อิสลามมิได้ห้ามรับประทานเนื้อดอกหรือ?
อิสลามมิได้ห้ามรับประทานเนื้อดอกหรือ?
0 Vote
82 View
อิสลามมิได้ห้ามรับประทานเนื้อดอกหรือ?
สลามค่ะ ต้องการทราบว่ามีการอนุญาตให้มนุษย์ทานเนื้อได้ตั้งแต่เมื่อใด? มิไช่สัตว์เดรัจฉานหรือที่กินเนื้อ? ถ้าคนเราทานเนื้อจะไม่ทำให้มีนิสัยเหมือนสัตว์ดอกหรือ? จะดีกว่าหรือไม่หากจะเลือกทานผักอย่างเดียว?
พืชผักผลไม้และเนื้อสัตว์ถือเป็นอาหารของมนุษย์มาตั้งแต่โบราณ แต่ก็มีมนุษย์บางกลุ่มที่มีรสนิยมสองขั้วที่ต่างกัน บางกลุ่มไม่แตะต้องเนื้อสัตว์เลย ส่วนบางกลุ่มในแอฟริกา ตะวันออกไกลและยุโรปบางประเทศกินเนื้อสัตว์แทบทุกประเภทแม้กระทั่งเนื้อมนุษย์ในบางกรณี การเปรียบเทียบระหว่างมนุษย์กับสัตว์เดรัจฉานถือว่าไม่ถูกต้องนัก การจะใช้เหตุผลที่ว่าเนื่องจากสัตว์เดรัจฉานกินเนื้อ ฉะนั้นมนุษย์จึงไม่ควรจะทานเนื้อ คงต้องถามกลับว่า สัตว์ป่าอย่างเช่น กวาง ยีราฟ ฯลฯ กินเนื้อเป็นอาหารหรือไม่? สัตว์ที่มีนิสัยดุร้ายอย่างหมีไม่ได้กินน้ำผึ้งและผักผลไม้ดอกหรือ? สิ่งนี้จะถือเป็นเหตุผลที่มนุษย์ไม่ควรทานน้ำผึ้งและพืชผักได้หรือไม่?
มนุษย์จำเป็นต้องบริโภคอาหารเพื่อดำรงชีวิตอยู่ต่อไปเสมือนสิ่งมีชีวิตประเภทอื่นๆ มนุษย์รู้จักอาหารของตนเองตั้งแต่โบราณกาล พืชผักผลไม้และเนื้อสัตว์ถือเป็นอาหารขั้นพื้นฐานของมนุษย์ในทำนองเดียวกับที่มนุษย์ไม่เคยคิดจะลองแทะกินเนื้อไม้หรือก้อนหิน จะเห็นได้ว่ามนุษย์จะเลือกทานสิ่งที่เหมาะกับระบบย่อยอาหารของตนเสมอ
นอกจากการเลือกรับประทานอาหารที่เหมาะกับรสนิยมอันเกิดจากสัญชาติญาณของมนุษย์แล้ว หลังจากที่มีการเผยแพร่ศาสนาในหมู่มนุษยชาติอันเป็นการเชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับคำสอนของพระเจ้า จึงทำให้มีการกำหนดข้อห้ามทางศาสนาเกี่ยวกับอาหารบางประการ อาทิเช่นเนื้อสุกร[1] ทั้งนี้ก็เนื่องจากจะส่งผลให้เกิดผลเสียทางจิตวิญญาณนั่นเอง
มีมนุษย์บางกลุ่มที่มีนิยมสองขั้วที่ต่างกัน บางกลุ่มไม่แตะต้องเนื้อสัตว์เลย ส่วนบางกลุ่มในแอฟริกา เอเชียตะวันออกไกลและยุโรปบางประเทศนิยมกินเนื้อสัตว์แทบทุกประเภทแม้กระทั่งเนื้อมนุษย์ในบางกรณี[2]
อิสลามเลือกทางสายกลางเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยถือว่าเนื้อสัตว์ที่บุคคลปกติทั่วไปนิยมรับประทาน (หรืออีกนัยหนึ่ง เนื้อสัตว์ประเภทที่สอดคล้องกับธรรมชาติของคนทั่วไป)[3] เป็นที่อนุมัติ (ฮาล้าล) ในฐานะที่เป็น “ฏ็อยยิบ้าต”[4]ตามสำนวนกุรอาน ซึ่งได้แจกแจงออกเป็นประเภทสัตว์สี่เท้า (บะฮาอิม) อันได้แก่ แพะแกะ วัว อูฐ ส่วนประเภทสัตว์ปีกก็ได้อนุมัติให้ทานได้ทุกชนิดยกเว้นนกที่กินเนื้อเป็นอาหาร (สังเกตุได้จากการบินถลามากกว่ากระพือปีก, ไม่มีกระเพาะบด, มีกรงเล็บ) ส่วนสัตว์น้ำก็อนุมัติให้ทานประเภทที่มีเกล็ดตามรายละเอียดที่ปรากฏในตำราฟิกเกาะฮ์(นิติศาสตร์อิสลาม)
สรุปคือ ประการแรก. การบริโภคเนื้อสัตว์อยู่คู่ประวัติศาสตร์มนุษยชาติมาตลอด ประการที่สอง. การเปรียบเทียบระหว่างมนุษย์กับสัตว์เดรัจฉานถือว่าไม่ถูกต้องนัก การจะใช้เหตุผลที่ว่าเนื่องจากสัตว์เดรัจฉานกินเนื้อ ฉะนั้นมนุษย์จึงไม่ควรจะทานเนื้อ คงต้องถามกลับว่า สัตว์ป่าอย่างเช่น กวาง ยีราฟ ฯลฯ กินเนื้อเป็นอาหารหรืออย่างไร? สัตว์ที่มีนิสัยดุร้ายอย่างเช่นหมีนั้น ไม่ได้กินน้ำผึ้งและผักผลไม้ดอกหรือ? สิ่งนี้จะถือเป็นเหตุผลที่มนุษย์ไม่ควรทานน้ำผึ้งและพืชผักได้หรือไม่?
