ชีวประวัติท่านอิมามอะลี (อ.)
ชีวประวัติท่านอิมามอะลี (อ.)
0 Vote
134 View
ชีวประวัติท่านอิมามอะลี (อ.)
ท่านอิมามอะลี (อ.) ถือกำเนิดในกะบะฮฺ ตรงกับวันที่ 13 เดือน เราะญับ ปีที่ 30 หรือปีช้างมารดาของท่านมีนามว่า ท่านหญิงฟาฏิมะฮฺ บินติ อะซัด บิดาของท่านมีนามว่า อบูฏอลิบ ท่านอิมามอะลี (อ.) ชะฮีดที่เมืองกูฟะฮฺ ตรงกับวันที่ 21 เดือน เราะมะฎอน ปีที่ 40 ฮิจเราะฮฺศักราช สุสานอันประเสริฐของท่านอยู่ที่เมืองนะญัฟอัชรอฟ ประเทศอีรัก วิถีชีวิตของท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นที่ทราบกันดีว่า ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ถือกำเนิดในปีที่ 10 ก่อนการแต่งตั้งท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) และทุก ๆ เหตุการณ์ที่เกิดขั้นในประวัติศาสตร์อิสลาม ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้อยู่เคียงข้างท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) มาตลอดและตลอดระยะเวลา 30ปี หลังจากที่ท่านศาสดาได้เสียชีวิตไป เราสามารถแบ่งชีวิตความเป็นอยู่ของท่านอิมามอะลี (อ.) ออกเป็น 5 สมัยดังต่อไปนี้ - สมัยแรก นับตั้งแต่ถือกำเนิดจนถึงการแต่งตั้งท่านศาสดมุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) - สมัยที่สอง หลังจากการแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จนถึงการอพยพสู่นครมะดีนะฮฺ - สมัยที่สาม หลังจากการอพยพของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จนถึงช่วงการเสียชีวิตของท่าน -สมัยที่สี่ หลังจากการเสียชีวิตของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จนถึงการได้รับตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺ - สมัยที่ห้า ช่วงการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺอันประเสริฐ สมัยแรก นับตั้งแต่ช่วงถือกำเนิดจนถึงการแต่งตั้งท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ในข้างต้นได้กล่าวแล้วว่า ถ้าแบ่งการใช้ชีวิตของท่านอิมามอะลี (อ.) ออกเป็น 5 สมัยด้วยกัน แน่นอนสมัยแรกของการใช้ชีวิตของท่านคือ ช่วงก่อนหน้าที่จะมีการแต่งตั้งท่านศาสดาเป็นศาสนฑูตของอัลลอฮฺ (ซบ.) ซึ่งช่วงนี้จะมีระยะเวลาไม่เกิน 10 ปี เพราะว่าช่วงที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ถือกำเนิดขึ้นมา ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) มีอายุประมาณ 30 ปี และเมื่อท่านศาสดามีอายุครบ 40 ปี อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้ทรงแต่งตั้งท่านให้เป็นศาสนฑูตของพระองค์ ด้วยเหตุผลข้างต้นนี้ ท่านอิมามอะลี (อ.) จึงมีอายุไม่เกิน 10 ปี ก่อนการแต่งตั้งท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ภายใต้การดูแลของท่านศาสดา ในช่วงระยะเวลานี้เป็นช่วงแห่งการเจริญเติบโตของร่างกาย และจิตวิญญาณ และการยอมรับการอบรมสั่งสอนต่าง ๆ ท่าน อิมามได้ใช้ชีวิตอยู่ในบ้านของท่านศาสดา ภายใต้การชี้นำของท่าน ซึ่งนักประวัติศาสตร์ได้ทำการบันทึกไว้ว่า ในปีหนึ่ง ความอดยากแร้งแค้นได้เกิดขึ้นที่เมืองมักกะฮฺ ซึ่งสมัยนั้นท่านอบูฏอลิบมีศักดิ์เป็นลุงของท่านศาสดา มีลูกและภรรยาหลายคนทำให้มีค่าใช้จ่ายสูง ท่านศาสดาได้เสนอต่อท่านอับบาซซึ่งเป็นลุงของท่านศาสดอีกคนหนึ่ง ที่มีฐานะร่ำรวยทีสุดของชาวบนีฮาชิมว่า “ในพวกเราทุกคนรับเอาลูกของท่านอบูฏอลิบไปดูแลที่บ้านหนึ่งคน เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระความลำบากของท่านอบูฏอลิบให้ลดน้อยลง ท่านอับบาซได้เห็นด้วยกับข้อเสนอดังกล่าว ในที่สุดทั้งสองได้เดินทางไปที่บ้านของท่านอบูฏอลิบ และได้อธิบายให้ท่านอบูฏอลิบทราบถึงเป้าหมายของการมาในครั้งนี้ ท่านอบูฏอลิบได้ยอมรับข้อเสนอดังกล่าว ท้ายสุดท่านอับบาซได้พาท่านญะอฺฟัรไปอยู่ในการอุปการะของท่าน ส่วนท่านศาสดาได้พาท่านอิมามอะลี (อ.) ไปอยู่ในการดูแลของท่านเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ ท่านอิมามอะลี (อ.) จึงได้อาศัยอยู่ที่บ้านของท่านศาสดา จนกระทั่งท่านศาสดาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสนฑูตของพระผู้เป็นเจ้า และให้ท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นผู้ช่วยเหลือ และเป็นผู้ปฏิบัติตามท่านศาสดา หมายเหตุ ศึกษาเพิ่มเติมได้จากหนังสือดังต่อไปนี้ - อิบนุ อะซีร, อัลกามิลฟิลตารีค, เบรุต. ดารุลซอดีร ปี 1399 ฮ.ศ. เล่ม 2 หน้า 58 - อิบนุ ฮิชาม, อับดุลมาลิก, ซีเราะตุลนบูวัต, ค้นค้วาโดย มุซเฎาะฟาชิกอ, อิบรอฮีมอับยารี, อับดุลฮาฟีซซะละบี, ไคโร เรียบเรียงโดย มุซเฏาะฟาบาบีฮาละบี ปี 1355 ฮ.ศ. เล่ม 1 หน้า262 - ฏ็อบรียฺ มุฮัมมัด อิบนิญะรีร ตารีคคุลอุมัม วัลมุลกฺ, เบรุต, ดารุลกอมูซซิลฮะดีซ เล่ม 2 หน้า 213 - อิบนุ อบีลฮะดีด, อธิบายนะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ ค้นคว้าโดย มุฮัมมัดอบุลฟัฏลฺ อิบรอฮีม พิมพ์ครั้งที่ 1 ไคโร จัดพิมพ์โดยอะฮฺยากุตุบุลอาเราะบียะฮฺ ปี 1378 เล่ม 13 หน้า 119 ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) หลังจากที่ได้รับท่านอิมามอะลี (อ.) ไปอยู่ในการดูแลท่านได้กล่าวกับท่านอิมามอะลี (อ.) ว่า “สาเหตุที่ฉันเลือกเจ้าคือ เหตุผลเดียวกันกับที่อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงเลือกเจ้าเพื่อฉัน” (อบูฟัจรฺ เอซฟาฮานี, มะกอติลุลตาบิยีน, นะญัฟ พิมพ์โดย มักตะบุลดารียะฮฺ หน้า 15) สมัยที่ท่านศาสดายังเป็นเด็กมีอายุได้ประมาณ 2 ปี (หลังจากท่านอับดุลมุฏอลิบเสียชีวิต) ท่านได้อาศัยอยู่ที่บ้านของที่อบูฏอลิบ และอยู่ภายใต้การดูแลของท่านอบูฏอลิบจนเติบใหญ่ ท่านศาสดาต้องการที่จะทดแทนบุณคุณของท่านอบูฏอลิบ ซึ่งในสมัยที่ท่านศาสดาเป็นเด็กได้สร้างความลำบากและภาระรับผิดชอบให้กับท่านอบูฏอลิบ และภรรยาของท่าน (ฟาฏิมะฮฺ บินติอะซัด) อย่างมากมาย ด้วยการเลี้ยงดูและอบรมสั่งสอนบุตรของท่านเป็นการตอบแทน ซึ่งในจำนวนลูกหลานของท่านอบูฏอลิบทั้งหมด ท่านศาสดาได้เลือกท่านอิมามอะลี (อ.) ไปอยู่ในความรับผิดชอบของท่าน ท่านอิมามอะลี (อ.) ในสมัยที่ท่านดำรงตำแหน่งเคาะลิฟะฮฺท่านได้กล่าวถึงสมัยที่ท่านอยู่กับท่านศาสดาในคำเทศนาที่มีชื่อว่า “กอชีอะฮฺ” ไว้ดังนี้ว่า “พวกท่านทั้งหลาย (เซาะฮาบะฮฺนบี ) ทราบดีถึงสถานะภาพและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างฉันกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และพวกท่านรู้ดีว่าสมัยที่ฉันยังเป็นทารกอยู่นั้น ท่านศาสดาได้อุ้มฉันไว้ในอ้อมกอดของท่านเสมอ และให้ฉันนอนอยู่บนเตียงนอนเคียงข้างกับท่าน