติไม่ดีกับบิดามารดา ปรกติแล้วไม่มีบิดามารดาท่านใดที่ไม่ปรารถนาดีกับบุตรของตน ท่านทั้งสองปรารถนาที่จะเห็นบุตรและธิดาของตนมีความก้าวหน้า มีการพัฒนา เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพ และมีอนาคตที่สูงส่งและก้าวไกล โดยธรรมชาติของผู้เป็นบิดามารดา สามารถอดทนต่อความประพฤติที่ไม่ดีของบุตร มีความเจ็บปวดและมีความเป็นห่วงใยพวกเขาตลอดเวลา แม้ว่าพวกเขาจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ไปแล้วก็ตาม จะเห็นได้ว่าไม่มีพลังแห่งความรักใดที่จะยิ่งใหญ่เกินไปกว่าพลังความรักของบิดามารดาที่มีต่อบุตร สิทธิของท่านทั้งสองที่มีต่อบุตรจึงมากมาย แม้ว่าท่านทั้งสองจะจากไปแล้วก็ตาม 9. สิทธิของบุตรที่มีต่อบิดามารดา มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเป็นของตนเองมากน้อยเป็นไปตามลำดับ ซึ่งสิทธิของแต่ละคนอยู่ภายใต้กรอบและเงื่อนไขที่กำหนดเอาไว้ มนุษย์ถูกสร้างขึ้นมาให้มีชีวิตอยู่บนโลกนี้ชั่วคราว หลังจากนั้นเขาต้องจากไป ด้วยเหตุนี้ พระผู้เป็นเจ้าจึงได้จัดวางระบบการเจริญพันธุ์ และระบบสืบวงศ์ตระกูลเอาไว้ในหมู่ประชาชาติ เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มนุษย์สูญพันธ์ ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างระบบความสัมพันธ์อันดีงามในสังคมจากบรรพชนมาสู่ลูกหลาน โดยธรรมชาติของมนุษย์แล้วย่อมมีความรู้สึกอยู่เสมอว่า บุตรและธิดาคือส่วนหนึ่งของเขา การคงอยู่ของบุตร คือ การคงอยู่ในฐานะตัวแทนของเขา มนุษย์จึงได้เพียรพยายามทุกอย่างเพื่อสร้างอนาคตและฐานะภาพอันมั่นคงทั้งทางโลกและทางธรรมเพื่อบุตรของตน เพราะเขารู้ดีว่าชื่อเสียงและเกียรติยศของตนจะสูญสิ้นไปก็ต่อเมื่อบุตรและธิดาได้สร้างความเสื่อมเสียภายหลังจากนั้น ในขณะที่ผู้เป็นบิดามารดาไม่ต้องการให้เป็นเช่นนั้น ท่านทั้งสองปรารถนาให้ชื่อเสียงและวงศ์ตระกูลดำรงสืบต่อไป ฉะนั้น สาเหตุสำคัญทีจะทำให้ความหวังเป็นจริง จึงขึ้นอยู่กับการอบรมสั่งสอนของบิดามารดาที่มีต่อบุตรซึ่งถือเป็นภาระหน้าที่สำคัญ ขณะเดียวกันก็เป็นสิทธิของบุตรที่พึงจะได้รับสิ่งเหล่านี้จากบิดามารดา เช่น 1. บิดามารดาต้องเป็นแบบอย่างที่ดีในเรื่องของกริยามารยาท และความประพฤติ สิ่งนี้ต้องถูกแสดงออกมาด้วยความจริงใจ มิใช่ภาพลวงตา เพื่อจะได้มั่นใจได้ว่าตนไม่ได้สร้างแนวทางที่เฉไฉให้กับบุตร  บิดามารดาต้องออกห่างจากการกระทำที่ไม่ดีอย่างสิ้นเชิง ไม่ว่าจะเป็นการพูดโกหก ด่าทอ พูดจายาบคาย นินทา และว่าร้ายผู้อื่น บิดามารดาต้องสรรสร้างแต่สิ่งที่ดีงามต่อหน้าบุตร เพื่อจะได้ให้เขาจดจำและลอกเลียนแบบ เช่น มีความตั้งใจและจริงจังต่อการงาน มีความอดทนอดกลั้น มีความยุติธรรม มีความเมตตาปรานี และรู้จักโอบอ้อมอารีต่อผู้อื่น บิดามารดาต้องออกห่างจากสิ่งที่ไร้สาระ มารยาทที่ต่ำทรามและความเห็นแก่ตัว 