ศาสนบัญญัติ
การรู้จักบทบัญญัติ (อะฮฺกาม) คุณค่าของมนุษย์อยู่ที่ความเพียรพยายามที่จะทำดำเนินชีวิตของตนไปตามบทบัญญัติที่ศาสนาอิสลามได้กำหนดไว้ และปฏิบัติตนตามหลักการเหล่านั้นอย่างถูกต้อง ซึ่งบทบัญญัติด้งกล่าวได้แก่
1. หลักความเชื่อ หรือหลักอุซุลุดดีน หมายถึงกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความเชื่อศรัทธา ที่มุสลิมจะต้องยอมรับด้วยเหตุและผลอันเป็นพื้นฐานสำคัญแห่งอิสลาม แม้ว่าบางครั้งจะเป็นเหตุผลง่ายๆ และมองดูว่าธรรมดาก็ตาม ด้วยเหตุนี้เอง ปัญหาที่เกี่ยวข้องกับหลักการศรัทธาจึงไม่อาจปฏิบัติผู้อื่นได้ หรือคล้อยตามความเชื่อของบุคคลอื่น (ตักลีด)
2. หลักการปฏิบัติ หรือหลักฟุรูอุดดีน หมายถึงหลักศาสนบัญญัติต่าง ๆ ที่มุสลิมทุกคนต้องนำมาปฏิบัติหรือละเว้นการกระทำ ซึ่งถูกเรียกว่า อะฮฺกาม และสำหรับบุคคลที่ไม่ได้เป็นมุจญ์ตะฮิด (ผู้มีความเชี่ยวชาญด้านนิติศาสตร์อิสลาม) ต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของมุจญ์ตะฮิดขั้นสูงสุด
3. จริยธรรมศาสตร์ (อัคลาก) หมายถึงการปฏิบัติตัวเองให้สอดคล้องกับหลักการศาสนา (ชะริอะฮฺ) ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการอบรมจิตใจ หรือการขัดเกลาและยกระดับจิตใจของตนให้สูงส่ง การพัฒนาจิตด้านในให้ไปสู่คุณสมบัติที่สูงส่งคู่ควรแก่การเป็นมนุษย์ หรือมีคุณสมบัติสมบูรณ์ต่อการเป็นมนุษย์
ประเด็นเกี่ยวกับจริยธรรมนั้น บางครั้งเป็นจริยธรรมด้านการปฏิบัติตน แบบอย่างและวิถีการดำเนินชีวิตของเหล่าบรรดาอิมามผู้นำผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย
บางครั้งเป็นเพียงทัศนะคติหรือวิสัยทัศน์หรือหลักการเท่านั้น ซึ่งสามารถรู้จักได้โดยอาศัยรายงาน (ริวายะฮฺ) จากบรรดาอิมามผู้นำผู้บริสุทธิ์ทั้งหลาย
สิ่งจำเป็นต้องพิจารณาคือ บทบัญญัติของอิสลามนั้นแบ่งออกเป็น 2 ส่วน กล่าวคือ
1. บทบัญญัติอันเป็นหน้าที่
หมายถึงบทบัญญัติที่กำหนดบทบาทหรือระบุหน้าที่ความประพฤติของมนุษย์ว่าจะต้องกระทำอย่างไร เช่น บังคับให้ปฏิบัติ (วาญิบ) หรือบังคับให้ละเว้น (ฮะรอม) หรือสมัครใจ (มุซตะฮับ) หรือน่ารังเกลียด (มักรูฮฺ) หรือไม่แตกต่างกัน (มุบาฮฺ)
2. บทบัญญัติอันเป็นข้อกำหนด
บางครั้งพระผู้เป็นเจ้าทรงกำหนดบทบัญญัติหรือเงื่อนไขที่นอกเหนือไปจากหลักปฏิบัติ 5 ประการข้างต้นขึ้นมาสำหรับมนุษย์ เช่น
ทรงกำหนดสิ่งวาญิบ
ภารกิจที่จำเป็นต้องปฏิบัติ หากฝ่าฝืนหรือละเว้นต้องได้รับการลงโทษจากพระเจ้า เช่น นมาซ หรือการถือศีลอดเป็นต้น
ทรงกำหนดสิ่งเป็นมุซตะฮับ
ภารกิจที่ไม่จำเป็นต้องปฏิบัติ แต่ถ้าปฏิบัติจะได้รับรางวัลพิเศษหรือได้รับผลบุญมากมาย ส่วนการละเว้นไม่มีโทษทัณฑ์แต่อย่างใด เช่น นมาซมุซตะฮับทั้งหลาย
ทรงกำหนดสิ่งที่เป็นมักรูฮฺ