ฉันได้สัมผัสร่างกายของท่าน และสูดดมกลิ่นไอความหอมของท่าน และท่านเป็นผู้ป้อนอาหารให้ฉันฉันก็เปรียบเสมือนเด็กทั่วไปคนหนึ่ง ที่คอยติดตามแม่ของเขาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งไม่ว่าท่านศาสดาจะไปไหนฉันก็จะร่วมทางไปกับท่านด้วยเสมอ ท่านศาสดาได้สอนมารยาทที่ดีงามให้กับฉัน และฉันได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนเหล่านั้นอย่างเคร่งครัด (นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ คำเทศนาที่ 192) ท่านอิมามอะลี (อ.) ในถ้ำฮิรรอ ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ก่อนหน้าที่จะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นผู้เผยแผ่สารของพระผู้เป็นเจ้า ท่านได้นมัสการอยู่ในถ้ำเป็นเวลา 1 เดือน (ฮิรรอ หมายถ้าที่อยู่บนภูเขาลูกหนึ่งที่อยู่ทางตอนเหนือของมักกะฮฺ) ซึ่งในช่วงนี้ท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นผู้นำอาหารไปส่งให้ท่านและเมื่อถึงช่วงสุดท้ายของเดือน ท่านศาสดาได้กลับบ้าน สถานที่แรกที่ท่านศาสดาไปคือ มัสญิดฮะรอม ท่านได้ทำการเฏาะวาฟรอบกะอฺบะฮฺ 7 รอบตามที่พระองค์ทรงประสงค์ หลังจากนั้นท่านจึงเดินทางกลับบ้าน (อิบนุ ฮิชาม, อับดุลมาลิก, ซีเราะตุลนบูวัต, ค้นค้วาโดย มุซเฎาะฟาชิกอ, อิบรอฮีมอับยารี, อับดุลฮาฟีซซะละบี, ไคโร เรียบเรียงโดย มุซเฏาะฟาบาบีฮาละบี ปี 1355 ฮ.ศ. เล่ม 1 หน้า252) จากที่กล่าวมานี้ แสดงให้เห็นว่าท่านศาสดามีความพึงพอใจต่อท่านอิมามอะลี (อ.) เป็นพิเศษ เพราะท่านได้พาท่านอิมามอะลี (อ.) ไปอยู่ในถ้ำด้วยเป็นเวลา 1 เดือน เมื่อถึงเวลาที่ฑูตสวรรค์ (ญิบรออีล) นำสารมาให้ท่านศาสดาเป็นครั้งแรก และได้ทำการแต่งตั้งให้ท่านเป็นผู้ประกาศสารของพระผู้เป็นเจ้า ท่านอิมามอะลี (อ.) ก็อยู่ในเหตุการณ์เคียงข้างท่านศาสดา ณ ถ้ำฮิรรอด้วย และวันนั้นก็คือเดือนที่ท่านศาสดาได้เดินทางไปที่ถ้ำฮิเราะอฺเพื่อทำการนมัสการพระผู้เป็นเจ้า ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวไว้ในคำเทศนากอชิอะฮฺอีกว่า ท่านศาสดาจะเดินทางไปที่ถ้ำฮิรรอทุกปี เพื่อทำการนมัสการต่อพระองค์อัลลอฮฺ (ซบ.) ซึ่งไม่มีใครเคยเห็ยท่านอิบาดะฮฺเลยนอกจากฉันเพียงคนเดียว และขณะที่วะฮฺยูได้ถูกประทานลงมา ฉันได้ยินเสียงร้องของมารร้าย ฉันได้ถามท่านศาสดาว่า นั่นเป็นเสียงของใคร ท่านกล่าวว่า “นั่นคือเสียงร้องไห้คร่ำครวญของมารร้าย ซึ่งสาเหตุที่มันร้องไห้ก็เนื่องจากว่า มันหมดหวังที่จะหลอกลวงบรรดาผู้ที่ปฏิบัติตามวะฮฺยู และสิ่งที่ฉันได้ยินเจ้าก็ได้ยิน สิ่งที่ฉันเห็นเจ้าก็เห็นเช่นกัน นอกเสียจากว่าเจ้าไม่ใช่ศาสดาแต่ทว่าเจ้าคือตัวแทนของฉัน” (นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ คำเทศนาที่ 192) จากคำเทศนาของท่านอิมามอะลี (อ.) ถ้าหากจะกล่าวว่า ท่านศาสดาได้ทำการนมัสการพระผู้เป็นเจ้าภายหลังจากที่ท่านได้รับการแต่งตั้งตามความเชื่อของมุสลิมทั่วไป จะขัดแย้งกับคำพูดของท่านอิมามทันที ซึ่งสิ่งนี้แสดงให้เห็นว่า ท่านศาสดาได้ทำการนมัสการอัลลอฮฺ (ซบ.) ก่อนหน้าที่จะได้รับการแต่งตั้ง ด้วยเหตุนี้ คำเทศนาของท่านอิมามจึงมีความสัมพันธ์ในสมัยก่อนหน้าที่ท่านศาสดาจะได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสนฑูต ความบริสุทธิ์ทางด้านจิตใจของท่านอิมามอะลี (อ.) ผนวกกับได้รับการอบรมสั่งสอนจากท่านศาสดา เป็นสาเหตุทำให้ท่านอิมามาขณะที่ยังเป็นเด็กอยู่ได้เห็นและได้ยินในสิ่งที่คนธรรมดาทั่วไปไม่อาจสัมผัสได้ อิบนุ อบีลฮะดีด มุอฺตะซิละฮฺ ได้บันทึกไว้ในหนังสือ คำอธิบายนะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺว่า “ในหนังสือ ซิฮาฮฺได้บันทึกไว้ว่า เมื่อครั้งที่ฑูตสวรรค์ได้นำวะฮฺยูมาให้ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) เป็นครั้งแรก และทำการแต่งตั้งท่านเป็นศาสนฑูต ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้อยู่เคียงข้างท่านศาสดา”(อิบนุ อบีลฮะดีด, คำอธิบายนะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ, ค้นคว้าโดย มุฮัมมัดอบุลฟัฎลฺ อิบรอฮีม, ไคโร, จัดพิมพ์โดย ดารุล อะฮฺยากุตุบิลอาเราะบียะฮฺ ปี 1378 เล่ม 13 หน้า 108) มีบันทึกจากท่านอิมามมุฮัมมัด บากิร (อ.) กล่าวว่า หลังจากที่ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสนฑูต ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้อยู่เคียงข้าท่านศาสดา ท่านได้เห็นรัศมีแห่งนบูวัต ได้ยินเสียงของฑูตสวรรค์ หลังจากนั้นท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) กล่าวว่า “ถ้าหากฉันไม่ใช่ศาสดาคนสุดท้าย เจ้าเป็นผู้เหมาะสมที่สุดที่จะไดรับตำแหน่งนี้ แต่เจ้าคือ ตัวแทนของฉัน เป็นผู้สืบทอดมรดกของฉัน เจ้าคือหัวหน้าแห่งตัวแทนของฉัน และเป็นหัวหน้าของบรรดาผู้ที่มีความยำเกรงทั้งหลาย” (เล่มเดิม หน้า 210) สมัยที่สอง หลังจากการแต่งตั้งท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จนถึงการอพยพสู่นครมะดีนะฮฺ ในช่วงที่สองของชีวประวัติของท่านอิมามอะลี (อ.) เริ่มตั้งแต่หลังจากท่านศาสดาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสนฑูตจนกระทั่งท่านอพยพสู่นครมะดีนะฮฺ ซึ่งเป็นระยะเวลาประมาณ 13 ปี ในสมัยนี้ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้รับใช้ศาสนาด้วยการเสียสละและการยืนหยัดที่ยิ่งใหญ่ เพื่อที่จะทำให้อิสลามได้แพร่กระจายออกไป ตามหน้าประวัติศาสตร์ของอิสลามไม่มีใครที่มีส่วนร่วมรับใช็อิสลามมากเท่าท่านอิมามอะลี (อ.) บุคคลแรกที่ยอมรับอิสลาม เกียรติยศประการแรกที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้รับคือ ท่านเป็นบุคคลแรกที่เข้ารับอิสลาม หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ท่านอิมามอยู่ในสมัยแรกแห่งการประกาศศาสนาอิสลาม เนื่องจากท่านอิมามนับถือพระเจ้าองค์เดียวตั้งแต่ยังเป็นเด็ก และท่านไม่เคยนับถือรูปปั้นมาก่อนหน้านั้นเลย (อัลมะนากิบ,นะญัฟ, มักตะบะตุลอาเราะบียะฮฺ ปี 1355 หน้า 18) ขณะที่บรรดาเซาะฮาบะฮฺท่านอื่นไม่มีใครเป็นเช่นนี้เลย สมัยแรกแห่งการเข้ารับอิสลาม อัล-กรุอานได้ประกาศยกย่องไว้อย่างชัดเจนว่า บรรดาผู้ที่เข้ารับอิสลามในสมัยแรก เขามีค่ายิ่งในทัศนะของผู้เป็นเจ้า อัลลอฮฺ (ซบ.) ตรัสไว้ในอัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ อัล-วากิอะฮฺ อายะฮฺที่ 10-11 ว่า “และกลุ่มแนวหน้า คือกลุ่มแนวหน้า เขาเหล่านั้น คือบรรดาผู้ใกล้ชิด” ถ้าหากให้ความสำคัญในประเด็นที่วา “ผู้ที่เข้ารับอิสลามก่อน” จะพบว่าบรรดาบุคคลที่เข้ารับศาสนาอิสลาม