การขวางด้วยหิน (ขวางให้ตาย) คืออะไร?
การขวางด้วยหิน (ขวางให้ตาย) คืออะไร?
0 Vote
61 View
ภูมิหลังทางประวัติศาสตร์การขวางด้วยหิน (ขวางให้ตาย) คืออะไร? ไม่คิดดอกหรือว่าโลกสมัยนี้จะดูถูกเหยียดหยามกฎดังกล่าว ทำให้ทัศนะอื่นที่มีต่ออิสลามจะเป็นไปในแง่ลบทั้งหมด? การลงโทษ โดยการขว้างด้วยก้อนหิน หรือเรียกว่า “รัจม์” เป็นที่ยอมรับในหมู่ประชาชาติ หมู่ชน และศาสนาต่างๆ ก่อนหน้าอิสลาม ซึ่งในอิสลามถือว่า การลงโทษดังกล่าวเป็นข้อกำหนดประเภทหนึ่งตามหลักชัรอียฺ แน่นอนและตายตัว ซึ่งจะใช้ลงโทษสำหรับการกระทำผิดที่หนักมาก ซึ่งมีรายงานจำนวนมากจากท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่าวถึงประเด็นดังกล่าวไว้ เป้าหมายของอิสลามจากการลงโทษดังกล่าวคือ การปรับปรุงแก้ไขสังคม, อันเกิดจากความผิดปรกติด้านการก่ออาชญากรรม, เป็นการชำระผู้กระทำผิดอีกทั้งเป็นการลบล้างความผิดบาป ที่เกิดจากผลของความผิดนั้น, ดำเนินความยุติธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม,ป้องกันความหันเห ความหลงผิดต่างๆ อันเกิดจากการทำลายความบริสุทธิ์ของสังคม กลับคืนสู่สังคมอีกครั้ง ตามทัศนะของอิสลามการลงโทษ การทำชู้ (หญิงที่มีสามี หรือชายที่มีภรรยา) จะถูกลงโทษด้วยเงื่อนไขอันเฉพาะด้วยการขว้างด้วยก้อนหินจนกระทั่งเสียชีวิต ถ้าหากการดำเนินกฎเกณฑ์ดังกล่าว หรือกฎเกณฑ์ข้ออื่นๆ นำไปสู่การดูถูกเหยียดหยามอิสลามแล้วละก็ วะลียุลฟะกีฮฺ หรือฮากิมชัรอียฺ สามารถเปลี่ยนแปลงวิธีการลงโทษได้ตามความเหมาะสม และต้องสอดคล้องกับกฎหมายอิสลาม สำหรับการศึกษาข้อมูลภูมิหลังประวัติศาสตร์ การลงโทษด้วยการขว้างด้วยก้อนหิน หรือ รัจมฺ จำเป็นต้องศึกษาจากหนังสือประวัติศาสตร์ และคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ทางศาสนา ที่มีมาก่อนศาสนาอิสลาม ซึ่งปัจจุบันคัมภีร์โบราณของศาสนาในอดีตที่มีอยู่ในมือของเรา กล่าวว่า การลงโทษด้วยการขว้างด้วยก้อนหินนั้น จะใช้ลงโทษบุคคลที่ประพฤติผิดรุนแรง ซึ่งคัมภีร์เตารอตได้กล่าวถึง การลงโทษดังกล่าวไว้หลายต่อหลายครั้ง เป็นการลงโทษหญิงสาวที่ผิดประเวณีก่อนสมรส กล่าวว่า : » เวลานั้นได้นำตัวหญิงสาวไปที่บ้านของบิดาของนาง แล้วประชาชนได้ร่วมกันใช้หินขว้างเธอจนเสียชีวิต เนื่องจากได้สร้างความเสื่อมเสียชื่อเสียงแก่วงศ์วานอิสราเอล เธอได้ผิดประเวณีที่บ้านบิดาของเธอ การทำเช่นนี้เพื่อให้ความชั่วร้ายห่างไกลไปจากหมู่ชนของตน«[1] ครั้นเมื่อท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้อพยพไปยังมะดีนะฮฺ ได้มียะฮูดียฺกลุ่มหนึ่งเข้ามาพบท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เพื่อถามเรื่องกฎการผิดประเวณี (ซินา) ท่านศาสดาได้ตอบโดยอาศัยโองการที่ 41 บทมาอิดะฮฺ และโองการที่เกี่ยวข้อง ที่ถูกประทานลงมาหลังจากนั้น เรื่องราวดังกล่าวมีอยู่ว่า มีหญิงที่มีชื่อเสียงชาวยะฮูดียฺคนหนึ่ง จากหมู่บ้านคัยบัร ได้ผิดประเวณีกับชายที่มีชื่อเสียงจากหมู่พวกเขา ทั้งๆ ที่ทั้งสองมีภรรยาและสามีอยู่แล้ว (เขาทำชู้กัน) แต่นักปราชญ์ของยะฮูดียฺ ไม่กล้าตัดสินลงโทษเขาทั้งสอง เนื่องจากชื่อเสียงที่เขามี และสถานภาพทางสังคมของพวกเขา อีกอย่างพวกเขาไม่ต้องลงโทษด้วยการขว้างด้วยก้อนหิน พวกเขาจึงได้มาหาท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เพื่อสรรหาบทลงโทษที่เบากว่านั้น เพื่อจะได้นำไปลงโทษทั้งสอง แต่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ก็มิได้บอกบทลงโทษอื่นแก่พวกเขา ท่านบอกบทลงโทษเดียวกัน และเน้นย้ำว่าบทลงโทษดังกล่าวมีกล่าวอยู่ในคัมภีร์เตารอตด้วย แล้วทำไมพวกท่านจึงไม่ถือปฏิบัติไปตามคัมภีร์? พวกเขาพยายามปฏิเสธบทบัญญัติดังกล่าวในคัมภีร์เตารอต หลังจากนั้นท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ให้ผู้รู้ชาวยะฮูดียฺคนหนึ่งนามว่า อิบนุฮูรียา เข้าพบ หลังจากได้สาบานตนแล้ว ท่านได้ถามเขาถึงกฎดังกล่าว เขายอมรับว่ากฎดังกล่าวมีอยู่ในคัมภีรฺเตารอตจริง ต่อมาท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ได้ลงโทษชายและหญิงคนนั้นหน้ามัสญิด โดยการขว้างด้วยก้อนหินจนเสียชีวิต[2] ด้วยเหตุนี้ จะเห็นว่ากฎการลงโทษด้วยการขว้างด้วยก้อนหิน มีมาก่อนอิสลาม ซึ่งปรากฏอยู่ในหมู่ประชาชาติ หมู่ชน และศาสนาต่างๆ อยู่แล้ว จะแตกต่างกันตรงวิธีปฏิบัติเท่านั้นเอง กฎการขว้างด้วยก้อนหินในอิสลาม : แม้ว่ากฎการขว้างด้วยก้อนหินจะถูกกำหนดสำหรับ หญิงที่มีชู้ แต่มิได้ถูกกล่าวไว้ในอัลกุรอาน เพียงแต่ว่าวิธีการลงโทษดังกล่าวนี้ได้รับการปฏิบัติโดยท่านศาสดา (ซ็อลฯ) ท่านอิมามอะลี (อ.) เคยปฏิบัติการลงโทษด้วยการขว้างด้วยก้อนหิน และการเฆี่ยนตีผู้ผิดประเวณี ท่านกล่าวว่า : จงลงโทษเขาตามที่บันทึกอยู่ในคัมภีร์ของพระเจ้า (เฆี่ยน) และลงโทษเขาตามแบบฉบับของท่านศาสดาคือ ขว้างด้วยก้อนหิน[3]รายงานจากเคาะลิฟะฮฺที่สอง กล่าวว่า : ถ้าฉันไม่กลัวว่าประชาชนจะกล่าวว่า ฉันได้เพิ่มเติมโองการอัลกุรอานแล้วละก็ ฉันจะบรรจุโองการ รัจม์ เข้าในอัลกุรอาน ที่ว่า»บุรุษและสตรีที่ชราหากเขาได้ทำชู้กัน ก็จะต้องถูกขว้างด้วยก้อนหินแน่นอน«อย่างไรก็ตามโองการลักษณะนี้ได้รับการปฏิเสธจากบรรดาเหล่าสหายทั้งหมด ซึ่งไม่มีสหายคนใดกล่าวยืนยันสักคนเดียวว่า มีโองการเหล่านี้ในอัลกุรอาน[4] กฎการลงโทษด้วยการขว้างด้วยก้อนหินสำหรับการคบชู้ เป็นที่เห็นพร้องต้องกันของผู้รู้และนักปราชญ์อิสลามทั้งหมด[5] และเนื่องจากเป็นบทลงโทษของอิสลาม จึงไม่อาจแก้ไขหรืออะลุ่มอล่วยใดๆ ได้[6] อีกด้านหนึ่ง ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) เป็นศาสดาแห่งเมตตาธรรม แต่ท่านไม่ยินดีเท่าไหร่ ที่จะลงโทษประชาชาติด้วยวิธีการดังกล่าว ซึ่งทุกครั้งที่มีการลงโทษดังกล่าว ท่านมักจะกล่าวว่า ถ้าเขาลุแก่โทษต่ออัลลอฮฺ ยังดีเสียกว่าการสารภาพผิดเสียอีก แต่กระนั้นเมื่อใดก็ตาม เมื่อพิสูจน์แล้วว่า เค้าทำชู้กันจริง ท่านก็จะลงโทษพวกเขาไปตามนั้น เหตุการณ์เกี่ยวกับบุคคลที่ถูกลงโทษด้วยการขว้างด้วยก้อนหิน ในสมัยท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และอิมามอะลี (อ.) และรายงานฮะดีซที่กล่าวเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว[7]แสดงให้เห็นว่าทัศนะอิสลามนั้นเห็นด้วยกับการลงโทษดังกล่าว แต่ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขและหลักการ ซึ่งค่อนข้างจะยุ่งยากมากอย่างน้อยต้องพิสูจน์ได้อย่างแน่ชัดว่า ทั้งสองนั้นทำชู้กันจริง กระนั้นโดยหลักการแล้วก็จะเห็นว่ามีการลงโทษทำนองนี้น้อยมากที่สุด นั่นเป็นเพราะการป้องกันมิให้เกิดเรื่องลามกอนาจารดังกล่าว จึงเป็นสาเหตุทำให้มีการลงโทษลักษณะนี้น้อย ตามรัฐธรรมนูญสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน ซึ่งวางอยู่บนหลักนิติศาสตร์ฝ่ายชีอะฮฺ ได้มีการกล่าวถึงเงื่อนไขและหลักการพิสูจน์การคบชู้สู่ชายเอาไว้ ซึ่งจะขอกล่าวถึงสักสองสามประการดังนี้ 1-มาตราที่ 74 การผิดประเวณีอันเป็นเหตุให้ถูกรัจมฺ หรือถูกเฆี่ยนตี จะต้องได้รับการยืนยันจากพยานที่เป็นชายที่มีความยุติธรรม 4 คน หรือพยานที่เป็นชายทีมีความยุติธรรม 3 คน และหญิงที่มีความยุติธรรม 2 คน[8] 2- มาตราที่ 76 คำยืนยันของผู้เป็นพยานจะต้องโปร่งใส ชัดเจน ปราศจากเงื่อนงำ สามารถอ้างอิงได้โดยการเห็นด้วยกับตาตัวเอง 3- มาตราที่ 78 ต้องอธิบายคุณลักษณะทั้งจากเวลา สถานที่ ซึ่งต้องไม่มีความขัดแย้งกันระหว่างคำยืนยันของผู้เป็นพยาน (มิเช่นนั้นแล้ว ผู้เป็นพยานจะต้องโทษเสียเอง เนื่องจากยืนยันความเท็จ) 