วิลายะตุลฟะกีฮฺ
วิลายะตุลฟะกีฮฺ
0 Vote
81 View
ด้วยพระนามแ่ห่งอัลลอฮฺ ผู้ทรงพระปรานี ผู้ทรงพระเมตตายิ่งเสมอ
วิลายะตุลฟะกีฮฺ ผมมีคำถามเกี่ยวกับวิลายะตุลฟะกีฮ์ ตัวผมเองยอมรับเหตุผลทางวิชาการของหลักวิลายะตุลฟะกีฮ์ทุกประการ แต่ยังข้องใจว่าทำไมจะต้องเป็นท่านเราะฮ์บัรด้วย? มีเหตุผลทางฟิกเกาะฮ์เกี่ยวกับเรื่องนี้หรือไม่? ในเมื่ออุละมาที่อาวุโสกว่ายังมีชีวิตอยู่ การที่ท่านขึ้นดำรงตำแหน่งวิลายะตุลฟะกีฮ์มีเหตุผลทางศาสนาข้อใดยืนยัน? สิ่งที่ตอกย้ำข้อข้องใจดังกล่าวคือฟัตวาของอายะตุลลอฮ์ อุซมา ฟาฎิล ลังกะรอนีเกี่ยวกับการเห็นเดือน ท่านวินิจฉัยว่า “หากมัรญะอ์ตักลีดท่านใดหุก่มชี้ขาดว่าเห็นเดือนแล้ว มัรญะอ์ท่านอื่นๆจำเป็นต้องถือตามหุก่มนั้นด้วย” เราจะเข้าใจคำพูดของท่านว่าอย่างไรดี? จะเข้าใจได้หรือไม่ว่า วิลายะตุลฟะกีฮ์มิได้จำกัดเฉพาะพณฯ อายะตุลลอฮ์ อุซมา คอเมเนอี เพียงท่านเดียว? ในทัศนะของชีอะฮ์, วิลายะฮ์ของฟะกีฮ์(ผู้เชี่ยวชาญศาสนา)ในยุคที่อิมามเร้นกายนั้น เป็นผลต่อเนื่องมาจากวิลายะฮ์ของบรรดาอิมามมะอ์ศูม(อ) กล่าวคือในยุคที่อิมามมะอ์ศูม(อ)ยังไม่ปรากฏกาย หน้าที่การปกครองดูแลประชาคมมุสลิมจะได้รับการสืบทอดสู่บรรดาฟะกีฮ์ ซึ่งฟุก่อฮา(พหูพจน์ฟะกีฮ์)ทุกท่านมีฐานะภาพเช่นเดียวกันนี้ ทว่าเมื่อหนึ่งในฟุก่อฮาสามารถจัดตั้งรัฐอิสลามสำเร็จ ฟะกีฮ์ท่านอื่นๆมีหน้าที่ต้องเชื่อฟัง และไม่อนุญาตให้แทรกแซงหรือขัดขวางหน้าที่ของวะลียุลฟะกีฮ์ อีกประเด็นที่ต้องทำความเข้าใจก็คือ จะต้องจำแนกระหว่างคุณสมบัติ“อะอ์ละมียะฮ์”(ความเชี่ยวชาญสูงสุด)ในกรณีของวิลายะตุลฟะกีฮ์ กับอะอ์ละมียะฮ์ในกรณีของมัรญะอ์ตักลีด กล่าวคือ ความ เชี่ยวชาญสูงสุดในกรณีวิลายะตุลฟะกีฮ์หมายถึงผู้ที่สามารถวินิจฉัยปัญหา ศาสนาและมีความเชี่ยวชาญสูงสุดเกี่ยวกับปัญหาต่างๆในระดับประเทศและระดับโลก และรู้เท่าทันกลลวงศัตรูอิสลาม ทำให้สามารถตัดสินใจอย่างรอบคอบและทันท่วงที และด้วยคุณสมบัติเหล่านี้ ท่านอายะตุลลอฮ์ อุซมา คอเมเนอี จึงได้รับการไว้วางใจจากสภาผู้ชำนัญการศาสนาในฐานะผู้ที่เหมาะสมที่สุดที่จะสามารถนำพานาวารัฐอิสลามสู่เป้าหมายได้ “วิลายะฮ์”มีรากศัพท์จากคำว่า“วัลยุน”ซึ่งนักภาษาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงต่างเห็นพ้องกันว่าสื่อถึง“ความชิดใกล้”[1]เพียงความหมายเดียว. ส่วนคำว่า“วะลี”ในภาษาอรับมีสามความหมาย: มิตร, ผู้มีความรัก, ผู้ช่วยเหลือ. แต่คำว่า“วิลายะฮ์”นอกจากจะมีสามความหมายดังกล่าว[2] ยังมีอีกสองความหมาย นั่นคือ: การมีอำนาจควบคุม, การปกครอง.