ก่อนการยึดครองนครมักกะฮฺ ซึ่งการที่พวกเขาได้เสียสละทรัพย์สินและชีวิตของพวกเขาในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า ย่อมมีความประเสริฐกว่าบรรดาผู้ที่เข้ารับอิสลามหลังจากที่ได้ยึดครองนครมักกะฮฺเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตามบุคคลทั้งสองกลุ่มนี้ไม่สามารถเทียบเท่า บรรดาผู้ที่เข้ารับอิสลามก่อนหน้าการอพยพได้อย่างแน่นอน และย่อมไม่ทัดเทียมกันแน่นอนซึ่งในทัศนะของพระองค์ชนกลุ่มแรก ย่อมมีฐานันดรเหนือกว่า ทรงตรัสว่า“และไฉนเล่าพวกเจ้าจึงไม่บริจาคในหนทางของอัลลอฮฺ ทั้ง ๆ ที่มรดกแห่งชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดินนี้เป็นของอัลลอฮฺ ในหมู่พวกเจ้านั้นมีผู้บริจาคและได้ต่อสู้ (บนหนทางของอัลลอฮฺ) ก่อนการพิชิต (นครมักกะฮฺ) ชนเหล่านั้นย่อมมีฐานะสูงส่งกว่าบรรดาผู้บริจาคและต่อสู้ (บนทางของอัลลอฮฺ) หลังการพิชิต(นครมักกะฮฺ) อัลลอฮฺทรงสัญญาความดีงามแก่ทั้งสองฝ่าย และอัลลอฮฺทรงรอบรู้อย่างละเอียดในสิ่งที่พวกเจ้ากระทำ” (ซูเราะฮฺ อัล-ฮะดีด อายะฮฺที่ 10) สาเหตุที่อิหม่านหรือการศรัทธาของมุสลิมที่ยอมรับอิสลามก่อนหน้าที่อิสลามจะยึดครองนครมักกะฮฺ (ในปีที่ 10 ฮ.ศ) เหนือกว่าก็เพราะว่าในสมัยที่พวกเขามีศรัทธามั่นต่อศาสนาอิสลาม อิสลามในครบสมุทรอาหรับในสมัยนั้น ยังไม่พบกับความยิ่งใหญ่ประการใด ซึ่งในสมัยนั้นนครมักกะฮฺ คือ ศูนย์กลางของพวกบูชารูปปั้น และมีอันตรายเกิดขึ้นได้ตลอดเวลากับบรรดามุสลิมในทุกๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นร่างกายและทรัพย์สิน และสำหรับบรรดามุสลิมที่ยอมรับอิสาลามภายหลังจากการอพยพสู่มาดีนะฮฺหรือภายหลังจากที่บรรดาเผ่าต่างๆ มีศรัทธาต่อศาสนิสลาม เพราะความรุ่งเรืองของอิสลาม และบางกลุ่มจากเครือญาติของพวเขามีศรัทธาต่ออิสลาม แต่ทว่าอันตรายก็ยังคงหลงเหลืออยู่ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ยอมรับศาสนาอิสลาม เสียสละชีวิต และทรัพย์สิน ภายใต้เงื่อนไขและสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกัน ย่อมมีเกีรยติเป็นการเฉพาะ และสำหรับบรรดาผู้ที่ยอมรับศาสนาอิสลามในยุคแรกของการเผยแผ่ศาสนาอิสลามของท่านสาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) ซึ่งไม่มีผู้ใดให้การสนับสนุนท่าน แม้แต่ชาวกุเรชก็ตาม แน่นอนพวกเขาย่อมมีเกียรติและตำแหน่งที่เหนือกว่า เหตุผลที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ยอมรับอิสลามเป็นคนแรก หลักฐานต่าง ๆ เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์อย่างมากมาย ซึ่งไม่สามารถนำมากล่าวได้ทั้งหมด ณ ที่นี้จะขอนำเสนอบางส่วนเท่านั้น เช่น 1. ท่านอิมามอะลี (อ.) คือบุคคลแรกที่ยอมรับอิสลามก่อนคนอื่น เกี่ยวกบเรื่องนี้ท่่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวกับสาวกของท่านว่า ในวันกิยามะฮฺบุคคลแรกที่จะเข้ามาหาฉัน ณ บ่อน้ำเกาซัรคือ บุคคลแรกในหมู่พวกท่านที่เขาเข้ารับอิสลามก่อนใครทั้งสิ้น เขาผู้นั้นคือ อะลี บุตร ของ อบูฏิลิบ ดูจากหนังสือ อัลอิซตีอาบ ฟีมะอฺริฟะติล อัซฮาบ พิมพ์ครั้งแรก เบรุต ดารุล อะฮฺยาตุรอซิลอะเราะบี ฮ.ศ. 1328 เล่ม 3 หน้า 28, อิบนิอบิลฮะดีด ชัรฮฺนะญุลบะลาเฆาะฮฺ ค้นคว้าโดย มุฮัมมัด อบุลฟัลฎฺ อิบรอฮีม พิมพ์ครั้งแรก ไคโร สำนักพิมพ์ อะฮฺยากุตุบิลอะเราะับียะฮฺ ฮ.ศ. 1378 เล่ม 13 หน้า 119 ,ฮากิม เนะฮฺชาบูรียฺ อัลมุสตัดร็อก อะลัล เซาะฮีฮัยนฺ ค้นคว้าโดย อับดุรเราะฮฺมาน มัรอะชียฺ พิมพ์ครั้งแรก เบรุต ดารุลมะอฺฟะฮฺ ฮ.ศ. 1406 เล่ม 3 หน้า 17 2. บรรดานักปราชญ์และนักรายงานฮะดีซได้บันทึกไว้ว่า ท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) จันทร์แต่งตั้งในวันจันทร์ และในวันรุ่งขึ้นท่านอิมามอะลี (อ.) ได้นมาซร่วมกับท่านศาสดา ดูได้จาก อัลอิซตีฮาบ ฟีมะอฺริฟะติล อัซฮาบ พิมพ์ครั้งแรก เบรุต ดารุลอะฮฺยาตุรอซิลอะเราะบียะฮฺ ฮ.ศ. 1328 เล่ม 3 หน้า 23,อิบนิอะซีร อัลกามิลฟิตตารีค เบรุต ฮ.ศ. 1399 เล่ม 2 หน้า 57, ฮากิม เนะฮฺชาบูรียฺ อัลมุซตัดร็อกฟีดเซาะฮีฮัยนฺ ค้นคว้าโดย อับดุรเราะฮฺมาน มัรอะชียฺ พิมพ์ครั้งแรก เบรุต ดารุลมะอฺริฟะฮฺ ฮ.ศ. 1406 เล่ม 3 หน้า 112 3. อิมามอะลี (อ.) กล่าวไว้ในคำเทศนาบทที่ 192 กอชีอะฮฺว่า วันที่อิสลามยังคงอยู่กับครอบครัวของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งยังไม่ได้ประกาศอย่างเป็นทางการท่านหญิงคอดิยะฮฺ และฉันเป็นบุคคลทีี่สามที่อยู่ร่วมกับท่าน ฉันได้เห็นรัศมีของวะฮฺยูและได้สูดดมกล่ินไอของนบูวัต 4. ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ท่านเข้ารับอิสลามเป็นคนแรกไว้ในคำเทศนาที่ 131 ว่า โอ้พระผู้อภิบาลของฉัน ฉันคือบุคคลแรกที่กลับมาหาพระองค์ ฉันคือบุคคลแรกที่ได้ยินเสียงแห่งวฮฺยู ฉันคือบุคคลแรกที่ตอบรับคำเชิญของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และนอกจากฉันแล้วไม่มีบุคคลใดนมาซตามหลังท่านศาสดา 5. ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าว่า ฉันคือบ่าวของอัลลอฮฺ (ซบ.) เป็นพี่น้องกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นผู้สัจจริง แต่คำพูดเช่นนี้บรรดาผู้โกหกมดเท็จทั้งหลายจะไม่กล่าวถึงมัน ฉียได้นมาซร่วมกับท่านศาสดาเป็นเวลานาน 8 ปี ก่อนหน้าพวกเขาทั้งหลาย ดูจากหนังสือ ฏ็อบรียฺ มุฮัมมัด อิบนิญะรีร, ตารีคุลอุมัม วัลมุลกฺ เบรุต ดารุลกอมูซิลฮะดีซ เล่ม 2 หน้า 312 , อิบนิอะซีร อัลกามิลฟิลตารีค เบรุต ฮ.ศ. 1399 เล่ม 2 หน้า 57, และเนื้อหาเช่นเดียวกันในหนังสือ อัลมุซตัดร็อก ฮากิม เนะฮฺชาบุรียฺ ค้นคว้าโดย อับดุรเราะฮฺมาน มัรอะชียฺ พิมพ์ครั้งแรก เบรุต ดารุลมะอฺริฟะฮฺ์ ปี 1406 เล่ม 3 หน้า 112 6.