การรณรงค์ต่อต้านความไม่รู้
การรณรงค์ต่อต้านความไม่รู้
0 Vote
49 View
เงื่อนไขแรกและก่อนอื่นใดทั้งหมดสำหรับการคงอยู่ของประชาชาติหนึ่งก็คือการมีความรู้ ด้วยเหตุผลนี้เอง นักเขียนสมัยใหม่จึงเรียกประชาชาติที่ก้าวหน้าในเรื่องของความรู้และวัฒนธรรมว่าเป็นผู้มี “ชีวิต”และในทางกลับกันได้เรียกประชาคมที่ล้าหลังว่าเป็นผู้ที่ “ตาย”และเป็น “อนารยชน”รากฐานในการตีความเช่นนี้อาจสังเกตพบได้จากความจริงแห่งวจนะของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ที่กล่าวว่า “การถกเถียงกันในเรื่องของความรู้ จะชุบชีวิตให้แก่หัวใจที่ตายซากโดยมีเงื่อนไขว่า การถกเถียงได้นำให้เข้าใกล้ชิดกับอัลลอฮฺและบทบัญญัติของพระองค์” “บุคคลที่ตายลงในขณะที่กำลังทำการศึกษาเพื่อจุดมุ่งหมายในการชุบชีวิตมวลมุสลิม จะเป็นผู้ที่อยู่ในระดับขั้นที่ต่ำลงมาเพียงขั้นหนึ่งจากบรรดาศาสดาในสรวงสวรรค์” ทัศนะเช่นนี้เองอิสลามจึงสนับสนุนส่งเสริมให้ผู้คนทั่วไปแน่วแน่กับการขวนขวายหาความรู้และวิทยปัญยา ในความเป็นจริงแล้วอิสลามถือว่า การแสวงหาความรุ้เป็นข้อบังคบสำหรับพวกเขาด้วยซ้ำ ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า “เป็นข้อบังคับสำหรับมวลมุสลิมทุกคนในการศึกษาหาความรู้ แท้จริงอัลลอฮฺทรงรักบรรดาผู้ซึ่งแสวงหาความรู้” “เป็นข้อบังคับสำหรับมวลมุสลิทุกคนในการศึกษาหาความรู้ จงศึกษาหาความรู้จากแหล่งที่มีความเหมาะสมของมัน และจงให้มันแก่ผู้ที่สมควรจะได้รับเพราะว่าการให้ความรู้เพื่อหนทางของอัลลอฮฺถือเป็นสิ่งที่ดีงาม การแสวงหาถือว่าเป็นการแสดงการเคารพภักดี การถกเถียงในเรื่องความรู้เป็นเสมือนเช่นการสรรเสริญในพระบริสุทธิคุณของอัลลอฮฺ การปฏิบัติการงานด้วยความรู้เป็นเสมือนเช่นการดำเนินไปสู่การทำญิฮาดในวิถีทางของอัลลอฮฺ การสอนความรู้ให้แก่ผู้ที่ไม่รู้เป็นเสมือนการบริจาคทาน และการผ่านความรู้ไปให้ผู้รู้เป็นสิ่งที่นำให้เข้าใกล้ชิดยังอัลลอฮฺ” “บุคคลที่แสวงหาความรู้เป็นเสมือนเช่นบุคคลที่ถือศีลอดระหว่างช่วงของวัน และทำมนาซในเวลาค่ำคืน เป็นการดีสำหรับบุคคลหนึ่งที่จะศึกษาแม้เสี้ยวหนึ่งของความรู้ ดีกว่าการเป็นเจ้าของภูเขาทองคำที่ใหญ่เท่าของอบู กุบัยซฺและแจกจ่ายไปในวิถี่ทางของอัลลอฮฺ” และเหนืออื่นใดทั้งหมดอัล-กุรอานได้สนับสนุนการแสวงหาความรู้ของชนทุกหมู่เหล่า อัล-กุรอานโองการแรกที่ถูกประทานลงมากล่าวว่า จงอ่านด้วยพระนามแห่งพระผู้อภิบาลของเจ้าผู้ทรงบังเกิด,จงอ่านเถิด