[3] ตามทัศนะของชีอะฮ์ หลักวิลายะตุลฟะกีฮ์สืบทอดมาจากวิลายะฮ์ของบรรดาอิมามมะอ์ศูม(อ) ดังที่วิลายะฮ์ของบรรดาอิมามก็สืบทอดมาจากวิลายะฮ์ของท่านร่อซูล(ซ.ล.) ภาวะดังกล่าวทำให้เกิดหลักความคิดที่ว่า จะต้องมีผู้เชี่ยวชาญอิสลามอยู่บนยอดปิระมิดประชาคมมุสลิมเพื่อบริหารเชิงมหภาคเสมอ ซึ่งหากอิมามมะอ์ศูมสามารถทำหน้าที่นี้ได้ก็เป็นหน้าที่ของท่านเหล่านั้น แต่หากมีข้อจำกัดสำหรับอิมามมะอ์ศูม บรรดาฟะกีฮ์ก็จะปฏิบัติหน้าที่ดังกล่าวแทน ทั้งนี้เนื่องจากจุดประสงค์ของการปกครองรัฐในทัศนะอิสลามคือการแผ่ขจายคุณค่าและบทบัญญัติศาสนาให้ครอบคลุมสังคม และเพื่อบรรลุจุดประสงค์ดังกล่าว หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่สถานะการตัดสินใจสูงสุดในสังคมควรขึ้นตรงต่อผู้เชี่ยวชาญศาสนา[4] แน่นอนว่าผู้เชี่ยวชาญคนนี้จะต้องรู้ทันเหตุการณ์ในประเทศและต่างประเทศและมีศักยภาพในการบริหารสังคมให้สงบเรียบร้อยด้วย[5] เชคศ่อดู้กรายงานจากอิสฮ้าก บิน ยะกู้บว่า: ฉันได้ขอให้มุฮัมมัด บิน อุษมาน อัมรี(ผู้แทนท่านที่สองของอิมามมะฮ์ดีในยุคเร้นกายช่วงแรก)ช่วยนำสอบถามปัญหาหนึ่งจากอิมามมะฮ์ดี ท่านอิมามได้เขียนตอบฉันมาว่า"...و اما الحوادث الواقعة فارجعوا فیها الی رواة حدیثنا، فانهم حجتی علیکم و انا حجة الله علیکم..." [6]
“...ส่วนเหตุจำเป็นต่างๆที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ให้สอบถามเหล่านักรายงานฮะดีษของเรา ทั้งนี้ พวกเขาคือข้อพิสูจน์ของฉันสำหรับพวกท่าน และฉันเป็นข้อพิสูจน์ของอัลลอฮ์สำหรับพวกท่าน...” [7] ท่านมุฮักกิ้ก กะเราะกีย์ กล่าวว่า: “ชีอะฮ์ล้วนเห็นพ้องต้องกันว่า ผู้เชี่ยวชาญศาสนาที่เที่ยงธรรม,ซื่อสัตย์และมีคุณสมบัติครบถ้วนซึ่งรู้จักในนาม“มุจตะฮิด”ผู้วินิจฉัยปัญหาชะรีอะฮ์นั้น เป็นตัวแทนของบรรดาอิมามในยุคเร้นกายให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ทุกประการที่ตัวแทนทั่วไปจะกระทำได้”[8] ส่วนคำตอบสำหรับข้อซักถามส่วนที่สองและสามนั้น