อิบนิกิซคันดี กล่าวว่า สมัยที่อิสลามกำลังเผยแผ่อยู่นั้น ฉันเป็นพ่อค้าน้ำหอม และครั้งหนึ่งฉันมีโอกาสเดินทางไปทำการค้าที่นครมักกะฮฺฉันได้เป็นแขกของท่านอับบาซซึ่งเป็นพ่อค้าคนหนึ่งในเมืองมักกะฮฺ และวันหนึ่งฉันได้นั่งอยู่ในมัสญิดฮะัรอมพร้อมกับท่านอับบาซ ซึ่งตรงกับเวลาเที่ยงพอดี ได้มีชายวัยกลางคนเดินเข้ามาในมัสญิด เขามีใบหน้าที่ขาวนวล มีรัศมีเหมือนกับดวงจันทร์ ชายคนนั้นได้มองไปบนท้องฟ้าหลังจากนั้นได้ยืนหันหน้าไปทางกะบะฮฺและเริ่มทำการขอพร (นมาซ) ขณะนั้นได้มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งมีลักษณะท่าทางเหมือนกับชายคนแรกได้ไปยืนอยู่ทางด้านขวามือของเขา หลังจากนั้นได้มีสตรีอีกคนหนึ่งไปยืนหลังจากชายทั้งสองคนและทั้งสามได้ร่วมกันขอพร ฉันแปลกใจเป็นอย่างมากที่ได้เห็นการกระทำดังกล่าว เพราะนี่คือศูนย์กลางของพวกบูชารูปปั้นทั้งหลาย แต่ทั้งสามคนได้ปฏิบัติในรูปแบบที่ไม่ใช่บรรดาพวกบูชารูปปั้นได้กระทำกัน ฉันได้หันไปบอกกับท่านอับบาซว่า เกิดอะไรขึ้นแล้ว ท่านอับบาซได้ถามฉันว่ารู้จักบุคคลทั้งสามไหม ฉันตอบว่าไ่ม่ เขากล่าวว่า คนแรกที่เดินเข้ามาในมัสญิดและยืนอยู่ด้านหน้ากับชายคนที่สองนั้นเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน คนแรกชื่อว่า มุฮัมมัด บุตร ของอับดุลลอฮฺ ส่วนคนที่สองชื่อว่า อะลี บุตร อบูฏอลิบ ส่วนสตรีท่านนั้นเป็นภรรยาของชายคนแรกชื่อว่า คอดิญะฮฺ และมุฮัมมัดได้บอกเสมอว่า ศาสนาของเขาได้ถูกประทานมาจากพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งนอกจากสามคนนี้แล้วไม่มีบุคคลใดปฏิบัติตามอีก ดูจากหนังสือ อิบนุ อบิลฮะดีด ชัรฮฺนะญุลบะลาเฆาะฮฺ ค้นคว้าโดย มุฮัมมัด อบุลฟัฎลฺ ิอิบรอฮีม พิมพืครั้งแรก ไคโร ฮ.ศ. 1378 เล่ม 3 หน้า 22ต, ฏ็อบรียฺ มุฮัมมัด อิบนิ ญะรีร ตารีคอุมัม วัลมุลกฺ เบรุต ดารุลกอมูซิลฮะดีซ เล่ม 2 หน้า 212 และนี่คือเรื่องราวที่ดีงามที่แสดงให้เห็นว่าในสมัยแรกแห่งการประกาศศาสนาของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) นอกจากภรรยาของท่านและอิมามอะลีแล้วไม่มีบุคคลใดยอมรับอิสลามอีก ตัวแทนของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้ประกาศศาสนาอย่างลับ ๆ อยู่นานประมาณ 3 ปี หลังจากนั้้นอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงมีพระบัญชาให้ท่านทำการประกาศศาสนาอย่างเป็นทางการต่อหน้าสาธารณชน หลังจาก 3 ปีญิบรออีลได้นำวะฮียฺมาบอกแก่ท่านศาสดาว่า อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงมีบัญชาให้ท่านประกาศเชิญชวนญาติพี่น้องชั้นใกล้ชิด อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ อัชชุอะรออฺ กล่าวว่าوَأَنذِرْ عَشِيرَتَكَ الْأَقْرَبِينَ وَاخْفِضْ جَنَاحَكَ لِمَنِ اتَّبَعَكَ مِنَ الْمُؤْمِنِينَ فَإِنْ عَصَوْكَ فَقُلْ إِنِّي بَرِيءٌ مِّمَّا تَعْمَلُونَ
จงตักเตือนวงศาคณาญาติของเจ้าที่ใกล้ชิด และจงลดปีกของเจ้าแก่บรรดาผู้ศรัทธาที่ปฏิบัติตามเจ้า หากพวกเขาฝ่าฝืนเจ้า ก็จงกล่าวเถิดแท้จริงฉันขอปลีกตัวให้พ้นจากสิ่งที่พวกท่านปฏิบัติกันอยู่ สาเหตุที่ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ทำการเชิญชวนเครือญาติของท่านก่อน เนื่องจากว่าถ้าหากบุคคลใกล้ชิดกับท่านไม่ยอมรับการมีอยู่ของพระผู้เป็นเจ้า หรือการเป็นผู้นำของท่าน แน่นอนการเชิญชวนบุคคลอื่น ๆ ก็จะไม่เกิดผลใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากว่าบุคคลที่ใกล้ชิดกับท่านย่อมรู้ดีถึงความลับของท่าน ความประพฤติที่ดีและอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับตัวท่าน ด้วยเหตุนี้ สามารถกล่าวได้ว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นผู้ถือสาส์นจากพระผู้เป็นเจ้าจริง แม้ว่าจะมีผู้คนจำนวนน้อยนิดปฏิเสธก็ตาม ด้วยสาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ท่านศาสดาจึงได้สั่งให้ท่านอะลีเชิญบรรดาผู้ทรงคุณวุฒิแห่งตระกูลบนีฮาชิมจำนวน 45 คนมาร่วมรับประทานอาหารกลางวัน และให้ท่านอะลีเป็นผู้จัดเตรียมอาหารเพื่อรับรองแขกให้พร้อม เมื่อแขกได้มาพร้อมเพรียงกันและร่วมรับประทานอาหารเสร็จแล้ว อบูละฮับ ซึ่งมีศักดิ์เป็นลุงคนหนึ่งของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวคำพูดที่ไม่ดีออกมาจึงทำให้การเชิญชวนของท่านศาสดาต้องชะงักลง และแขกคนอื่น ๆ ก็ได้แยกย้ายกันกลับไป ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ตัดสินใจทำการเชิญชวนใหม่อีกครั้งในวันรุ่งขึ้น ซึ่งในครั้งนี้ไม่มีอบูละฮับเข้าร่วมด้วย ท่านศาสดาได้สั่งให้ท่านอะลีตระเตรียมอาหารเหมือนเดิม และสั่งให้เชิญตระกูลบนีฮาชิมมาเป็นแขกอีกครั้งเพื่อร่วมรับประทานอาหารกลางวัน และฟังคำเทศนาของท่าน เมื่อรับประทานอาหารเสร็จเรียบร้อยท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวว่า ไม่มีใครในหมู่พวกท่านที่จะมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่พวกท่านเหมือนกับฉัน ฉันได้นำสิ่งที่ดีที่สุดทั้งโลกนี้และโลกหน้ามามอบให้แก่พวกท่าน พระผู้เป็นเจ้าได้มีบัญชามายังฉันให้ทำการเชิญชวนพวกท่านสู่การเคารพภักดีต่อพระเจ้าองค์เดียว และการเป็นศาสนทูตของฉัน (นบูวัต) มีใครในหมู่พวกท่านบ้างไหมที่จะช่วยเหลือฉัน เพื่อจะได้เป็นพี่น้องกับฉัน เป็นตัวแทน และเป็นผู้สืบทอดแทนฉัน หลังจากนั้นท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้หยุดเทศนาชั่วขณะหนึ่ง เพื่อรอดูว่าจะมีใครตอบรับคำเชิญชวนของท่านบ้าง แต่ไม่มีเสียงตอบรับในที่ประชุมเงียบสนิท ทุกคนต่างหลบหน้าท่านศาสดาไม่มีใครกล้าสบสายตาท่าน แต่ในที่นั้นมีผู้กล้าหาญเฉกเช่นท่านอะลีอยู่ด้วย ซึ่งตอนนั้นท่านมีอายุแค่ 16 ปีเท่านั้น ท่านอะลีได้ลุกขึ้นยืนและกล่าวเสียงดังว่า.. โอ้ ท่านศาสดาแห่งอัลลอฮฺ ฉันจะเป็นผู้ช่วยเหลือท่านเองในการประกาศสาส์นแห่งพระผู้เป็นเจ้า พร้อมกันนั้นท่านได้จับมือของท่านศาสดาเพื่อเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงคำมั่นสัญญา หลังจากนั้นท่านศาสดาได้สั่งให้ท่านอะลีนั่งลง และท่านได้กล่าวซ้ำอีกครั้ง แต่ก็ไม่มีใครตอบรับเช่นเคย ท่านอะลีได้ลุกขึ้นยืน และประกาศให้คำมั่นสัญญาแก่ท่านศาสดาดังเดิม ท่านศาสดาได้สั่งให้ท่านอะลีนั่งลงอีกครั้ง และท่านได้ประกาศเป็นครั้งที่สามแต่ก็ไม่มีเสียงตอบรับเหมือนเดิม นอกจากคำมั่นสัญญาของท่านอะลี ซึ่งท่านได้ประกาศยืนยันที่จะเป็นผู้ช่วยเหลือท่านศาสดา ในเวลานั้นเองท่านศาสดาได้จับมือของท่านอะลีชูขึ้น และกล่าวว่า … โอ้ พี่น้อง และเครือญาติที่ใกล้ชิดของฉัน อะลีคือ พี่น้องและเป็นตัวของฉันในหมู่พวกท่าน ภายหลังจากฉัน รายงานนี้มีบันนทึกอยู่ใน ฏ็อบรียฺ มุฮัมมัด อิบนิญะรีร ตาีรีคุลอุมัม วัลมุลกฺ เบรุต ดารุลกอมูซิลฮะดีซ เล่ม 2 หน้า 217, อิบนิ อะซีร อัลกามิลฟิตตารีค เบรุต ดารุซเซาะดีร ฮ.ศ. 1399 เล่ม 2 หน้า 63, อิบนุอบิลฮะดีด ชัรฮฺนะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ ค้นคว้าโดย มุฮัมมัด อบุลฟัฎลฺ อิบรอฮีม พิมพ์ครั้งแรก โดย อะฮฺยากุตุบอะเราะบียะฮฺ ฮ.