ภารกิจที่ละเว้นไม่ปฏิบัติเป็นการดีกว่าสำหรับมนุษย์และมีผลบุญ ส่วนการปฏิบัติสิ่งนั้นไม่มีโทษทัณฑ์แต่อย่างใด เช่น การนมาซมุซตะฮับขณะที่เหน็ดเหนื่อย
ทรงกำหนดสิ่งที่เป็นมุบาฮฺ
ภารกิจที่จะกระทำหรือไม่กระทำไม่มีความแตกต่างกัน หมายถึงไม่มีการลงโทษหรือได้รับผลบุญแต่อย่างใดหากได้ปฏิบัติ ซึ่งประกอบไปด้วยภารกิจจำนวนมากมายในชีวิตประจำวันของมนุษย์ เช่น การดื่มน้ำ หรือการรับประทานอาหารเป็นต้น
มนุษย์สามารถปฏิบัติตามบทบัญญัติของศาสนาได้ 3 วิธี อันได้แก่
· การวินิจฉัย (อิจติฮาด) ด้วยตนเอง
· การระมัดระวังในเรื่องการปฏิบัติ (อิฮฺติยาฏ)
· การปฏิบัติตาม (ตักลีด)
1. การวินิจฉัย (อิจติฮาด)
ฮิจญฺติฮาด ( اجتهاد ) ตามหลักภาษาหมายถึง การเพียรพยายาม ความเหนื่อยยาก ลำบาก แต่ตามหลักศาสนบัญญัติหมายถึง การนำเอากฎเกณฑ์ทางศาสนบัญญัติมาวิเคราะห์เพื่อวินิจฉัยความออกมาบนพื้นฐานของความรู้ ความสามารถ และความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ดังนั้น บุคคลที่มีคุณสมบัติตามที่กล่าวมาเรียกว่า มุจญ์ตะฮิด (ผู้วินิจฉัยบทบัญญัติอิสลาม)
หลักการ อิจติฮาด หมายถึงการนำเอากฎเกณฑ์ทางศาสนบัญญัติมาวิเคราะห์ เพื่อวินิจฉัยความออกมาโดยความรู้ ความสามารถและความเข้าใจจากพื้นฐานอันเป็นแหล่งที่มาของการวินิจฉัยทั้ง ๔ ได้แก่ อัลกรุอาน ซุนนะฮ (ฮะดีซหรือแบบฉบับของท่านศาสดา) อิจญะมะฮฺ (ความเห็นชอบและสอดคล้องกันของมุจญฺตะฮิดร่วมสมัยหรือสมัยก่อน) และอักล์ (สติปัญญา)
2. การอิฮฺติยาฏ
หมายถึงการปฏิบัติศาสนกิจไปตามความเชื่อมั่นของตนเองสำหรับบุคคลที่เป็นมุจญ์ตะฮิด โดยต้องมั่นใจว่าไม่มีความผิดพลาดใด ๆ ในการปฏิบัติ
3. การตักลีด
หมายถึงการปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของมุจญฺตะฮิดที่มีความรู้สูงสุดในสมัยของตน นักปราชญ์ของอิสลามที่สามารถค้นคว้าหาเหตุผล และวินิจฉัยอะฮฺกามของศาสนาได้เรียกว่า มุจญฺตะฮิด หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึงผู้ที่มีความเชี่ยวชาญนิติศาสตร์อิสลาม ส่วนการค้นคว้าของท่านเรียกว่า การอิจติฮาด ผู้ที่ย้อนกลับไปหามุจญตะฮิดเพื่อตรวจสอบหน้าที่ของตนเรียกว่า มุก็อลลิด ส่วนการย้อนไปหามุจญฺตะฮิดเพื่อดูคำวินิจฉัยและนำมาปฏิบัติเรียกว่า การตักลีด ดังนั้น การตักลีดจึงหมายถึงการปฏิบัติตามมุจญฺตะฮิดเฉพาะในเรื่องฟุรูอุดดีน (การอิบาดะฮฺ นะมาซ ศีลอด ซะกาต คุมซฺ ฮัจญฺ และญิฮาด) การค้าขายและรวมไปถึงอะฮฺกามเรื่องอื่นๆ ด้วย โดยไม่รวมไปถึงเรื่องอุซูลุดดีน (หลักความศรัทธา) เพราะไม่อนุญาตให้ปฏิบัติตามบุคคลใด ต้องเกิดจากพลังแห่งความเชื่อมั่นที่ไม่สงสัยของตน มิใช่เกิดจากการกระทำและความเชื่อมั่นของคนอื่น และนำมาเป็นเหตุผลของตน