2. บิดามารดาต้องดูแลรักษาความสะอาดด้านสุขภาพพลานามัยของบุตรตลอดเวลา เพื่อจะได้มีสุขภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง สติปัญญาที่เฉลียวฉลาดพร้อมที่จะทำการศึกษาหาความรู้ต่อไป และต้องจัดหาปัจจัยยังชีพที่พอเพียงแก่พวกเขา 3. เมื่อบุตรเข้าสู่วัยที่ต้องเรียนรู้อย่างโดยปกติเริ่มตั้งแต่ 7 ขวบ เป็นต้นไปผู้ปกครองต้องส่งบุตรเข้าโรงเรียน และฝากฝังแก่ครูที่ดีมีคุณภาพ เพราะคำพูดและการสอนของครูมีผลกับเด็กอย่างมาก ถ้าเป็นคำพูดที่ดี คำพูดเหล่านั้นก็จะฝังอยู่ในจิตใจของเด็กตลอดไป และเป็นบรรทัดฐานสำหรับเด็กที่จะจดจำไปปฏิบัติเพื่อขัดเกลากริยามารยาทของเขาในวันข้างหน้า เพราะวัยนี้คือวัยของการจดจำ ถ้าเขาจดจำสิ่งที่ดีและอยู่กับคนดี เขาก็ย่อมเป็นคนดี แต่ถ้าไม่เช่นนั้นเขาก็ คือ มารร้ายของสังคมในอนาคต จึงเป็นหน้าที่ของบิดามารดาที่ต้องสอดส่องดูแลและเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด 4. เมื่อบุตรเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น ซึ่งต้องพบปะกับผู้คนมากขึ้นเป็นหน้าที่ของผู้ปกครอง ต้องพาพวกเขาไปสู่สังคมที่มีบรรยากาศของคุณธรรมความ คอยให้คำแนะนำและคำปรึกษาหารือ พร้อมกับปลูกฝังความคิดที่ดีแก่เขา สอนให้เขารู้จักการใช้เหตุผลและการจำแนกแยกแยะสิ่งใดควรและไม่ควร 5. เป็นหน้าที่ของบิดามารดาที่ต้องอบรมสั่งสอนศีลธรรมแก่บุตร ทั้งหลักความศรัทธา  หลักการปฏิบัติ  และสอนให้เขารู้จัก อ่าน อัล-กุรอาน 10. สิทธิระหว่างพี่น้อง อัล-กุรอานได้กำชับเกี่ยวกับเรื่องของครอบครัวและการเป็นพี่น้องกัน อัล-กุรอาน ปฏิเสธการตัดความสัมพันธ์ฉันพี่น้องออกจากกันและกัน และถือว่าญาติชั้นใกล้ชิดที่สุดหลังจากบิดามารดา คือ พี่น้องร่วมสายโลหิตเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างพี่น้องต้องมาก่อนและอยู่เหนือความสัมพันธ์อื่นใดทั้งสิ้น ถือเป็นหน้าที่ของพี่น้องที่ต้องเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างกันให้กระชับ และแนบแน่นตลอดไป ต้องให้ความช่วยเหลือจุนเจือแก่กันและกันตามความสามารถ ผู้เป็นพี่ต้องรู้จักเสียสละคอยค้ำจุนส่งเสริมและเป็นห่วงเป็นใยน้อง น้องต้องรู้จักตอบแทนบุญคุณ ไม่ก้าวร้าว และให้ความเคารพพี่ตลอดเวลา 11. การให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่ การให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่ถือเป็นหน้าที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) กล่าวว่า “การให้ความเคารพต่อผู้ใหญ่เสมือนเป็นการให้ความเคารพต่อพระผู้เป็นเจ้า” 12. หน้าที่ของตนต่อเพื่อนบ้าน เพื่อนบ้าน หมายถึง คนที่อาศัยอยู่ในบริเวณใกล้เคียงกันหรือยู่ในละแวกเดียวกัน มีบ้านพักอยู่ติดกันและไปมาหาสู่ถึงกันตลอดเวลาซึ่งเปรียบเสมือนเป็นครอบครัวใหญ่ครอบครัวหนึ่ง