ศ. 1378 เล่ม 13 หน้า 211 สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ หากสังเกตจะพบว่า ท่่านศาสดา (ซ้อล ฯ) ได้แต่งตั้งตัวแทนของท่านตั้งแต่เริ่มต้นเผยแผ่ศาสนา ซึ่งในขณะนั้นไม่มีผู้ใดยอมรับอิสลามเสียด้วยซ้ำไป แต่ท่านต้องการจะบอกว่าตำแหน่งผู้นำในอิสลามเป็นตำแหน่งทีมีความสำคัญอย่างยิ่ง ฮะดีซบางบทของท่านจึงกล่าวว่า อิมามเปรียบเสมือหัวใจของเรือนร่าง ถ้าปราศจากหัวใจร่างจะอยู่ได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้ วันประกาศตัวว่า ท่านเป็นศาสนทูตกับการดำรงตำแหน่งเคาะลิฟะฮฺชองท่านอะลี (อ.) ภายหลังจากท่านคือ วันเีดียวกัน หมายถึง วันที่ท่านศาสดาได้กล่าวกับญาติพี่น้องของท่านว่า โอ้ประชาชาติทั้งหลาย ฉันคือศาสนทูตแห่งพระผู้เป็นเจ้า เป็นวันเดียวกันกับทีท่านได้ประกาศว่า อะลี คือพี่น้อง ตัวแทน และผู้สืบทอดของฉันในหมู่พวกท่านภายหลังจากฉัน ดังนั้น พวกท่านจงเชื่อฟังปฏิบัติตามเขา จากเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้น สามารถสรุปถึงความสำคัญของตำแหน่งอิมามะฮฺในศาสนาอิสลามได้ว่า ตำแหน่งนบูวัตและอิมามะฮฺในอิสลามไม่สามารถแยกออกจากันได้ ขณะที่อิมามมะฮฺคือ การนำไปสู่ความสมบูรณ์ของการเผยแผ่ หรืออีกนัยหนึ่ง อิมามะฮฺ คือความสมบูรณ์ของนบูวัตนั้นเอง ความเสียสละที่ยิ่งใหญ่ของท่านอะลี (อ.) ในค่ำที่ 13 เดือนซุลฮิจญะฮฺ หลังจากการทำสนธิสัญญา อุกบะฮฺ ครั้งที่ 2 ประชาชนชาวมะดีนะฮฺได้ทำการเชิญชวนท่านศาสดาให้มาที่เมื่องของพวกเขา ึ่งพวกเขาไห้คำมั่นสัญญาว่า จะให้การสนับสนุนและปกป้องท่านศาสดา ต่อมาในวันรุ่งขึ้นประชาชนชาวมักกะฮฺที่เข้ารับอิสลาม ได้เริ่มทยอยกันอพยพไปสู่นครมะดีนะฮฺ การอพยพของพวกเขาได้ทำให้บรรดาผู้นำของพวกกุเรชรู้สึกว่าจะเกิดความเดือนร้อนขึ้นในหมู่พวกเขา เพราะมีที่แห่งใหม่นั้นคือเมื่องมะดีนะฮฺ พร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางในการเชิญชวนประชาชนเข้าสู่อิสลาม ซึ่งพวกเขามีความเกรงกลัวว่าหลังจากที่พวกเขาร่วมมือกันในการกลั่นแกล้งท่านศาสดา และผู้ปฏิบัติตามท่านแล้ว แน่นอนว่าท่านศาสดาต้องมีแผนการในการแก้แค้นพวกเขาอย่างแน่นอน พวกเขาคาดการว่าถ้าหากท่านศาสดาไม่ต้องการที่จะทำสงครามกับพวกเขา เป็นไปได้ที่เส้นทางในการค้าขายของบรรดาพ่อค้าชาวกุเรชที่่จะต้องผ่านเขตเมืองมะดีนะฮฺจะต้องถูกปิดลงหรือุถูกข่มขู่ และเพื่อการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ปลายเดือนเซาะฟัร ปีที่ 14 ของการแต่งตั้งท่านศาสดา พวกเขาได้ทำการประชุมกันที่ดารุลนัดวะฮฺ (สถานที่ชุมนุมและปรึกษาหารือของชาวมักกะฮฺ) ซึ่งในที่ประชุมแห่งนี้บางกลุ่มได้เสนอความคิดว่าให้ขับไล่ หรือเนรเทศท่านออกไปจากเมืองมักกะฮฺ หรือก็จับขังคุก ทว่าในที่ประชุมได้ปฏิเสธข้อเสนอของชนกลุ่มดังกล่าว ในที่สุดพวกเขาลงมติเป็นเอกฉันท์ว่า ให้ฆ่าท่านศาสดาเสีย ซึ่งพวกเขารู้ดีว่าการสังหารท่านศาสดาไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพวกบนนีฮาชิมจะไม่นิ่งเฉย และจะต้องมีการล้างแค้นและการนองเลือดอย่างแน่นอน เมือเป็นเช่นนั้นพวกเขาจึงได้ตัดสินใจว่า ให้ทุกเผ่าเตรียมคนหนุ่มให้พร้อมเพื่อเข้าร่วมการสังหารท่านศาสดา เพื่อป้องกันไม่ให้มีข้อตำหนิหรือข้ออ้างภายหลังได้ว่า เผ่าของเขาไม่ได้สังหารท่านศาสดา จึงนัดกันว่าเมื่อถึงเวลากลางคืนเดือนมืดสนิทให้ทุกเผ่าส่งคนเข้าร่วมสังหารท่านศาสดาที่นอนอยูบนเตียง การกระทำเช่นนี้จะไม่มีใครรู้ว่าใครคือ ผู้สังหารท่านศาสดา และชาวบนีฮาชิมก็จะไม่สามารถล้างแค้นได้ เนื่องจากพวกเขาไม่สามารถทำสงครามกับทุกเผ่าได้ ซึ่งในที่สุดก็จะต้องยอมรับเหตุการณ์ทีเกิดขึ้น ก่อนที่ประชุมจะยุติลงทั้งหมดได้ตกลงกันว่าจะร่วมสังหารท่านศาสดาในวันที่ 1 เดือนเราะบีอุลเอาวัล อัลลอฮฺ (ซบ.) ได้กล่าวเตือนทุกแผนการของพวกเขาเอาไว้ เช่น ซูเราะฮฺัอัลอัมฟาล โองการที่ 30 กล่าวว่าوَإِذْ يَمْكُرُ بِكَ الَّذِينَ كَفَرُواْ لِيُثْبِتُوكَ أَوْ يَقْتُلُوكَ أَوْ يُخْرِجُوكَ وَيَمْكُرُونَ وَيَمْكُرُ اللّهُ وَاللّهُ خَيْرُ الْمَاكِرِينَ
และจงระลึกถึงขณะที่บรรดาผู้ปฏิเสธทั้งหลายวางแผนเพื่อกักขังเจ้า หรือสังหารเจ้า หรือเนรเทศเจ้าออกไปเมือง และพวกเขาได้วางแผนการ และอัลลอฮฺก็ทรงวางแผนด้วย ซึ่งอัลลออฮฺ ทรงเป็นผู้วางแผนที่ดีที่สุดในหมู่ผู้วางแผนทั้งหลาย หลังจากที่ชาวกุเรชได้ตัดสินว่าจะสังหารท่านศาสดา ญิบรออีลได้นำวะฮียฺมาให้ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เพื่อแจ้งถึงแผนการที่ชั่วร้ายของพวกเขา และพระองค์ได้มีบัญชาให้ท่านอพยพไปยังเมืองมะดีนะฮฺ ในช่วงเวลานั้นการทำลายแผนการของศัตรูเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับท่านศาสดา ท่านจึงได้วางแผนเพื่อหาทางออกจากเมืองมักกะฮฺ และเพื่อให้แผนการประสบความสำเร็จจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาผู้เสียสละไปนอนแทนที่ท่านเพื่อลวงบรรดาผู้ปฏิเสธที่จะเข้ามาลอบสังหาร เพื่อศัตรูจะได้คิดว่าท่านยังนอนอยู่ในบ้าน ซึ่งภารกิจทีมีอันตรายเช่นนี้ไม่มีผู้ใดสามารถทำได้นอกจากอะลี ท่านศาสดาจึงได้เรียกอะลีมาหาและอธิบายแผนการทั้งหมดของชาวกุเรซให้ทราบ และสั่งว่า คืนนี้เจ้าต้องไปนอนแทนที่ฉัน และห่มผ้าห่มสีเขียวซึ่งฉันใช้ห่มเสมอ เพือศัตรูจะได้คิดว่าฉันยังคงนอนอยู่ ท่านอะลีได้ปฏิบัติตามคำสั่งของท่านศาสดาทุกประการ พวกปฏิเสธชาวกุเรชได้มาล้อมบ้านของท่านศาสดาตั้งแต่หัวค่ำ เมื่อถึงเวลานั้ดหมายศัตรูได้จุ่โจมเข้าไปหมายคร่าชีวิตของท่านศาสดา แต่ต้องผิดหวังเมื่อต้องเผชิญหน้าต่อท่านอะลี พวกศัตรูได้ถามท่านอะลีว่า มุฮัมมัดอยู่ไหม ท่านอะลีได้ถามพวกเขาว่า พวกท่านฝากท่านศาสดาไว้กับฉันหรือจึงได้มาทวงคืนเอาจากฉัน พวกท่านได้ทำสิ่งหนึ่งจนเขาไม่มีทางเลือกจึงต้องทิ้งบ้านเกิดไป เมื่อท่านอะลีกล่าวจบศัตรูได้กรูเข้ามาทำร้ายท่าน และได้จับท่านไปยังมัสญิดฮะรอม หลังจากนั้นได้กักขังไว้ระยะหนึ่งและได้ปล่อยไปในที่สุด บรรดาศัตรูได้ออกเดินทางไปยับมะดีนะฮฺเพื่อตามหาท่านศาสดา ขณะนั้นท่านศาสดาได้หลบซ่อนตัวอยู่ในถ้ำแห่งหนึ่งมีชือว่า ซูร ดูได้จาก หนังสือซีเราะตุลนบูวัต ของอิบนุฮิชาม อับดุลมาลิก ค้นคว้าโดย มุซเฏาะฟา ,อิบรอฮีม อับยาชี อับดุลฮาฟิซซะอฺละบี ไคโร ฮ.ศ. 1355 เล่ม 1 หน้า 124-128,อิบนุอะซีซ อัลกามิลฟิตตารีค เบรุุต ดารุซเซาะดีด ฮ.ศ. 1399 เล่ม 2 หน้า 102, ชัยคฺมุฟีด อัลเอรชาด กุม หน้า 30, มุฮัมมัด อิบนิ ซ็อด อัตตะบะกอตตุลกุบรอ เบรุต เดรุซเซาะดีร ฮ.ศ. 1399 เล่ม 1 หน้า 228, ฮากิมเนะฮฺชาบูรี มุซตัดร็อกอะลาเซาะฮีฮัยนฺ พิมพ์ครั้งแรก เบรุต ดารุลมะอฺริฟะฮฮ ฮ.ศ. 1406 เล่ม 3 หน้า 4 อัล-กุรอานกล่าวถึงการการเสียสละครั้งยิ่งใหญ่ของท่านอะลีไว้ว่า ท่านเป็นบุคคลที่สละชีวิตของท่านบนหนทางของพระผู้เป็นเจ้า เช่น ซูเราะฮฺบะเกาะเราะฮฺ โองการที่ 207 กล่าวว่าمِنَ النَّاسِ مَن يَشْرِي نَفْسَهُ ابْتِغَاء مَرْضَاتِ اللّهِ وَاللّهُ رَؤُوفٌ بِالْعِبَادِ