4-มาตราที่ 79 ผู้เป็นพยานต้องยืนยันโดยไม่ทิ้งช่วงหรือระยะเวลาของการยืนยัน หมายถึงพยานต้องยืนยันพร้อมกัน (มิเช่นนั้น ผู้เป็นพยานต้องได้รับโทษเอง)[9] แม้แต่บุคคลผู้ซึ่งได้สารภาพแล้ว หลังจากนั้นได้ปฏิเสธ การต้องโทษด้วยการขว้างด้วยหินก็จะละเว้นจากเขาทันที ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “ถ้าหากบุคคลหนึ่งได้สารภาพความผิดของตน ต่อมาได้ปฏิเสธ ดังนั้น การลงโทษด้วยการเฆี่ยนตียังต้องปฏิบัติเช่นเดิม ยกเว้นความผิดในเรื่อง การทำชู้ อันเป็นสาเหตุทำให้ถูกรัจมฺ (ขว้างด้วยก้อนหิน) หลังจากปฏิเสธ การลงโทษนี้ต้องถูกละเว้นจากเขา”[10] ความยากในการพิสูจน์เรื่อง การทำชู้ อันเป็นความผิดที่นำไปสู่การลงโทษด้วยการขว้างด้วยก้อนหินนั้น เป็นเรื่องที่ยากและลำบากมาก ซึ่งบางคน[11]กล่าวว่า บางทีเรื่องนี้อาจไม่ได้รับการพิสูจน์เลยก็เป็นไปได้ เว้นแต่ว่าบุคคลนั้นผู้มีสติสัมปชัญญะ จะยอมรับสารภาพด้วยตัวเอง ประเด็นที่ต้องพิจารณาคือ เป้าหมายของอิสลามในการกำหนดบทลงโทษดังกล่าว มิใช่เป็นไปเพื่อการล้างแค้น หรือสร้างความป่าเถื่อนให้เกิดในสังคม ทว่าเหมือนกับกฎหมายอิสลามข้ออื่น ซึ่งมีเป้าหมายสูงส่งในการกำหนดบทบัญญัติในแต่ละข้อ ซึ่งจะขอกล่าวถึงบางประเด็นเหล่านั้น กล่าวคือ ก. เพื่อปรับปรุงสังคม : เนื่องจากถ้ามีกฎหมายในลักษณะเช่นนี้ (ซึ่งต้องเป็นไปตามเงื่อนไข) โดยปราศจากการอะลุ่มอล่วยในสังคม และผู้ที่ทำชู้ได้รับการลงโทษจริงตามกฎหมาย แน่นอน บุคคลอื่นที่มีความคิดที่จะทำความผิดดังกล่าว จะไม่กล้าฝ่าฝืนเด็ดขาด และจะไม่มีวันกระทำเช่นนั้นเนื่องจากเมื่อทำผิดจริงแล้ว ต้องได้รับการลงโทษอย่างรุนแรง ข.ความผิดปรกติด้านการก่ออาชญากรรม : ทุกอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสังคม ถือว่าเป็นความผิดปรกติ อันก่อให้เกิดความเสื่อมเสีย และเป็นการทำลายระเบียบของสังคม ก่อให้เกิดความวุ่นวายและปัญหาต่อสังคม ดังนั้น ผลของการลงโทษทางสังคม เกิดจากความผิดปรกติ ของอาชญากรที่ก่ออาชญากรรมในสังคม ค. เพื่อเป็นการชำระการกระทำความผิดของแต่ละคนและการให้อภัย : ความผิดหรือบาปถือว่าเป็นความชั่วร้ายอย่างหนึ่ง สร้างความเปรอะเปื้อน ถ้าหากกระทำผิดจริงก็เป็นเหตุให้ผู้กระทำแปดเปื้อนความผิด หรือเป็นผู้ผิด ดังนั้น ความผิดดังกล่าวจะหมดไปก็ต่อเมื่อได้รับการลงโทษตามความเหมาะสมกับความผิดนั้น รายงานฮะดีซ กล่าวว่า การลงโทษผู้กระทำผิดในโลกนี้ จะทำให้ผู้ทำความผิดสะอาดบริสุทธิ์ และความผิดจำนวนมากมาย (ถ้ามิใช่ความผิดด้านสิทธิมนุษยชน) จะถูกลบล้างให้สะอาดได้ด้วยการลุแก่โทษอย่างจริงใจ ง. รักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความบริสุทธิ์ของสังคม : การกระทำความผิดในสังคม ถ้าไม่มีการลงโทษผู้กระทำความผิด จะเป็นสาเหตุทำให้ผู้กระทำผิดได้ใจ เหิมเกริม และกล้าที่จะทำผิดต่อไป และในที่สุดแล้วความผิดนั้นก็จะลุกลามขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ และแน่นอนว่า ความผิดเช่นการล่วงละเมิดสิทธิคนอื่น การข่มขืนกระทำชำเลา การลักขโมย การสังหารชีวิตผู้อื่น การลวนลามหญิงสาวและอื่นๆ ความผิดเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุทำลายสังคมทั้งสิ้น สร้างความวุ่นวาย และทำลายระเบียบสังคม ดังนั้น ถ้ามีการลงโทษตามวาระ หรือตามความผิดนั้นๆ ตามที่อิสลามได้กำหนดไว้ เท่ากับเป็นการสนับสนุนให้ผู้คนในสังคมมีความยำเกรง รู้จักรักษาระเบียบ และเป็นผู้บริสุทธิ์ตลอดเวลา ทำให้พวกเขารักษาคุณค่าและความดีในความเป็นมนุษย์ต่อไปด้วย ดังที่ได้มีคำเตือนเสมอว่า ผู้ชาญฉลาดมักฉวยโอกาสด้วยการเฝ้ามองดูด้วยตาตัวเองว่า บั้นปลายสุดท้ายจะเป็นอย่างไร ดังนั้น เขาจะไม่ฝ่าฝืนกระทำความผิด และในที่สุดแล้วก็จะเห็นว่า การกระทำความผิดและการก่ออาชญากรรมต่างๆ ในสังคมจะลดลง เมื่อความผิดลดลงย่อมส่งผลให้สังคมมีความหน้าอยู่ และมีความปลอดภัยสูงขึ้นตามลำดับ จ. การดำเนินความยุติธรรม : การกระทำความผิดเท่ากับเป็นการล่วงละเมิดสิทธิของบุคคลอื่น เป็นการอธรรมในสิทธิของพวกเขา ดังนั้น ด้วยการลงโทษให้หลาบจำเท่านั้นเอง จึงจะสามารถสร้างความสมดุลและคืนความยุติธรรมแก่สังคมได้ กล่าวคือ ถ้าหากมีการอธรรมเกิดขึ้นในสังคม จำเป็นต้องมีการลงโทษไปตามความเหมาะสมนั้น ฉะนั้น ทุกการลงโทษจึงได้รับการพิจารณาไปตามความเหมาะสมกับความผิด แม้แต่การ รัจมฺ ก็จะไม่ได้รับการละเว้นแต่อย่างใด บางทีอาจกล่าวได้ว่า การลงโทษด้วยการขว้างด้วยก้อนหินนั้น เป็นการลงโทษที่รุนแรงค่อนข้างป่าเถื่อน ซึ่งตลอดยุคสมัยของท่านศาสดา (ซ็อลฯ) และท่านอิมามอะลี (อ.) ท่านได้ปฏิบัติกฎข้อนี้ด้วยตัวเองเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น แน่นอน ที่ใดก็ตามถ้าการปฏิบัติตามกฎหมายลงโทษแล้ว เป็นสาเหตุสร้างความเสื่อมเสียแต่อิสลาม อิมามมะอฺซูม หรือวิลายะตุลฟะกีฮฺ ซึ่งมีอำนาจในการปกปักรักษาผลประโยชน์ของอิสลาม สามารถยกเลิกบทลงโทษเหล่านั้นได้ชั่วคราว หรืออาจเปลี่ยนเป็นการลงโทษในลักษณะอื่นที่มีโทษเท่าเทียมกันแทน