ฉะนั้น การแสดงไมตรีจิตและมารยาทที่ดีหรือไม่ดีต่อกัน ย่อมเกิดผลสะท้อนมากกว่าการกระทำของคนอื่น คนที่อยู่บ้านใกล้เรือนเคียง ในเวลากลางคืนต้องไม่ก่อเหตุวุ่นวายจนอึกทึกครึกโครม อันเป็นเหตุทำให้เพื่อนบ้านไม่สามารถหลับนอนหรือพักผ่อนตามสิทธิ์ของเขาได้ เพื่อนบ้านต้องถามสารทุกข์สุขดิบ แสดงความเป็นห่วงใยต่อเพื่อนบ้าน มิใช่ต่างคนต่างอยู่เหมือนคนไม่เคยรู้จักกัน หรือให้ความห่วงใยคนที่อยู่ห่างไกลกว่า ส่วนคนที่อยู่ใกล้ตัวกลับมีท่าทีเมินเฉยไม่แสดงความยินดีเมื่อเขาประสบโชคดี และไม่แสดงความเสียใจเมื่อเขาประสบโชคร้ายหรือสูญเสีย ท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) กล่าวว่า “ญิบรออีลได้แนะนำฉันเกี่ยวกับเพื่อนบ้านถึงขนาดที่ฉันคิดว่า อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) คงจะให้เพื่อบ้านเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิรับมรดก” ท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) กล่าวอีกว่า “ใครก็ตามที่ยอมรับว่า วันแห่งการฟื้นคืนชีพมีจริง เขาจะไม่กดขี่เพื่อบ้าน เมื่อเพื่อนบ้านเอื้อนเอ่ยขอยืมเขาก็จะให้ยืม เมื่อเพื่อนบ้านมีความสุขและทุกข์เขาก็จะสุขและทุกข์ตามไปด้วย แม้ว่าเพื่อนบ้านของเขาจะเป็นผู้ปฏิเสธเขาก็จะไม่กลั่นแกล้ง” ท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) กล่าวอีกว่า “ใครก็ตามที่กลั่นแกล้งเพื่อนบ้านเขาจะไม่ได้รับไออุ่นของสวรรค์ และใครที่ไม่ใส่ใจต่อสิทธิของเพื่อนบ้านเขาไม่ใช่พวกของเรา และใครที่อิ่มหนำสำราญโดยเพื่อนบ้านต้องทนหิวโหย ถือว่าเขาไม่ได้เป็นมุสลิม” 13. หน้าที่ของเรากับผู้อยู่ใต้การดูแลและผู้ด้อยโอกาส วัตถุประสงค์ของการสร้างสังคมเพื่อขจัดปัญหาความต้องการของสมาชิกภายในสังคม ซึ่งหน้าที่สำคัญยิ่งของสังคม คือ การให้ความช่วยเหลือดูแลแก่ผู้ด้อยโอกาสไร้ซึ่งความสามารถ ไม่อาจตอบสนองความต้องการให้กับตนเองได้ อิสลามกำชับตลอดเวลาว่า ผู้ที่มีความสามารถทางร่างกายและทรัพย์สิน ภายในหนึ่งปีจะต้องแบ่งปันรายได้ของตนบางส่วน เพื่อจุนเจือสังคมช่วยเหลือคนยากจนและผู้ด้อยโอกาสในรูปแบบของ ซะกาต (ทานบังคับ) หรือ ค่มซ์ หรือการบริจาคทานสมัครใจ แม้ว่าจะช่วยขจัดความต้องการของเขาไม่ได้ทั้งหมดก็ตาม แต่เป็นสิ่งดีที่ได้ช่วยต่ออนาคตให้กับเขา อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) ตรัสว่า สูเจ้าจะไม่บรรลุสู่คุณธรรม จนกว่าจะไดบริจาคบางสิ่งที่ตนรักออกไป” (อัล-กุรอาน บท อาลิอิมรอน โองการที่ 92) ท่านศาสดา (ขอพระเจ้าทรงประสาทพรแด่ท่านและครอบครัวของท่าน) กล่าวว่า “คนที่ดีที่สุด คือคนที่ให้ประโยชน์กับคนอื่นมากที่สุด” ท่านศาสดากล่าวอีกว่า “ในวันแห่งการฟื้นคืนชีพคนที่มีเกียรติและมีตำแหน่งสูงสุด ณ อัลลอฮ คือคนที่ทำดีและหวังดีต่อผู้อื่นเสมอ”