จำเป็นต้องทำความเข้าใจเบื้องต้นดังนี้: ตำแหน่ง“มัรญะอียัต”ในจารีตของชีอะฮ์ประกอบไปด้วยฐานะภาพผู้ออกคำฟัตวาและฐานะภาพแห่งวิลายะฮ์ ซึ่งจากอดีตเป็นต้นมา บรรดามัรญะอ์ต่างเคยชี้นำประชาชนให้ปฎิบัติตามบทบัญญัติศาสนาและดูแลปัญหาปลีกย่อยในสังคม รวมทั้งเคยตัดสินพิพากษาคดีความมาโดยตลอด[9]. ส่วนการจำแนกประเด็นระหว่างมัรญะอียัตกับสถาบันผู้นำสูงสุดนั้น ต้องทำความเข้าใจว่า สถานภาพของฟะกีฮ์ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุดเพื่อบริหารสังคมมุสลิมให้สอดคล้องกับหลักการอิสลาม แตกต่างจากฟะกีฮ์ในฐานะ“มัรญะอียัต”ในลักษณะผู้ออกคำฟัตวา ทั้งนี้ก็เนื่องจากมิติความเป็นมัรญะอียัตของฟะกีฮ์นั้น อาศัยเพียงความเชี่ยวชาญด้านฟิกเกาะฮ์เพื่อวินิจฉัยปัญหาศาสนาเป็นหลัก ในขณะที่มิติความเป็นผู้นำสูงสุดของฟะกีฮ์นอกจากจะมีคุณสมบัติดังกล่าวแล้ว ยังต้องมีภาวะผู้นำตามคุณค่าและหลักเกณฑ์อิสลามอีกด้วย. ฉะนั้นจึงเป็นไปได้ที่ฟะกีฮ์ท่านใดท่านหนึ่ง สามารถจะเป็นเลิศในด้านมัรญะอียัตเนื่องจากเชี่ยวชาญด้านฟิกเกาะฮ์มากกว่าอีกท่านหนึ่ง[10] แต่หากอีกท่านหนึ่งมีศักยภาพในการบริหารสังคมเหนือกว่า ย่อมเป็นผู้ที่เหมาะสมกว่าในด้านการเป็นผู้นำสูงสุด[11] อย่างไรก็ดี เกี่ยวกับสถาบันผู้นำสูงสุด มีสองแนวคิดที่นำเสนอภายในระบอบรัฐอิสลาม แนวคิดแรก: สถาบันผู้นำสูงสุดเป็นไปในรูปแบบของ“สภาฟะกีฮ์” แนวคิดนี้อาจกระทำได้ในกรณีที่ไม่สามารถคัดเลือกฟะกีฮ์ที่มีภาวะผู้นำครบถ้วนเพียงคนเดียว. แนวคิดที่สอง: หากพบว่าฟะกีฮ์ท่านใดท่านหนึ่งมีภาวะผู้นำครบถ้วนทุกประการ กล่าวคือ เพียบพร้อมทั้งด้านวิชาฟิกเกาะฮ์และคุณสมบัติที่ผู้นำพึงมีทุกประการ ในกรณีนี้จะใช้ระบบผู้นำคนเดียว. เนื่องจากการปกครองประชาคมมุสลิมเกี่ยวโยงกับความเป็นระเบียบเรียบร้อยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้ ยิ่งหากมีศูนย์กลางการตัดสินใจที่หลากหลายก็ย่อมจะทำให้สังคมประสบกับความระส่ำระส่าย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากข้อเท็จจริงที่ว่าประชาชนทุกคนรวมถึงฟะกีฮ์ท่านอื่นๆจะต้องเชื่อฟังผู้นำสูงสุด ทำให้แนวคิดที่ว่าผู้นำสูงสุดควรมีเพียงคนเดียวสอดคล้องกับความเป็นจริงมากที่สุด เนื่องจากอิสลามไม่แบ่งแยกประเทศและอาณาเขตมุสลิมออกจากกัน และดินแดนอิสลามถือเป็นอันหนึ่งอันเดียว.