และพระเจ้าของเจ้านั้นผู้ทรงใจบุญยิ่ง, ผู้ทรงสอนการใช้ปากกา, ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้, อัล-กุรอานกล่าาวไว้ในเชิงของการท้าทายว่า เจ้าไม่ใคร่ครวญดอกหรือ, เจ้าไม่คิดดอกหรือ, ผู้รู้กับผู้ไม่รู้จะเท่าเทียมกันหรือ, เจ้าไม่ใคร่ครวญหรือว่าหัวใจของเจ้าถูกปิดด้วยกุญแจหลายดอก, ใครก็ตามที่ได้รับวิทยปัญญาและความรู้จะได้รับความดีอันมากมาย, นูน ขอสาบานด้วยปากกา และสิ่งที่พวกเขาขีดเขียน คำพูดเหล่านี้ย่อมแสดงให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการเีรียนรู้ ท่านอิมามซัจญาด (อ.) กล่าวว่า “ถ้าหากว่าประชาชนได้รู้ถึงผลประโยชน์ที่จะได้รับจากการขวนขวายหาความรู้แล้ว พวกเขาก็จะศึกษาหามัน ถึงแม้ว่าจำเป็นที่จะต้องหลั่งเลือดจากหัวใจของเขา หรือว่าจะต้องลงไปสู่ก้นบึ้งของทะเลลึกก็ตาม” อิสลามให้ความสำคัญต่อการศึกษาหาความรู้เป็นอย่างมาก โดยที่ได้ถือว่าหนทางของความรู้และวิทยปัญญาเป็นหนทางที่นำไปสู่สรวงสวรรค์ ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า “อัลลอฮฺทรงเปิดหนทางแห่งสรวงสวรรค์ให้แก่บุคคลที่ก้าวไปบนหนทางของการศึกษาหาความรู้” อิสลามถือว่าความรู้เป็นมรดกที่ดีที่สุดชิ้นหนึ่งที่มนุษย์ได้ละทิ้งไว้ภายหลังจากเขาจากไป ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า “อนุสรณ์และมรดกที่ดีที่สุดที่มนุษย์ละทิ้งไว้ภายหลังจากเขาจากไป คือบุตรที่มีคุณธรรม สิ่งก่อสร้างที่ยังประโยชน์ และความรู้ที่ให้ประโยชน์แก่ประชาชนภายหลังจากเขาจากไป” อิสลามแนะนำความรู้และวิทยปัญญาว่าเป็นสิ่งที่นำให้ออกห่างจากไฟนรก ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้รู้ที่แจริงไม่มีวันที่หลง และเบี่ยงเบนออกไปจากหนทางที่ถูกต้อง และไม่มีวันตกเป็นเหยื่อแห่งไฟนรก ในอีกด้านหนึ่งนั้นความรู้ของเขาจะนำเขาสู่สวรรค์ ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวไว้ว่า “ใครปรารถนาที่จะเห็นผู้ที่ได้รับความปลอดภัยจากไฟนรก ควรจะมองดูไปที่ผู้แสวงหาความรู้” อิสลามไม่ได้กำหนดขอบเขตสำหรับการศึกษาหาความรู้และวิทยปัญญา ดังที่ท่านศาสดา (ซ็อลฯ) กล่วว่า “จงศึกษาหาความรู้แม้ว่ามันจะอยู่ไกลถึงเมืองจีน”(หมายถึงว่าไม่มีข้อจำกัดในเรืองของสถานที่และระยะทาง) อิสลามตำหนิความเขินอายในการศึกษาหาความรู้เมื่ออยู่ในวัยหนึ่ง หรือไม่ว่าอยู่ในสถานการณ์เช่นใดก็ตาม ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “จงอย่าอายกับการที่จะเรียนรู้ในสิ่งที่ท่านยังไม่รู้” อย่างไรก็ตามก็ต้องรำลึกไว้ด้วยว่า บรรดาผู้นำของอิสลามจะเห็นดีเห็นชอบกับความรู้ ก็ต่อเมื่อมีการปฏิบัติควบคู่ไปด้วย และยกย่องเฉพาะวิทยปัญญาที่อยู่คู่กับบุคลิกภาพที่สูงส่ง ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “โอ้มนุษย์ทั้งหลาย จงระลึกว่าความดีเลิศของศาสนาของพวกท่านอยู่บนการศึกษาหาความรู้และปฏิบัติตามสิ่งที่ได้เรียนรู้ เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพวกท่านในความอยากได้ในเรื่องของความรู้มากกว่าเรื่องของความร่ำรวย” ท่านอิมามญะอฺฟัร อัซ-ซอดิก (อ.) กล่าวว่า “ความรู้และการปฏิบัติเป็นสิ่งที่อยู่ควบคู่กัน เพราะว่าใครก็ตามที่มีความรู้ก็ต้องปฏิบัติตามความรู้นั้น (ในฐานะที่สัญญาณที่แท้จริงของความรู้ก็คือการปฏิบัติ) ความรู้และวิทยปัญญาของบุคคลหนึ่งที่นำมาสู่การปฏิบัติจะคงอยู่ตลอดไปอย่างไม่เสื่อมลง ความรู้คือพระสุรเสียงของพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งเชิญชวนผู้ที่ครอบครองให้ปฏิบัติตาม ถ้าหากเขายอมรับคำเชิญชวนก็ต้องปฏิบัติไปตามความรู้” อิสลามแนะนำว่า จงสนับสนุนเฉพาะความรู้ที่มีเพื่อหนทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) ท่านอิมามญะอฺ ฟัร อัซ-ซอดิก (อ.) กล่าวว่า “บุคคลที่เรียนรู้รายงานฮะดีซเพื่อการได้ประโยชน์ทางโลก ก็จะไม่ได้ประโยชน์อะไรเลยในโลกหน้า แต่ถ้าเขาเรียนรู้เพื่อสิ่งที่ดีกว่าที่เขาจะได้รับในโลกหน้า อัลลอฮฺที่จะทรงให้สิ่งที่ดีแก่เขาทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า” อิสลามกำหนดหน้าที่สำหรับผู้ที่เป็นครูและผู้ที่เป็นนักเรียนไว้อย่างน่าชื่นชม ซึ่งเนื้อหาเหล่านั้นสามารถพบได้จากรายงานต่อไปนี้ ท่านอิมามญะอฟัร (อ.) กล่าวว่า “ครูของท่านมีสิทธิเหนือท่านซึ่งท่านจะต้องให้เกียรติและให้ความเคารพคุณครูขณะที่อยู่ในวงสนทนา ท่านจะต้องใส่ใจต่อคำพูดของคุณครู ท่านจะต้องไม่ขึ้นเสียงดังกว่าเสียงของคุณครู ถ้าหากมีใครถามคำถามกับคุณครูท่านจะต้องไม่ตอบแทนเสียเอง ท่านจะต้องไม่สนทนากับผู้ใดเมื่ออยู่ต่อหน้าคุณครู ท่านจะต้องเปิดโอกาสให้ผู้คนทั่วไปได้รับประโยชน์จากความรู้ของคุณครู ท่านจะต้องไม่พูดถึงใครในทางที่ไม่ดีต่อหน้าคุณครู ถ้าหากใครพูดถึงคุณครูไม่ดีให้ท่านได้ยิน ท่านจะต้องปกป้อง ท่านจะต้องปกปิดข้อบกพร่องของคุณครูและนำข้อดีมาพูดให้เป็นที่ประจักษ์ ท่านจะต้องไม่สมาคมกับผู้ที่เป็นศัตรูของคุณครู และจะต้องไม่ทำตัวขัดแย้งกับสหายของคุรฟครุ ถ้าหากท่านปฏิบัติตามเช่นนี้แล้ว มลาอิกะฮฺของอัลลอฮฺจะรับรองว่าท่านได้ให้ความสนใจต่อคุณครู ได้ศึกษาหาความรู้เพื่อหนทางของอัลลอฮฺ ไม่ใช่เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้คนทั่วไป ส่วนสิทธิของนักเรียนที่มีต่อครูก็คือ คุณครูจะต้องสำนึกว่าการให้ความรู้แก่นักเรียนและการเปิดโอกาสแห่งความรู้ อัลลอฮฺทรงเลือกเจ้าให้เป็นผู้พิทักษ์ของพวกเขา ดังนั้น ในกรณีที่เจ้าสอนพวกเขาอย่างถูกต้องเหมาะสม และไม่ทำให้พวกเขาตกใจกลัวและไม่โกรธพวกเขา อัลลอฮฺจะทรงเพิ่มพูนความรู้ให้เจ้าโดยพระกรุณาธิคุณของพระองค์ แต่ถ้าหากเจ้าขับไสผู้คนให้ออกห่างความรู้ เมื่อพวกเขาเข้ามาหาเจ้าเพื่อการเรียนรู้ แต่เจ้ากลับทำให้พวกเขาตกใจกลัว หรือรู้สึกรำคาญพวกเขา อัลลอฮฺผู้ทรงอำนาจยิ่งจะถอดถอนแสงสว่างแห่งความรู้ออกไปจากเจ้าอันเป็นความเหมาะสมอย่างยิ่ง และพระองค์จะทำให้เจ้าอัปยศอดสูในสายตาของประชาชน” เป้าหมายที่แท้จริงประการหนึ่งของอิสลามก็คือ การสถาปนาสังคมและระบบการเมืองที่ดี พร้อมกับการสร้างสรรค์สภาพแวดล้อมที่ประชาชนสามารถอาศัยอยู่ได้ในฐานะของมนุษย์ และหลีกห่างการปฏิบัติที่ป่าเถื่อนโหดร้ายอันไร้มนุษยธรรม เฉกเช่นที่บางประเทศกำลังปฏิบัติกับประชาชนบางกลุ่มโดยไม่สนใจใยดีว่าประชาโลกจะคิดและรู้สึกอย่างไรกับการกระทำนั้น ขอเพียงให้สำเร็จตามความต้องการของตนก็เพียงพอแล้ว อิสลามเป็นศาสนาที่ให้ความรักและความเอ็นดูต่อทุกสรรพสิ่งถูกสร้าง สอนให้ห่างไกลจากความเห็นแก่ตัว และการเอาเปรียบผู้อื่น อิสลามสอนว่าจงรักษาสิทธิของท่านไว้ให้ดีขณะเดียวกันอย่าโกงหรือริดรอนสิทธิของคนอื่น สรรพสิ่งทั้งมวลบนพื้นโลกถูกสร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยประโยชน์แก่มนุษย์ แต่จงใช้ให้พอดีอย่างสุรุ่ยสุหร่ายและอย่าฟุ่มเฟือยเด็ดขาด สัตว์ที่อนุมัติให้เป็นอาหารจงอย่ากินจนกว่าจะเชื่อดโดยเอ่ยนามของพระผู้เป็นเจ้า ถ้ามันตายเองหรือเชือดโดยไม่เอ่ยนามของพระผู้เป็นเจ้า จงอย่าบริโภคเนื้อสัตว์นั้นเพาะเป็นบาป แม้แต่สัตว์ถ้าจะฆ่ายังต้องเอ่ยนามของพระผู้เป็นเจ้า แล้วชีวิตของมนุษย์จะฆ่าได้อย่างไร อิสลามจึงไม่อนุญาตให้ฆ่าชีวิตผู้อื่น การฆ่าประจารกันในปัจจุบันจึงไม่ใช่หลักการของอิสลาม ซึ่งอิสลามได้ประณามวิธีการเหล่านั้นอย่างรุนแรงและถือว่าผู้กระทำไม่ใช่มุสลิม