มีบางคนในหมู่พวกท่านขายชีวิตของเขา ทั้งนี้เพื่อแสวงหาความพอพระทัยของอัลลอฮฺ และอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงปรานีแก่ปวงบ่าวทั้งหลาย นักตัฟซีรส่วนใหญ่ทั้งซุนนีย์และชีอะฮฺกล่าวว่า โองการข้างต้นเป็นเรื่องราวการเสียสละของท่านอะลี (อ.) ซึ่งโองการนี้ไดถูกประทานลงมาขณะที่ท่านศาสดากำลังอพยพ หลังจากการอพยพของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ช่วงสมัยนี้นับตั้งแต่ยุคที่ท่่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อพยพจากนครมักกะฮฺไปสู่นครมะดีนะฮฺ จนกระทั่งได้อำลาจากโลกไป ท่านอิมามอะลี (อ.) ถูกนับว่าเป็นลูกผู้พี่ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ซึ่งความเป็นพี่น้องหรือความสัมพันธ์ฉันเครือญาติในทัศนะอิสลาม ถือว่าเป็นพื้นฐานที่สำคัญของสังคม ท่านศาสดาได้พยายามแสดงให้เป็นที่ประจักษ์แก่สังคมในรูปแบบต่าง ๆ เช่น หลังจากการอพยพสู่นครมะดีนะฮฺเป็นที่เีรียบร้อยแล้วท่านได้ความสัมพันธ์ฉันพี่น้องระหว่างชาวอันซอรและมุฮาญิรีน ซึ่งเป้าหมายของท่านในครั้งนี้ก็เพื่อจัดตั้งสังคมในรูปแบบอิสลาม ท่านศาสดากล่าวเสมอว่า วิถีทางของอัลลอฮฺ (ซบ.) ความเป็นพี่น้อง และในช่วงนั้นบรรดามุสลิมได้ให้คำมั่นสัญญาเป็นพี่น้องกันทำให้สังคมอิสลามแสดงพลังเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นสังคมที่มีเอกภาพและภาดรภาพอย่างยิ่ง ทว่าความสัมพันธ์ฉันพี่น้องของแต่ละบุคคลขึ้นอยู่กับบุคลิกของคน ๆ นั้น เช่น ความศรัทธา ความประเสริฐ และเกี่ยรติยศของแต่ละคน ฉะนั้นถ้าหากพิจารณาอย่างละเิอียดถี่ถ้วนถึงสภาพแวดล้อม และสถานการณ์ในช่วงนั้น จะเข้าใจความหมายของความเป็นพี่น้องกันทันที่ และจะเข้าใจถึงเจตนารณย์ของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่าเพราะเหตุอันใดท่านจึงได้กำหนดความเป็นพี่น้องกันขึ้นในหมู่มุสลิม หลังจากที่ทุกคนได้สัญญาที่จะเป็นที่น้องกันและกันทั้งหมดแล้ว ยกเว้นท่านอิมามอะลี (อ.) ที่ยังไม่ได้สัญญากับใคร ท่านอิมามได้เข้ามาท่านศาสดาพร้อมคราบน้ำตาแล้วกล่าวกับท่านศาสดาว่า ฉันยังไม่ได้สัญญาเป็นพี่น้องกับผู้ใดเลย ท่่านศาสดากล่าวว่า เจ้าไม่พอใจดอกหรือที่จะได้เป็นพี่น้องกับฉัน ทั้งโลกนี้และโลกหน้า (อัลอากิมนิชาบูรียฺ อัลมุซตัดร็อก ค้นคว้าโดย อับดุรเราะฮฺมาน มัรอาชียฺ พิมพ์ครั้งที่ 1 เบรุต ดารุลมะอฺริฟะฮฺ ปี ฮ.ศ.ที่ 1406 เล่ม 3 หน้า 40) และท่านศาสดาได้กล่าวคำสัญญาเป็นพี่น้องกับท่านอิมามอะลี (อัลอิซติอาบ ฟี มะฮฺริฟะติลอัซอาบ พิมพ์ ครั้ง 1 เบรุต ดารุลอะฮฺยาอุตตุรอซ อัลอาระบียะฮฺ ปี ฮ.ศ. ที่ 1328 เล่ม 3 หน้า 35) เกี่ยวกับเรื่องนี้ได้แสดงให้เห็นเป็นที่ประจักษ์ถึงความประเสริฐของท่านอิมามอะลีเมื่อเปรียบเทียบกับท่านศาสดา อิมามอะลี (อ.) ในสมรภูมิรบ ในช่วงชีวิตของท่านอิมามอะลี (อ.) นับตั้งแต่ช่วงการอพยพของท่านศาสดาจนกระทั้งได้สิ้นชีวิตได้เกิดเหตุการณ์ และเรื่องราวต่าง ๆ มากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเสียสละของท่านอิมามในสงครามต่าง ๆ หลังจากที่ท่านศาสดาได้อพยพไปสู่นครมะดีนะฮฺ ท่่านได้ทำสงครามกับพวกปฏิเสธ ยะฮูดี และบรรดาผู้ต่อต้านการปกครองในระบอบอิสลามรวมทั้งสิ้น 27 ครั้ง สงครามต่าง ๆ ที่ท่านศาสดาเข้าร่วมมีชื่อเรียกว่า อุซวะฮฺ และในจำนวนสงครามที่เกิดขึ้น 27 ครั้งนั้นท่านอิมามอะลีได้เข้าร่วมถึง 26 ครั้ง เฉพาะสงครามตะบูกเท่านั้นที่ท่านอิมามไม่ได้เข้าร่วม เนื่องจากว่า ท่า่นศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้มอบหมายให้ท่านอิมามดูแลนครมะดีนะฮฺแทนท่าน เพราะเกรงว่าบรรดามุนาฟิกีน (พวกหน้าไหว้หลังหลอก) ในมะดีนะฮฺจะก่อความไม่สงบขึ้น ด้วยเหตุนี้ท่านศาสดาจึงมีคำสั้่งให้ท่านอิมามดูแลความเรียบร้อยในมะดีนะฮฺ ซึ่งในที่นี้จะไม่กล่าวถึงสงครามทั้งหมดที่อิมามเข้าร่วม แต่จะขอกล่าวเฉพาะสงครามที่มีความสำคัญที่สุดในประวัติศาสสตร์สัก 4 สงครามเท่านั้น สงครามบัรดฺ (บะดัร) เป็นที่ทราบกันดีว่า สงครามบะดัร เป็นสงครามที่ยิ่งใหญ่และสมบูรณ์แบบที่สุดระหว่างมุสลิมกับบรรดาผู้ปฏิเสธในพระเจ้าองค์เดียว ด้วยเหตุนี้ถือเป็นบทพิสูจน์ครั้งแรกที่มีความสำคัญอย่างยิ่งระหว่างมุสลิมกับผู้ปฏิเสธ สงครามนี้เกิดขึ้นในปีที่ 2 ของการอพยพ ซึ้่งท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้รับข่าวว่ามีกองคาราวานพ่อค้าชาวกุเรช โดยการนำของอบูซุฟยานศัตรูตัวฉกาจของอิสลามตั้งแต่แรก เดินทางมาจากประเทศซีเรียเพื่อกลับเข้าสู่มักกะฮฺ แต่มีประสงค์ร้ายที่จะเดินทางผ่านมะดีนะฮฺก่อนและถ้าสบโอกาสก็จะยึดมะดีนะฮฺทันที ท่านศาสดาและเหล่าบรรดาสาวกที่เป็นชาวมุฮาญิรีนและอันซอรจำนวน 313 คน ได้เดินทางออกไปประชิดชายแดนยังเขตแดนที่มีชื่อว่า บะดัร เพื่อสกัดกั้นไม่ให้กองคราวานของอบูซุฟยานเข้าประชิดเมืองมะดีนะฮฺ บะดัรเป็นเส้นทางที่ผู้เดินทางส่วนมากใช้เป็นเส้นทางผ่าน เป้าหมายของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ในครั้งนี้เพื่อปิดกั้นการแผ่ขายอำนาจของพวกปฏิเสธ เนื่องจากพวกกุเรชรู้ดีว่า เส้นทางการค้าที่สำคัญของพวกเขาตกอยู่ภายใต้การดูแลของบรรดามุสลิม และถ้าหากพวกเข้าต้องการสกัดกั้นการเผยแผ่อิสลาม พวกเขไม่สามารถทำได้เนื่องจากเส้นทางเศรษฐกิจซึ่งเปรียบเสมือนเส้นเลือดใหญ่ที่ถูกตัดขาดแล้วได้อยู่ในมือของมุสลิม เมื่ออบูซุฟยานทราบข่าวการเคลื่อนไหวของบรรดามุสลิม เขาได้เลือกเส้นทางใหม่ซึ่งเป็นเส้นทางเรียบติดกับทะเลแดง เพื่อให้กองคาราวานของเขาหลีกเลี่ยงจากเส้นทางอันตรายเพราะทราบดีว่าท่านศาสดาได้เคลื่อนพลมาประชิดติดชายแดนแล้ว ต่อมาอบูซุฟยานได้ขอกำลังเสริมจากนครมักกะฮฺ ซึ่งมักกะฮฺได้ส่งทหารเข้าเสริมถึง 1000 คน ทำให้อบูซุฟยานมีทหารมากกว่ามุสลิมถึง 3 เท่า และในวันที่ 17 เดือนเราะมะฎอนกองทหารของอบูซุฟยานก็ได้เผชิญหน้ากับบรรดามุสลิม เมื่อสงครมได้เริ่มต้นขึ้นพวกกุเรซได้ส่งทหาร 3 นายพร้อมอาวุธครบมือเข้าสู่สนาม เพื่อทำการรบตัวต่อตัวคนแรกคือ อุตบะฮฺ บิดาของนางฮินซึ่งเป็นภรรยาของอบูซุฟยาย คนที่สองคือ ชัยบะฮฺ คนที่สามคือ วะลีด ซึ่งทั้งสองคนเป็นบุตรชายของอุตบะฮฺ เมื่อทั้งสามคนได้ก้าวเข้าสู่สนามรบได้กล่าวท้าท้ายทันที ขณะนั้นชาวอันซอร 3 คน ได้ก้าวเข้าสู่สนามรบเช่นกัน หลังจากแนะนำตัวเสร็จพวกกุเรซไม่ยอมรบด้วย โดยกล่าวว่า โอ้มุฮัมมัด เจ้าจงส่งคนที่มีเชื้อสายเดียวกันกับพวกเรา และมีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกับเรามารบกับเรากับพวกเราซิ ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้เรียกสามคนแรกกลับมาและส่งท่าน