[12] อีกประเด็นที่ควรทำความเข้าใจเพิ่มเติมก็คือ ตำแหน่งผู้ปกครองรัฐซึ่งประกอบด้วยภารกิจหลักสองประการ นั่นก็คือการบริหารและการบังคับใช้บทบัญญัติในสังคมนั้น โดยรวมแล้วถือเป็นหน้าที่ของฟะกีฮ์ทุกท่าน แต่ถ้าหากว่าฟะกีฮ์ท่านใดสามารถสถาปนารัฐขึ้นมาได้ ฟะกีฮ์ท่านอื่นๆจำเป็นต้องเคารพการบริหารที่จัดตั้งขึ้นมาและไม่ควรจะเข้าขัดขวางแทรกแซงกิจการของวะลียุลฟะกีฮ์ ที่กล่าวเช่นนี้ก็เพราะว่าผู้ที่มีอธิปไตยสูงสุดตามทัศนะอิสลามก็คือ อัลลอฮ์ และบทบัญญัติที่พระองค์ทรงตราขึ้น โดยที่ท่านศาสดามุฮัมมัดเองเป็นเพียงผู้บังคับใช้บทบัญญัติของพระองค์เท่านั้น ดังที่กุรอานกล่าวว่า “لتحکم بین الناس بما اریک الله”[13] (...เพื่อตัดสินในหมู่ประชาชนตามที่อัลลอฮ์ทรงให้เจ้าได้ประจักษ์) มิไช่ตามที่ท่านนบีปรารถนา. ฉะนั้นในระบอบอิสลาม “วะลี”ของประชาคมมุสลิมมีเพียงหนึ่งเดียว ซึ่งก็คืออัลลอฮ์และศาสนาของพระองค์เท่านั้น ไม่มีผู้ใดสามารถถือวิสาสะเปลี่ยนแปลงศาสนาได้ ด้วยเหตุนี้ หากเราเห็นว่าฟะกีฮ์ผู้ทรงธรรมและรอบรู้เท่าทันโลกขึ้นดำรงตำแหน่งผู้บริหารรัฐ จริงๆแล้วนั่นมิไช่การบริหารโดยบุคคลที่เป็นฟะกีฮ์ แต่เป็นการบริหารโดยตำแหน่งฟะกีฮ์อันประกอบด้วยความเชี่ยวชาญทางนิติศาสตร์อิสลาม ความยุติธรรม และความสามารถในเชิงบริหาร.[14] ส่วนคำถามที่ว่า เหตุใดอายะตุลลอฮ คอเมเนอีจึงขึ้นดำรงตำแหน่งวะลียุลฟะกีฮ์ ทั้งๆที่มัรญะอ์ผู้อาวุโสมากมายยังมีชีวิตอยู่ ต้องทำความเข้าใจว่า “ความเชี่ยวชาญสูงสุด”ที่มีในคุณสมบัติของวะลียุลฟะกีฮ์มีความหมายแตกต่างจากกรณีมัรญะอียัต ท่านอิมามอลี(อ)กล่าวว่า:ایها الناس ان احق الناس بهذا الامر، أقواهم علیه و أعلمهم بامرالله فیه
“โอ้ชาวประชา แท้จริงผู้ที่เหมาะแก่การนี้(การปกครอง)มากที่สุด คือผู้ที่มีศักยภาพและรอบรู้บทบัญญัติของอัลลอฮ์เกี่ยวกับเรื่องนี้มากที่สุด”[15] ด้วยเหตุนี้“อะอ์ลัม”ในกรณีผู้ปกครองรัฐจึงมิไช่เพียงแค่รอบรู้ฟิกเกาะฮ์(นิติศาสตร์อิสลาม)อย่างเดียว แต่จะต้องเป็น“อะอ์ลัม ฟี ฮาซัล อัมร์”หรือรอบรู้เกี่ยวกับสังคมของตนและประชาคมโลกด้วย เพื่อจะใช้ความรู้ดังกล่าววินิจฉัยปัญหาศาสนาให้สอดคล้องกับเงื่อนไขต่างๆในปัจจุบัน