มีสิ่งจำเป็นที่เป็นความต้องการเบื้องต้นหลายประการ ในการที่จะทำให้บรรลุถึงเป้าหมายข้างต้น และหนึ่งในความจำเป็นนั้นก็คือ การมีอยู่ของผู้ศรัทธาที่มีความรู้ และมีความสามารถ ผู้ซึ่งทำหน้าที่เชิญชวนสังคมไปสู่การกระทำที่ดีงามและการเคารพภักดีต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) ด้วยเหตุนี้อิสลามจืงให้ความสำคัญเป้นพิเศษกับเรื่องของผู้รู้ และผู้นำสังคมในอุดมคติ ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ยกย่องฐานะของผู้เทียบเท่ากับบรรดาศาสดาของบนีอิซรออีล อัล-กุีอานถือว่าความแตกต่างและความห่างไกลกันระหว่าง ผู้ที่มีความรู้กับผู้ที่ไม่ความรู้เป็นข้อเท็จจริงโดยแท้ และเีรียกร้องจิตสำนึกและสติปัญญาของมนุษย์ให้เป็นพยานยืนยันในเรื่องนี้ โดยกล่าวว่า هَلْ يَسْتَوِى الَّذِيْنَ يَعْلَمُوْنَ وَ الَّذِيْنَ لاَ يَعْلَمُوْنَ إِنَّمًا يَتَذَكَّرُ اُوْ لُوْا الْألْباَبِ จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด บรรดาผู้รู้และบรรดาผู้ไม่รู้จะเท่าเทียมกันหรือแท้จริงบรรดาผู้มีสติปัญญาเท่านั้นที่จะใคร่ครวญ[๑] قُلْ هَلْ يَسْتَوِي الأَعْمَى وَالْبَصِيرُ أَفَلاَ تَتَفَكَّرُونَ จงกล่าวเถิด คนตาบอดกับคนตาดีนั้นจะเท่าเทียมกันหรือ พวกท่านไม่ใคร่ครวญดอกหรือ[๒] قُلْ هَلْ يَسْتَوِي الأَعْمَى وَالْبَصِيرُ أَمْ هَلْ تَسْتَوِي الظُّلُمَاتُوَالنُّورُ จงกล่าวเถิด “คนตาบอดกับคนตาดีจะเหมือนกันหรือ หรือความมืดจะเหมือนกับแสงสว่างหรือ[๓] يَرْفَعِ اللَّهُ الَّذِينَ آمَنُوا مِنكُمْ وَالَّذِينَ أُوتُوا الْعِلْمَدَرَجَاتٍ وَاللَّهُ بِمَا تَعْمَلُونَ خَبِيرٌ อัล-กุรอานกล่าวว่า อัลลอฮฺจะทรงยกฐานะบรรดาผู้ศรัทธาในหมู่พวกเจ้า และบรรดาผู้ซึ่งมีความรู้ให้อยู่ในตำแหน่งสูงส่ง และอัลลอฮฺทรงรอบรู้ยิ่งในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ[๔] ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า ผู้มีความรู้และผู้คงแก่เรียนจะยังคงมีอยู่ตราบจนถึงกาลอวสานของโลกถึงแม้ว่าเรือนร่างของพวกเขาจะซ่อนเร้นจากสายตา แต่ความน่าประทับใจของพวกเขาจะยังคงประทับมั่นในหัวใจของประชาชนตลดไป อิสลามยืนยันอีกว่าบรรดาผู้รู้ได้รับเกียรติมากกว่าบรรดาผู้ศรัทธามั่นและผู้ทรงคุณธรรม เพราะบุคคลสองประเภทหลังนั้นเป็นผู้ที่ระมัดระวังเฉพาะตัวเองเท่านั้น ส่วนผู้รู้จะต้องเอาใจใส่ต่อผู้อื่นด้วย ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า