ท่านอิมามโคมัยนี (รฎ.) กล่าวว่า ฮากิม สามารถรื้อถอนบ้าน หรือมัสญิดที่สร้างกีดขวางทางสัญจรไปมา หรือกีดขวางถนนได้ โดยให้จ่ายคืนค่ารื้อถอนบ้านแก่เจ้าของบ้าน ฮากิมสามารถปิดมัสญิดในสถานการณ์ที่จำเป็นได้ ฮากิมสามารถระงับคำสั่งทั้งที่เป็นอิบาดะฮฺ หรือมิใช่อิบาดะฮฺ ซึ่งถ้าการปฏิบัติสิ่งนั้นขัดแย้ง หรือไม่เข้ากับกาลยุคของอิสลาม รัฐบาลอิสลามสมารถสามารถสั่งยุติการประกอบพิธีฮัจญฺ ซึ่งเป็นข้อบังคับสำคัญของพระเจ้าได้ชั่วคราว ถ้าหากพิธีฮัจญฺอยู่ในช่วงคับขัน และขัดแย้งกับความก้าวหน้าของประเทศมุสิลม[12] ในอีกที่หนึ่งท่านกล่าวว่า “เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องสร้างความกระจ่างชัดในเรื่องง่ายๆ แก่ประชาชน นั่นคือ ในอิสลามถือว่าความมั่นคงของรัฐเป็นเรื่องยิ่งใหญ่และมีความสำคัญเหนือปัญหาอื่นใดทั้งสิ้น ซึ่งทั้งหมดต้องปฏิบัติตาม”[13] ด้วยเหตุนี้ สามารถกล่าวได้ว่า ถ้าหากไม่ได้อยู่ในการดำเนินบทบัญญัติของพระเจ้า ก็ไม่จำเป็นต้องสรรหาข้ออ้างที่ไม่มีพื้นฐานที่มาของคนบางกลุ่ม หรือบางพรรคทางการเมือง มาเป็นข้อท้วงติงแต่อย่างใด แต่ถ้าการปฏิบัติกฎหมายทั้งหมดเหล่านี้ หรือช่วงการดำเนินการถ้าขัดแย้งกับระบบอิสลาม หรือสร้างความเสื่อมเสียแก่อิสลาม วิลายะตุลฟะกีฮฺ มีอำนาจในการสั่งการ โดยให้เปลี่ยนบทลงโทษเป็นอย่างอื่นทดแทนได้ [1] คัมภีร์สัญญาฉบับเก่า พิมพ์ที่อังกฤษ หน้า 373, วารสาร การเดินทาง มูททนา บทที่ 2, โองการที่ 21, 22. [2] ตัฟซีรมีซาน ฉบับแปลฟาร์ซียฺ อัลลามะฮฺเฏาะบาเฏาะบาอียฺ, เล่ม 5, หน้า 543-544 [3] นักด์วะตัฟรีอาต อายะตุลลอฮฺ มุฮัมมัด วะฮีดียฺ หน้า 29 [4] อันวาร อัลฟะกอฮะฮฺ, นาซิรมะการิมชีรอซียฺ กิตาบฮุดูด หน้า 281. [5] ญะวาเฮร กะลาม นะญะฟี, เล่ม 4, หน้า 318, อัลมะกอซิด อัชชัรอียะฮฺ ลิลอุกูบาตร ฟีลอิสลาม, ดร.ฮุซัยนียฺ อัลญันดี หน้า 637 [6] ตะอฺษีรซะมาน วะมะกาน บัรเกาะวานีนียฺ ญะซาอียฺ อิสลาม, ฮะมีด เดะฮฺกอน หน้า 129 [7] วะซาอิลุชชีอะฮฺ, โฮร อามิลียฺ, เล่ม 18, หน้า 347. [8] ตะฮฺรีรุล อัลวะซีละฮฺ เล่ม 2, หน้า 461, ข้อที่ 9. [9] ชัรฮฺ กฎหมายการลงโทษในอิสลาม, ซัยยิด ฟะตาฮฺ มุรตะเฎาะวีย, หน้า 32-43. [10] วะซาอิลุชชีอะฮฺ, โฮร อามิลียฺ, เล่ม 18, หน้า 318, 319. [11] ตะอฺษีร ซะมาน วะมะกาน บัร กะวานีน ญะซาอี อิสลาม, ฮะมี เดะฮฺกอน [12] ฮุกูมัตอิสลามมี, อิมามโคมัยนี (รฎ.) หน้า 34, 233. [13] อ้างแล้วเล่มเดิม หน้า 464