อย่างไรก็ดี เราไม่ปฏิเสธว่าการบริโภคเนื้อสัตว์สามารถถ่ายโอนคุณลักษณะบางอย่างได้ เป็นไปได้ว่าการทานเนื้อสัตว์ดุร้ายจะส่งผลให้มีจิตใจที่แข็งกระด้าง อาจเป็นเพราะเหตุนี้กระมังที่อิสลามห้ามมิให้บริโภคเนื้อสัตว์ “ญัลล้าล” (สัตว์ที่กินนะญิส)[5]
ท้ายนี้ขอนำเสนอฮะดีษที่เกี่ยวกับการบริโภคเนื้อสัตว์สำหรับผู้ที่สนใจ
1. มีฮะดีษหลายบทระบุว่าเนื้อสัตว์คืออาหารที่ดีที่สุด[6]
2. มีฮะดีษจากอิมามศอดิก(อ.)ว่า “การบริโภคเนื้อจะเสริมสร้างกล้ามเนื้อของร่างกาย ผู้ที่ไม่บริโภคเนื้อติดต่อกันสี่สิบวัน จะเริ่มมีอุปนิสัยอันไม่พึงประสงค์”[7] และยังมีฮะดีษจากท่านนบี(ซ.ล.)ว่า “ผู้ใดห่างเนื้อสัตว์ถึงสี่สิบวัน จงหายืมเงินใครสักคนไปซื้อบริโภคเสีย”[8]
[1] บะเกาะเราะฮ์,173 “อัลลอฮ์ทรงห้ามบริโภคเพียงซากสัตว์ เลือด เนื้อสุกร และสัตว์ทุกชนิดที่เชือดโดยไม่เอ่ยนามพระองค์”
[2] เฏาะบาเฏาะบาอี,มุฮัมมัด ฮุเซน,คำแปลอัลมีซาน,เล่ม 5,หน้า 295,สำนักพิมพ์อิสลามี ญามิอะฮ์ มุดัรริซีน สถาบันศาสนาแห่งเมืองกุม,กุม,ปี 1374
[3] เพิ่งอ้าง
[4] อัลมุอ์มินูน, 51 “โอ้ศาสนทูต จงบริโภคแต่อาหารที่สะอาด”
[5] ดู: มะการิม ชีรอซี,นาศิร,ตัฟซี้รเนมูเนะฮ์,เล่ม 4,หน้า 262,ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,เตหราน,ปี 1374
[6] กุลัยนี,มุฮัมมัด บิน ยะอ์กู้บ,อัลกาฟี,เล่ม 6,หน้า 308,ดารุลกุตุบิลอิสลามียะฮ์,เตหราน,ปี หมวดสรรพคุณของเนื้อ عَنْ عَبْدِ اللَّهِ بْنِ سِنَانٍ قَالَ سَأَلْتُ أَبَا عَبْدِ اللَّهِ ع عَنْ سَيِّدِ الْآدَامِ فِي الدُّنْيَا وَ الْآخِرَةِ فَقَالَ اللَّحْم
[7] เพิ่งอ้าง, عَنْ أَبِي عَبْدِ اللَّهِ ع قَالَ اللَّحْمُ يُنْبِتُ اللَّحْمَ وَ مَنْ تَرَكَ اللَّحْمَ أَرْبَعِينَ يَوْماً سَاءَ خُلُقُه.
[8] เพิ่งอ้าง, قَالَ رَسُولُ اللَّهِ ص مَنْ أَتَى عَلَيْهِ أَرْبَعُونَ يَوْماً وَ لَمْ يَأْكُلِ اللَّحْمَ فَلْيَسْتَقْرِضْ عَلَى اللَّهِ عَزَّ وَ جَلَّ وَ لْيَأْكُلْهُ.