การนอนหลับของผู้รู้นั้นดีกว่าการทำนมาซ ๑๐๐๐ เราะกะอัตของผู้มุ่งมั่นกับการทำอิบาดะฮฺ (อาบิด) ผู้รู้เป็นเสมือนแช่นบุคคลที่ประกอบการถือศีลอดและนมาซเสมอ และเขาเป็นเสมือนเช่นมุญาฮิดผู้ซึ่งสละอุทิศชีวิตของตนบนวิถีทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) เมื่อผู้รู้คนหนึ่งสิ้นชีวิตลงจะทำให้เกิดช่องว่างในศาสนา ซึ่งไม่อาจทดแทนได้จนกระทั่งถึงวันแห่งการฟื้นคืนชีพ โดยประการเช่นนี้ นมาซของผู้รู้จึงดีกว่านมาซของบุคคลอื่นหลายเท่าเพราะว่าเป็นการกระทำที่ดีที่อยู่บนพื้นฐานของความรู้ ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า นมาซ ๒ เราะกะอัตของผู้รู้ดีกว่านมาซ ๗๐ เราะกะอัตของผู้ไ่ม่รู้ ริวายะฮฺทั้งหมดที่กล่าวมาต้องการต้องบอกว่าสังคมที่ปราศจากผู้รู้ย่อมเป็นสังคมที่ล้าหลัง ไม่มีความจำเริญ ฉะนั้น การเรียนรู้จึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่งสังคมในอุดมคติของอิสลามจึงเป็นสังคมที่มีความรู้ และมีกลิ่นอายของศาสนา มิใช่เป็นสังคมที่มีความรู้เพียงอย่างเดียวโดยปราศจากหลักการของศาสนา หรือเป็นสังคมศาสนาที่ปราศจากความรู้ ทั้งสองหลักการเป็นสิ่งสนับสนุนความสมบูรณ์ให้กันและกัน ขณะที่ปราศจากอย่างใดอย่างหนึ่งจะเป้นสาเหตุให้สังคมพบกับความวิบัติเหมือนที่เห็นอยู่ในปัจจุบันว่า สังคมที่มากมายด้วยความรู้แต่ละทิ้งคำสอนของศาสนานั้นเป็นเฉกเช่นไร ขณะที่สังคมที่บ้าคลั่งศาสนาโดยไม่สนใจต่อเสียงของชาวโลกปิดตัวเองให้อยู่ในกรอบที่มีความจำกัด ตกระกำลำบากและมีความเป็นอยู่อย่างไร อิสลามจึงไม่สนับสนุนทั้งสองกรณี สิ่งที่อิสลามสนับสนุนคือสังคมที่มีความรู้และมีกลิ่นอายของศาสนาควบคู่กันไป อิสลามยังสนับสนุนส่งเสริมผู้คนให้สังสรรค์กับผู้รู้ เพราะสิ่งนี้จะทำให้เขามีโอกาสในการได้รับผลพวงจากความรู้ของผู้รู้เหล่านั้น ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า การได้อยู่ร่วมกับผู้รู้เป็นการแสดงความเคารพภักดี (อิบาดะฮฺ) ต่ออัลลอฮฺ (ซบ.) การมองไปยังใบหน้าของผู้รู้เป้นอิบาดะฮฺ (การแสดงความเคารพภักดี) ท่านศาสดาลุกมานกล่าวแก่บุตรชายของท่านว่า โอ้ลูกรักของฉันเอ๋ย จงคบหาผู้รู้ และจงนั่งร่วมกับพวกเขาเสมอ เพราะว่าอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงชุบชีวิตแก่หัวใจด้วยรัศมีแห่งความรู้ เรื่องของความรู้และผู้รู้นั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง ถึงขนาดที่ว่าบรรดาผู้นำผู้บริสุทธิ์ (อ.) ได้กล่าวไว้ในลักษณะเดียวกันว่า ความปราโมทย์ และความกริ้วโกรธของอัลลอฮฺขึ้นอยู่กับความปราโมทย์ และความกริ้วโกรธของผู้รู้ ท่านอิมามญะอฺฟัร ซอดิก (อ.) กล่าวว่า ในวันแห่งการพิพากษา อัลลอฮฺทรงพึงพอพระทัยกับบุคคลที่ให้เกี่ยรติ และให้ความเคารพผู้รู้มุสลิม พระองค์ทรงกริ้วโกรธบุคคลที่ดูหมิ่นผู้รู้มุสลิม อิสลามได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้สูงอายุและผู้อาวุโสของสังคม ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า การให้ความเคารพต่อผู้สูงอายุคือ สัญญาณในการเคารพอัลลอฮฺ บุคคลใดก็ตามที่ไม่ให้ความเคารพต่อผู้สูงอายุ เขามิใช่พวกของฉัน ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า เมื่อใดก็ตามที่ผู้สูงอายุของชุมชนหนึ่ง หรือประเทศหนึ่งได้พบท่าน จงให้เกียรติและเคารพเขา ขณะเดียวกันอิสลามได้ประณามผู้รู้ประเภทที่ไม่ปฏิบัติตามความรู้ เอาแต่พูดเพียงอย่างเดียวหรือได้แต่สอนคนอื่นแต่ตนเองกับไม่ปฏิบัติ อัล-กุรอานกล่าวว่า أَتَأْمُرُونَ النَّاسَ بِالْبِرِّ وَتَنسَوْنَ أَنفُسَكُمْ وَأَنتُمْ تَتْلُونَالْكِتَابَ أَفَلاَ تَعْقِلُونَ พวกเจ้าบอกกล่าวให้ผู้คนกระทำความดี โดยที่พวกเจ้าลืมตัวเองกระนั้นหรือ ทั้ง ๆ ที่พวกเจ้าอ่านคัมภีร์กันอยู่ แล้วพวกเจ้าไม่ใช้ปัญญากระนั้นหรือ[๕] يَا أَيُّهَا الَّذِينَ آَمَنُوا لِمَ تَقُولُونَ مَا لَا تَفْعَلُونَ โอ้บรรดาผู้ศรัทธาเอ๋ย ทำไมพวกเจ้าจึงกล้าพูดในสิ่งที่พวกเจ้าไม่ปฏิบัติ[๖] ท่่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า ผู้รู้ที่ไม่ปฏิบัติตามความรู้ของคนเปรียบต้นไม้ที่ไร้ผล ผู้รู้ที่แท้จริงที่อิสลามตามอุดมการณ์ของอิสลามคือ ผู้รู้ที่ปฏิบัติตนตามที่ได้เรียนรู้มา มิใช่ผู้มีความรู้มากแต่ไม่ปฏิบัติตน หรือผู้รู้มากคุณสมบัติสำคัญประการสำคัญสำหรับผู้รู้คือ การนอบน้อมถ่อมตน ไม่กร้าวร้าวหรือดูถูกเหยียดหยามผู้อื่น แม้ว่าบุคคลอื่นกำลังด่าว่าหรือดูถูกเหยียดหยามก็ไม่สมควรโต้เถียงแต่จงตอบกับเขาด้วยถ้อยวาจาที่สุภาพ ผู้รู้ต้องหลีกเลี่ยงการกระทำที่ไม่ดีและภาระกิจการงานที่จัดว่าเป็นมักรูฮฺทั้งหมด ที่สำคัญกว่าอื่นใดผู้รู้ต้องขัดเกลาจิตวิญญาณและยกระดับจิตใจของตนตลอดเวลา ________________________________________ [๑]ซุมัร ๙ [๒]อันอาม ๕๐ [๓]อัรเราะอฺดฺ ๑๖ [๔]อัลมุญาดะละฮฺ ๑๑ [๕]บะเกาะเราะฮฺ ๔๔ [๖]ซอฟ ๒