รู้ทันกลลวงของศัตรูอิสลามและสามารถตัดสินใจดำเนินการรับมืออย่างทันท่วงที รัฐธรรมนูญสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน มาตรา 107 ระบุไว้ว่า “ภายหลังจากมัรญะอ์ผู้สูงศักดิ์ ผู้นำที่ยิ่งใหญ่ของการปฎิวัติอิสลามแห่งอิหร่าน และผู้สถาปนาสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน อายะตุลลอฮ์ อุซมา อิมามโคมัยนี (ร.ฮ) ซึ่งได้รับความไว้วางใจอย่างล้นหลามจากประชาชนให้ดำรงตำแหน่งมัรญะอ์และผู้นำสูงสุดแล้ว การเฟ้นหาผู้นำถือเป็นหน้าที่ของสภาผู้ชำนัญการที่ได้รับเลือกจากประชาชน” สภานี้ประกอบด้วยผู้ชำนาญวิชาการอิสลามที่ประชาชนเลือก และมีหน้าที่เฟ้นหาฟะกีฮ์ผู้มีคุณสมบัติผู้นำครบถ้วนเพื่อประกาศให้ดำรงตำแหน่งผู้นำสูงสุด[16] ในแต่ละวาระ สภาดังกล่าวจะพิจารณาเฟ้นหาตามคุณสมบัติที่ระบุไว้ แต่ในยุคนี้สภาดังกล่าวมีมติเอกฉันท์ว่าท่านอายะตุลลอฮ์ อุซมา คอเมเนอี เหมาะสมที่สุดสำหรับตำแหน่งผู้นำสูงสุด ทั้งนี้ก็เพราะท่านมีคุณสมบัติครบถ้วนทุกประการ. นอกจากนี้ ยังมีคำกล่าวของท่านอิมามโคมัยนีที่รายงานโดยท่านรัฟซันจานีในหมู่สมาชิกสภาผู้ชำนัญการเป็นเครื่องยืนยัน ท่านกล่าวว่า “ในหมู่พวกท่านยังมีคนที่เหมาะสมจะเป็นผู้นำสูงสุด พวกท่านจะไม่พบทางตันอย่างแน่นอน”[17] นอกจากนี้ท่านซัยยิดอะห์มัด โคมัยนี บุตรชายของท่านอิมามโคมัยนีก็เล่าถึงคำพูดของท่านว่า “เขา(อายะตุลลอฮ์คอเมเนอี)เหมาะจะเป็นผู้นำสูงสุด” เพื่อจะคลายความข้องใจเกี่ยวกับคำฟัตวาของท่านอายะตุลลอฮ์ อุซมา ฟาฎิล ลังกะรอนี(ร.ฮ.) จำเป็นต้องเข้าใจความแตกต่างระหว่าง“ฟัตวา”และ“หุก่ม”เสียก่อน: ฟัตวาหมายถึง การที่ผู้เชี่ยวชาญศาสนาทำการวินิจฉัยปัญหาโดยอ้างอิงแหล่งความรู้ทางศาสนา ซึ่งคำวินิจฉัยนี้เสนอต่อผู้ที่ปฏิบัติตามท่านเท่านั้น แต่สำหรับหุก่ม(ตามความหมายที่เกี่ยวกับวิลายะตุลฟะกีฮ์)หมายถึง คำชี้ขาดที่ผู้นำสูงสุดประกาศโดยอ้างอิงบทบัญญัติแม่ ประกอบกับการพิจารณาถึงสถานการณ์โลกปัจจุบัน โดยประกาศให้มีผลบังคับใช้สำหรับประชาชนทุกคน หรือบังคับใช้กับหมู่คณะ หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งเป็นการเฉพาะ กล่าวคือ ในมุมมองศาสนา การเชื่อฟังคำฟัตวาของฟะกีฮ์แต่ละท่านถือเป็นสิ่งจำเป็นเฉกเช่นคำสั่ง(หุก่ม)ของวะลียุลฟะกีฮ์สูงสุด จะต่างกันก็ตรงที่ฟัตวาของฟะกีฮ์ทั่วไปจะมีผลบังคับสำหรับผู้เลือกปฏิบัติตาม(ตักลีด)เท่านั้น ในขณะที่คำหุก่มของผู้นำสูงสุดนั้น ทุกคนจะต้องถือปฏิบัติ.[18] หนังสือแนะนำเพื่อศึกษาเพิ่มเติม: 1. วิลายะตุลฟะกีฮ์, อิมามโคมัยนี. 2. หลักวิลายะตุลฟะกีฮ์ในรัฐอิสลาม, ซัยยิดมุฮัมมัดฮุเซน เตหะรานี 3. วิลายะตุลฟะกีฮ์, มุฮัมมัดฮาดี มะอ์ริฟัต 4. ปรัชญาแห่งการปกครองโดยฟะกีฮ์, ฮะซัน มัมดูฮี 5. วิลายะฮ์และศาสนา, มะฮ์ดี ฮาดะวี เตหะรานี. [1] ดู: มะกอยีซุล ลุเฆาะฮ์, เล่ม 6,หน้า 141 และ อัลกอมูซุล มุฮีฏ, หน้า 1732 และ อัลมิศบาฮุ้ลมุนีร เล่ม 2, หน้า 396 และ อัศศิฮ้าห์ เล่ม 6, หน้า 2528 และ ตาญุลอะรู้ส, เล่ม 10, หน้า 398. [2] นักวิจัยบางท่านปฏิเสธว่าคำนี้ไม่มีความหมายเกี่ยวกับมิตรภาพและการช่วยเหลือ โดยเชื่อว่ามีความหมายเพียงการปกครองและสถานะผู้นำเท่านั้น. ดู: บทเรียนเกี่ยวกับวิลายะตุลฟะกีฮ์และนิติศาสตร์การปกครองของอิสลาม, ฮุเซนอลี มุนตะซะรี, เล่ม 1,หน้า 55. [3] ดู: อัลกอมูซุ้ลมุฮีฏ, หน้า 1732 และ ตาญุลอะรู้ส, เล่ม 10, หน้า 398 และ อัลมิศบาฮุ้ลมุนี้ร เล่ม 2, หน้า 396. [4] ดู: วิลายะฮ์และศาสนา, ภาคเหตุผลพิสูจน์หลักวิลายะตุลฟะกีฮ์, เหตุผลทางสติปัญญา. [5] ดู: วิลายะฮ์และศาสนา, ภาคเงื่อนไขของวะลียุลฟะกีฮ์. [6] วะซาอิลุชชีอะฮ์, เล่ม 27, หน้า 140. [7] เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับฮะดีษนี้ ดู: วิลายะฮ์และศาสนา, หน้า 94-102. [8] อ้างจากหนังสือพื้นฐานความชอบธรรมในระบอบวิลายะตุลฟะกีฮ์, มุศตอฟา คะวอเคบียอน,หน้า 68. [9] มะฮ์ดี ฮาดะวี เตหะรานี, วิลายะฮ์และศาสนา, หน้า 138. [10] วิลายะฮ์และศาสนา, หน้า 141. [11] วิลายะฮ์และศาสนา,หน้า 140,141. [12] วิลายะฮ์และศาสนา, หน้า 142. [13] ซูเราะฮ์นิสาอ์,105. [14] อับดุลลอฮ์ ญะวาดี ออโมลี, วิลายะตุลฟะกีฮ์, หน้า 256,257. [15] บิฮารุลอันว้าร, เล่ม 34 ,หน้า 249. [16] อับดุลลอฮ์ ญะวาดี ออโมลี, วิลายะตุลฟะกีฮ์, หน้า 231. [17] ฮาชิมี รัฟซันจานี,สัมภาษณ์นสพ.เคย์ฮอน, (วันจันทร์ที่ 20,11,1382 อิหร่านศักราช) [18] มะฮ์ดี ฮาดะวี เตหะรานี, วิลายะฮ์และศาสนา, หน้า 139,140.