การตักลีด เป็นหลักการตามธรรมชาติของมนุษย์ มิใช่สิ่งเสริมเติมแต่งที่อิสลามได้สอดใส่มาให้มนุษย์ เนื่องเป็นกฎตามธรรมชาติที่ว่า ผู้ไม่รู้ต้องถามผู้รู้ เพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดกับตนเอง ดังนั้นเราจะเป็นเห็นคนป่วยต้องไปหาแพทย์ นักเรียนต้องถามคุณครู ผู้ไม่รู้ต้องถามผู้รู้ ซึ่งถ้าเป็นปัญหาเกี่ยวกับหลักการปฏิบัติในศาสนาผู้ที่เราต้องไปพบเขาคือ ผู้ที่มีความชำนาญพิเศษหรือที่เรียกว่า มุจญฺตะฮิดผู้มีความรู้สมบูรณ์นั่นเอง
การตักลีดแบ่งออกเป็น 2 ประเภท
1. การปฏิบัติตามเยี่ยงคนหูหนวกตาบอด
หมายถึง การปฏิบัติภารกิจต่างๆ ที่มนุษย์เราได้หลงเชื่อผู้อื่นโดยไม่รู้ว่าสิ่งนั้นให้คุณหรือว่าให้โทษแก่ตนเองหรือไม่ ตนได้มอบให้บุคคลเป็นแบบอย่างสำหรับตนในทุกๆ เรื่อง
2. การปฏิบัติตามเยี่ยงคนรอบรู้หรือผู้มีความรู้
หมายถึง การปฏิบัติตามในปัญหาที่ตนไม่รู้ ไม่เข้าใจ ซึ่งตนได้สอบถามจากผู้มีความรู้และเมื่อเขาได้ออกคำสั่งมาให้ปฏิบัติตนจึงได้ปฏิบัติตาม ซึ่งปัญหาเรื่องการตักลีดที่อิสลามกำลังกล่าวถึงคือ ประเด็นที่สอง ดังนั้น การตักลีดในหลักการอิสลามจึงมิได้หมายถึง การเชื่อฟังปฏิบัติตามเยี่ยงคนหูหนวกตาบอดแต่อย่างใด
จำนวนของมัรญิอฺตักลีด
บางคนมักถามว่าในเชิงสงสัยว่า เรามีคัมภีร์อัล-กุรอานเพียงเล่มเดียว พระเจ้าองค์เดียว และศาสดาองค์เดียว ดังนั้น มัรญิอฺตักลีดก็จำเป็นต้องมีเพียงคนเดียว ทำไมในเวลาเดียวกันต้องมีมัรญิอฺหลายคนด้วย และขณะที่ทุกคนมีความรู้อยู่ในระดับเดียวกันทำไมต้องเลือกเอามัรญิอฺท่านหนึ่งท่านใดด้วย
คำตอบ เนื่องจากแนวทางของชีอะฮฺแตกต่างไปจากแนวทางและสำนักคิดอื่นๆ เนื่องจากชีอะฮฺนิยมในความรู้และเหตุผลของสติปัญญาและยกย่องในคุณค่าเหล่านั้น โดยกล่าวว่า บุคคลใดก็ตามที่ศึกษาศาสนาจนกระทั่งถึงขั้นที่สามารถวินิจฉัยปัญหาศาสนาได้ถือว่าเขาผู้นั้นเป็น มุจญฺตะฮิด ฉะนั้น ตนจะต้องไม่ปฏิบัติตามผู้ใด ส่วนบุคคลอื่นสามารถปฏิบัติตามตนได้ ดังนั้น ถ้าสมมุติว่าในระหว่างมุจญฺตะฮิดที่มีความรู้สมบูรณ์สิบท่าน และแต่ละท่านนั้นมีความรู้เท่าเทียมกันเราจะไม่เลือกปฏิบัติตามบางท่าน โดยละทิ้งเก้าท่านที่เหลือการกระทำเช่นนี้ถือว่าเป็นการทำลายความรู้และวิชาการ ซึ่งโดยหลักการแล้วถือว่าไม่ถูกต้อง ดังนั้น การมีมัรญิอฺหลายท่านในสมัยเดียวกัน เท่ากับเป็นการเชิดชูความรู้และสถานภาพทางวิชาการให้สูงส่ง
เงื่อนไขของมัรญิอฺตักลีด
บุคคลที่เป็นมัรญิอฺตักลีด ซึ่งบุคคลอื่นมีหน้าที่ปฏิบัติตามท่านต้องมีเงื่อนไขดังต่อไปนี้
· ต้องเป็นผู้มีความยุติธรรมและมีคุณธรรม (ไม่ทำบาปทั้งบาปเล็กและบาปใหญ่) หมายถึงระดับหนึ่งของตักวา (ยำเกรง) ต่อพระผู้เป็นเจ้า พึงระวังความประพฤติปฏิบัติไปตามกฎข้อบังคับของศาสนาอย่างเคร่งครัด และออกห่างจากสิ่งต้องห้ามทั้งหลาย สัญลักษณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีคุณธรรมคือ การไม่ทำบาปทั้งบาปเล็กและบาปใหญ่ ทั้งในที่ลับและที่แจ้ง
· ต้องมีชีวิต ด้วยเหตุนี้ไม่อนุญาตให้เริ่มตักลีดกับมุจญฺฮิดที่เสียชีวิตไปแล้ว
· ต้องเป็นเพศชาย
· ต้องบรรลุนิติภาวะตามศาสนบัญญัติ
· ต้องเป็นมุสลิมนับถือนิกายชีอะฮฺอิมามียะฮฺ
· เป็น อิฮฺติยาฏวาญิบ ต้องเป็นผู้มีความรู้สูงสุดในทางศาสนา ผู้รู้ขั้นสูงสุด หมายถึง ผู้ที่รอบรู้ที่สุดในการวินิจฉัยศาสนบัญญัติทางศาสนา (จากอัล-กรุอาน และซุนนะฮฺ)
· บิดามารดาต้องสมรสถูกต้องตามหลักการศาสนา
· ต้องไม่มีความละโมบ ต่อลาภยศสรรเสริญหรือลุ่มหลงโลก
คำถามบางประการ
1. จะรู้จักคำวินิจฉัยของมุจญฺตะฮิดได้อย่างไร
สามารถรู้จักฟัตวา (คำวินิจฉัย) ของมุจญฺตะฮิดได้ 4 วิธี กล่าวคือ
· ได้ยินคำวินิจฉัยจากมุจญฺตะฮิด
· ได้ยินจากคำบอกเล่าของมุจญฺตะฮิดที่มีความอาดิล 2 ท่าน
· ได้ยินจากการบอกเล่าของผู้ที่เชื่อถือได้ในคำพูดของเขา
· ได้เห็นฟัตวาในเอกสารหรือหนังสือริซาละฮฺของท่าน
2. สามารถปฏิบัติตามมัรญิอฺที่เสียชีวิตไปแล้วได้หรือไม่
สำหรับผู้ที่เริ่มต้นตักลีดใหม่ ไม่อนุญาตให้ตักลีดตามมัรญิอฺที่เสียชีวิตไปแล้ว จำเป็นต้องเริ่มตักลีดกับมัรญิอฺที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ถ้าเคยตักลีดกับมัรญิอฺท่านหนึ่ง ต่อมาท่านได้เสียชีวิตไปสามารถคงสภาพการตักลีดกับมุจญฺตะฮิดที่ถึงแก่กรรมไปแล้วได้ แต่ต้องขออนุญาตจากมัรญิอฺที่ยังมีชีวิตอยู่ ดังนั้น ถ้าท่านอนุญาตจึงจะสามารถคงสภาพตักลีดต่อไปได้ ซึ่งปัญหาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นต้องปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของมุจญฺตะฮิดที่ยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น
3. ทัศนะของมุจญฺตะฮิดแบ่งเป็นกี่ประเภท
มุจญฺตะฮิดสามารถออกทัศนะได้หลายกรณีด้วยกัน กล่าวคือ
1. ออกคำสั่งว่าวันพรุ่งนี้เป็นวันอีดฟิฏรฺ (1 เชาวัล) ซึ่งการออกทัศนะเช่นนี้อยู่ในอำนาจของมุจญฺตะฮิดที่เป็นฮากิม หรือวิลายะตุลฟะกีฮฺ
2. ออกคำวินิจฉัยในประเด็นที่เป็นวาญิบ มุซตะฮับ มักรูฮฺ มุบาฮฺ หรือฮะรอม เช่น วินิจฉัยว่า ผู้ใดมีศีลอดวาญิบติดตัวอยู่ ไม่สามารถถือศีลอดมุซตะฮับได้
3. บางครั้งออกทัศนะในเชิงที่เป็น อิฮฺติยาตวาญิบ เช่น กล่าวว่า อิฮฺติยาตวาญิบต้องกล่าว ตัสบีฮาตอัรบะอะฮฺ ในนมาซเราะกะอัตที่สามหรือสี่ 3 ครั้ง เป็นต้น ดังนั้น ผู้ที่ตักลีดตามท่านต้องอิฮฺติยาต โดยกล่าวตัสบีฮาตอัรบะอะฮฺในนมาซ 3 ครั้ง หรือสามารปฏิบัติตามทัศนะของมัรญิอฺท่านอื่นที่กล่าวว่า ให้กล่าวเพียงครั้งเดียวก็พอ
4. แสดงทัศนะหลังจากออกคำวินิจฉัยแล้ว หรือก่อนที่จะกล่าวให้อิฮฺติยาต เช่น กล่าวว่า อิฮฺติยาตให้นมาซใหม่อีกครั้ง การอิฮฺติยาตตรงนี้ถือว่าเป็น อิฮฺติยาตมุซตะฮับ กล่าวคือ อิฮฺติยาตมุซตะฮับ จะมาหลังจากคำวินิจฉัย