อุบัยดะฮฺ อิบนิ ฮาริซ อิบนิ อับดุลมุฏ็อลลิบ ฮัมซะฮฺ อิบนิ อับดุลมุฏ็อลลิบ และท่านอิมามอะลี เข้าสู่สนามรบเมื่อทั้งสามท่านได้กล่าวแนะนำตัวเสร็จพวกกุเรชตอบตกลงที่จะทำการสู้รบด้วย เนื่องจากทั้งสามท่านมีเชื้อสายและเกียรติยศเท่าเทียมกับพวกเขา ท่านฮัมซะฮฺได้จับคู่ต่อสู้กับชัยบะฮฺ ท่านอุบัยได้จับคู่กับอุตบะฮฺ และท่านอิมามอะลีซึ่งเป็นคนหนุ่มที่สุดได้จับคู่กับวะลีดน้าชายของมุอาวิยะฮฺ ท่านฮัมซะฮฺและท่านอิมามอะลีได้สังหารศัตรูอย่างรวดเร็ว เหลือแต่ท่านอุบัยดะฮฺที่ยังคงต่อสู้อยู่ ท่านฮัมซะฮฺและท่านอิมามอะลีได้เข้าไปช่วยอุบัยดะฮฺ ซึ่งไม่นานนักท่านสามารถสังหารศัตรูได้ (อิบนิฮิชาม ซีเราะตุนนะบูวัต ค้นคว้าโดย มุซเฏาะฟา ชิกอ อิบรอฮีม อับยาีรี อับดุลฮาฟิซซะละบี ไคโร เรียบเรียงโดย มุซเฏาะฟา บาบีฮาละฮฺ ปี 1355 เล่ม 2 หน้า 277, อัลกามิลฟิลตารีค เบรุต ดารุซเซาะดีร ปี 1399 เล่ม 2 หน้า 125) หลังจากเหตุการณ์ได้ผ่านไปเป็นเวลานาน ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เขียนจดหมายถึงมุอาวิยะฮฺ โดยได้กล่าวถึงเหตุการณ์ในครั้งนั้นว่า ดาบเล่มที่ครั้งหนึ่งได้สังหารตาของเจ้า (อุตบะฮฺ) น้าชายของเจ้า (วะลีด และชัยบะฮฺ) ตายในสงครมบะดัร ปัจจุบันดาบเล่มนั้นก็ยังคงอยู่ในมือของฉัน (นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ ซุบฮิ ซอลิฮฺ จดหมายฉบับที่ 64) หลังจากตัวแทนของมุสลิมมีชัยชนะเหนือศัตรูชาวกุเรซ ได้ส่งผลทำให้กำลังใจของทหารฝ่ายศัตรูถดถอยลงทันที่ และในทีสุดพวกเขาต้องตกเป็นเชลยศึกถึง 70 คนด้วยกัน รายงานบันทึกว่าสงครามในครั้งนี้มีทหารจำนวนไม่น้อยที่ได้ถูกสังหารโดยฝีดาบของท่านอิมามอะลี เชคมุฟีดได้บันทึกรายชื่อหทารที่ถูกอิมามอะลีสังหารไว้ 30 คน ท่านเชคได้กล่าวว่า ผู้บันทึกรายงานทั้งซุนนีย์และชฃีอะฮฺมีความเห็นพร้องต้องกันถึงจำนวนทหารที่เสียชีวิตด้วยคมดาบของท่านอิมามอะลี นอกจากทหารบางคนไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นคนสังหาร หรือว่าท่านอิมามอะลีได้มีส่วนร่วมในการสังหาร (อัล เอรชาด กุม หน้าที่ 39) ความกล้าหาญที่ไม่มีใครเหมือนในสงครามอุฮุด หลังจากชาวกุเรซได้รับความพ่ายแำ้พ้ทำให้พวกเขามีความคับแค้นใจอย่างยิ่ง และได้ตัดสินใจที่จะทำการล้างแค้นให้แก่ผู้เสียชีวิตในสงครามบะดัรทันที พวกเขาได้รวบรวมพลจำนวนมากที่จะบุกยึดนครมะดีนะฮฺ สายรายงานของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้แจ้งข่่าวการเคลื่อนไหวของพวกกุเรซ ท่านศาสดาได้สั่งเรียกประชุมเพื่อรับมือพวกกุเรซทันที มุสลิมกลุ่มหนึ่งเสนอว่าให้เคลื่อนทหารออกจากนครมะดีนะฮฺ เพื่อทำสงครามกับศัตรูที่นอกเมือง ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) พร้อมด้วยทหารจำนวน 1000 คน เดินทางออกจากนครมะดีนะฮฺโดยมุ่งหน้าสู่ภูเขาอุฮุด ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของนครมะดีนะฮฺ ในระหว่างทาง อับดุลลอฮฺ อิบนิ ญุเบร ได้ทำการหยุแหย่ทหารของท่านศาสดา ซึ่งเป็นสาเหตุทำให้ทหารจำนวน 300 คน ไม่ยอมเข้าร่วมรบพร้อมกับท่านศาสดา ทำให้กองกำลังของท่านศาสดาเหลือเพียง 700 คนเท่านั้น และในตอนเช้าตรู่ของวันที่ 3 เดือนเชาวาล ปี ฮ.ศ.ที่่ 3 ทหารทั้งสองฝ่ายได้เผชิญหน้ากันที่บริเวณเทือกเขาอุฮุดนั้นเอง ก่อนหน้าที่สงครามจะเริ่มขึ้น ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้มองสำรวดไปรอบ ๆ พื้นที่ ท่านได้พบสถานที่บริเวณหนึ่งเป็นจุดอ่อนของมุสลิม เนื่องจากเมื่อสงครามรุนแรงขึ้นเป็นไปได้ว่าทหารฝ่ายศัตรูอาจตีโอบล้อมด้านหลัง และอาจเป็นสาเหตุทำให้ฝ่ายมุสลิืมต้องเพลี่ยงพล้ำ เมื่อเป็นเช่นนั้นท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) จึงได้มีคำสั่งให้อับดุลลอฮฺ อิบนิ ญุเบร พร้อมพลธนูจำนวน 50 นาย ขึ้นไปตรึงกำลังอยู่บนเนินเขาเล็ก ๆ นั้น เพื่อป้องกันศัตรูถ้าหากพวกมันต้องการตีโอบด้านหลัง ท่านศาสดาได้กำชับพวกเขาว่าไม่ว่ามุสลิมจะได้รับชัยชนะ หรือพ่ายแพ้ก็ตามพวกเจ้าต้องไม่ถอนกำลังออกจากบริเวณดังกล่าวเป็นอันขาด อีกด้านหนึ่งของสงครามในสมัยนั้น จะเห็นว่าผู้ที่ถือธงรบจะมีบทบาทอย่างมากต่อการทำสงครามและเป็นขวัญกำลังใจที่ดีต่อเหล่าทหาร ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่ถือธงอิสลามในสมรภูมิรบจึงต้องเป็นผู้ที่มีความกล้าหาญชาญชัย และยืนหยัดต่อการเชิดชูธงชัยแห่งอิสลาม ในทางตรงกันข้ามถ้าหากผู้ถือธงถูกสังหารเหล่าทหารก็จะหมดกำลังใจและจะเกิดความระส่ำระสายทันที ดังนั้น ก่อนที่สงครามจะเริ่มต้นขึ้นจึงต้องมีการระบุตัวบุคคลที่จะมาถือธงชัยแห่งอิสลาม เพื่อเป็นการเรียกร้องขวัญและกำลังใจให้แก่บรรดาทหาร ในทางตรงกันข้ามพวกกุเรชได้คัดเลือกตัวบุคคลที่จะทำการถือธงรบเช่นกัน ซึ่งพวกเขาได้เลือกคนถือธงจากเผ่า บนีอับดุลดารฺ ซึ่งเป็นเผ่าทีมีชื่อเสียงด้านความกล้าหาญ แต่ทว่าหลังจากสงครามเริ่มได้ไม่นานหนึ่งในจำนวนผู้ที่ถือธงรบฝ่ายกุเรชได้ถูกท่านอิมามอะลีสังหาร ทำให้ขวัญและกำลังใจของทหารฝ่ายศัตรูแตกกระเจิง และพากันแตกทัพหลบหนีออกไป ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า ผู้ถือธงรบของฝ่ายศัตรูมีจำนวน 9 คน ซึ่งทั้งหมดถูกท่านอิมามอะลีสังหาร (เชดมุฟีด อัลเอรชาด กุม หน้า 47) เชคซะดูก บันทึกไว้ว่า หลังจากอุมัรได้เสียชีวิตลง ไม่มีการประชุมเพื่อเลือกเคาะลิฟะฮฺคนต่อไป และในที่ประชุมครั้งนี้ท่านอิมามอะลีได้แสดงหลักฐานและเหตุผลของท่านในการคัดค้านการประชุม ท่านได้กล่าวว่า ขอสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้าว่า ในหมู่พวกท่านนอกจากฉันแล้วมีใครสักคนบ้างไหมที่ได้สังหารผู้ถือธงรบของฝ่ายศัตรู ทีีมาจากเผ่าอับดุลดารในสงครามอุฮุด (กามิลฟิลตารีค เบรุต ดารุซเซาะดีร ปี 1399 เล่ม 2 หน้า 154) ท่านอิมามได้กล่าวต่ออีกว่า หลังจากที่ฉันได้สังหาร 9 คน นั้นแล้ว ทหารของพวกเขาทีมีชือว่า เซาะวาบ เป็นคนทีมีรูปร่างสูงใหญ่หน้าเกรงขามได้ก้าวสู่สนามรบ ด้วยท่าทางที่โกรธกริ้ว ดวงตาทั้งสองข้างเป็นสีแดงพร้อมกับกัดฟันกามไว้แน่น เขาพูดว่า เพื่อเป็นการล้างแค้นให้กับเจ้านายของฉัน ฉันจะไม่สังหารผู้ใดนอกเสียจากมุฮัมมัด หลังจากที่พวกท่านได้เห็นพฤติกรรมของเขาแล้ว พวกเจ้าไม่ใช่หรือที่วิ่งหนีกันแตกกระเจิง ขณะที่ฉันได้ยืนต่อสู้กับเขาและตัดที่เอวของเขาขาดเป็น 2 ท่อน องค์ประชุมเมื่อได้ยินคำกล่าวของท่านอิมามอะลี ต่างให้การยอมรับและสนับสนุนคำกล่าวของท่านอิมาม (อัลคิซอล เรียบเรียงโดย อะลี อักบัร ฆอฟฟารีย์ กุม ปี 1403 หน้า 560) อีกด้านหนึ่งของสงครามเมื่อเหล่าบรรดากองทหารที่อยู่ภายใต้การดูแลของ อับดุลลอฮฺ อิบนิ ญุเบร ได้เห็นว่ากองกำลังทหารของพวกกุเรชแตกกระเจิืง พวกเขาได้ละทิ้งพื้นที่และมุ่งตรงไปมี่สนามรบเพื่อที่จะไปเก็บทรัพย์สินสงครามมาเป็นของตน อับดุลลอฮฺ ได้กล่าวคำพูดของท่านศาสดาเพื่อเป็นการเตือนสติของพวกเขา แต่ทว่าพวกเขาหาได้ใส่ในในึพูดของอับดุลลอฮฺไม่ ทหารจำนวนมากกว่า 40 คน ต้องการเก็บทรัพย์สิน ดังนั้น อิบนิญุเบร จึงจำเป็นต้องรักษาพื้นที่ด้วยทหารจำนวน 10 คนเท่านั้น ในช่วงเวลานั้นคอลิด บิน วะลีด ได้เห็นว่าบรรดามุสลิมที่รักษาพื้นที่บริเวณจุดอ่อนไหวได้ออกมาสู่สนามรบจำนวนมาก เขาจึงได้นำกองทหารโอบเข้าโจมตีด้านหลัง และไม่นานนักเขาสามารถยึดพื้นที่บริเวณดังกล่าวได้และใช้บริเวณนั้นเป็นจุดโตมตีทหารมุสลิม ขณะนั้นธงรบของพวกปฏิเสธได้ถูกชูอีกครั้งหนึ่งโดยสตรีนางหนึ่งนามว่า อัมเราะฮฺ บินติ อัลกัม ซึ่งเป็นเสมือนการเรียกขวัญกำลังใจของชาวกุเรชที่แตกกระเจิงไปแล้วให้กลับคืนมาอีกครั้ง จากสถานการณ์ที่กล่าวมาบรรยากาศในการทำสงครามได้เปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือนั้นคือ กองกำลังทหารของมุสลิมที่เกือบจะได้รับชัยชนะกลับต้องหนีกันแตกกระเจิง และได้รับความพ่ายแพ้ในที่สุด สงครามอุฮุดได้คร่าชีวิตของพวกมุฮาญิรีนไปประมาณ 70 คน ซึี่งในจำนวนนั้นมีบุคคลสำคัญอย่างเช่น ท่านฮัมซะฮฺลุงของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) และท่านมุซอับ บิน อะมีรผู้ถือธงรบได้ชะฮีดในสงครามดังกล่าว อีกด้านหนึ่งของสงครม กุเรชได้สร้างกระแสในสงครามว่า ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้เสียชีวิตแล้วอันเป็นสาเหตุให้ทหารฝ่ายมุสลิมหมดกำลังใจในการสู้รบ แต่ในทางกลับกันได้สร้างขวัญและกำลังใจในการรบให้เหล่าบรรดาผู้ปฏิเสธ ในที่สุดทหารฝ่ายมุสลิมต้องแตกกระเจิงและหลบหนีออกจากสงคราม คงเหลือทหารไม่กี่คนที่ต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) สงครามนี้เองบรรดามุสลิมได้รับความเสียหายและบอบช้ำมากที่สุด ในสงครามครั้งนี้ท่านอิมามอะลี (อ.) มีบทบาทอย่างยิ่ง เพระท่านได้แสดงความกล้าหาญที่ไม่มีผู้ใดเทียบเคียงได้ ขณะที่ทำสงครามท่านได้ปกป้องชีวิตของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ไปด้วย หลายต่อหลายครั้งที่ท่านศาสดาได้เผชิญหน้ากับเหล่าศัตรู ท่่านอิมามอะลีจะเป็นผู้ปกป้องและดูแลท่านอย่างใกล้ชิด อิบนิ อะซีร ได้บันทึกไว้ในหนังสือประวัติศาสตร์ของตนว่า เมื่อท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้สังเกตเห็นผู้ปฏิเสธกลุ่มหนึ่งมีเจตนาที่จะเข้ามาทำร้ายท่าน ท่านจึงได้สั่งให้อิมามอะลีไปจัดการคนกลุ่มนั้น เมื่ออิมามอะลีรับทราบท่านได้เข้าจัดการกับคนกลุ่มดังกล่าวทันที และการทีท่านได้สังหารเขาบางคนทำให้คนอื่นหวาดกลัวและหลหนีไปในที่สุด หลังจากนั้นท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เห็นว่ามีอีกกลุ่มหนึ่งที่จ้องจะทำร้ายท่าน ท่านจึงได้สั่งให้ท่านอิมามอะลีไปจัดการ อิมามอะลีรับคำสั่งและจัดการพวกเขาจนแตกกระเจิงออกไป ในเวลานั้นเองญิบรออีลได้นำวะฮีย์ลงมาให้ท่านศาสดาว่า นี่คือการเสียสละที่ยิ่งใหญ่ที่ท่่านอะลีได้แสดงให้เห็นด้วยตัวของเอง ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ได้กล่าวว่า ฉันมาจากเขา และเขาก็มาจากฉัน เมื่อท่านศาสดากล่าวจบ ได้มีเสียงหนึ่งจากท้องฟ้าดังลงมาหลายคนในที่นั้นได้ยินชัดเจนว่า ไม่มีดาบเล่มใดยกเว้นซุลฟิกอรฺร และไม่มีผู้ใดได้รับชัยชนะนอกจากอะลี (อัลกามิลฟิลตารีค เบรุต ดารุซเซาะดีร ปี 1399 เล่ม 2 หน้า 154) อิบนิ อบิลฮะดีด บันทึกไว้ว่า ขณะที่บรรดาเซาะฮาบะฮฺของท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) วิ่งหนีกันแตกกระเจิงออกไปนั้น พวกศัตรูได้สร้างความลำบากมากยิ่งขึ้นให้ท่านศาสดาในจำนวนทหารทั้งหมดมีทหาร 4 คน มีความเชี่ยวชาญการรบอย่างดี ซึ่งมาจากเผ่า บนีกะนานะและอับดุลมานา พวกเขาพาทหารจำนวน 50 คน มุ่งหน้าเข้ามาเพื่อโจมตีท่านศาสดา ท่านจึงได้สั่งให้อิมามอะลียับยั้งพวกเขา อิมามอะลีได้เข้าประจัญบานกับพวกศัตรูจนแตกพ่ายออกไป แต่เมื่อพวกศัตรูรวมตัวกันได้ก็กรูกันเข้ามาอีกเพื่อสังหารท่านศาสดา ในที่สุดพวกศัตรูก็หยุดความเหิมเกริมลง เนื่องจากทหารที่เชี่ยวชาญการรบ 4 คนที่เอ่ยนามมากับทหารอีก 10 คน ที่ประวัติศาสตร์ไม่ได้ระบุชื่อเอาไว้ถูกท่านอิมามอะลีสังหารสิ้น ญิบรออีล ได้กล่าวกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่า แน่นอนอะลีคือผู้ช่วยเหลือท่าน และการช่วยเหลือของชายหนุ่มคนนี้ได้สร้างความประหลาดใจต่อชาวฟ้าอย่างยิ่ง ท่านศาสดา กล่าวว่า ทำไมพวกท่านถึงแปลกใจในเมื่อฉันมาจากเขา และเขามาจากฉัน ญิบรออีลกล่าวต่ออีกว่า ฉันก็มาจากท่านในวันนั้นได้มีเสียงจากฟากฟ้าดังว่า ไม่มีดาบเล่มใดนอกจากซุลฟิกอรดฺ และไม่มีผู้ใดได้รับชัยชนะนอกจากอะลี เพียงแต่ว่าไม่มีผู้ใดเห็นผู้พูดเท่านั้น พวกเราจึงถามท่านศาสดาว่า ใครคือผู้กล่าวประโยคนั้น ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ตอบว่า ญิบรออีล (อิบนุ อบิลฮะดีด ชัรฮฺนะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ ค้นคว้าโดย มุฮัมมัด อบุลฟัฎลฺ อิบรอฮีม พิมพ์ครั้งที่ 1 ไคโร โดยอะฮฺยากุตุบอาเราะบียะฮฺ ปี 1378 เล่ม 14 หน้า 253 ผู้พิชิตป้อมค็อยบัร 1. ค็อยบัร คือ ศูนย์กลางที่พวกยะฮูดีใช้ในการวางแผน หรือปลุกระดมคนเพื่อต่อต้านการปกครองอิสลามที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้น และหลายต่อหลายครั้งที่พวกยะฮูดีใช้ป้อมค็อยบัร เป็นที่วางแผนการเพื่อทำลายนครมะดีนะฮฺร่วมกับศัตรูอิสลามกลุ่มอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสงครามอะฮฺซาบ 2. ในช่วงสมัยนั้นอาณาจักรโรมและอาณาจักรอิหร่านถือว่ายิ่งใหญ่ และถ้าหากยะฮูดีต้องการที่จะทำสงครามกับอาณาจักรใดอาณาจักรหนึ่งต้องทำสงครามหลายครั้ง และใช้ระยะเวลายาวนานในการพิชิต แต่ทว่าการกำเนิดขึ้นของอาณาจักรอิสลาม ซึ่งเป็นอาณาจักรที่สามที่มีความเข้มแข็ง สำหรับพวกยะฮูดีแล้วไม่สามารถที่จะประวิงเวลาไว้ได้ ด้วยเหตุนี้ เป็นไปได้ว่า ยะฮูดีจะใช้ป้อมค็อยบัรเป็นสถานที่ร่วมมือกับศัตรูอิสลามเพื่อวางแผนทำลายล้างอิสลาม หรือใช้เป็นสถานที่ให้การสนับสนุนศัตรูอิสลาม ซึ่งสองอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่ในสมัยนั้น ให้ความร่วมมือและให้การสนับสนุนพวกยะฮูดี ท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ทราบถึงปัญหานี้ดี ท่านจึงได้นำกองทหารจำนวน 1600 นาย เคลื่อนทัพไปที่ป้อมค็อยบัร ป้อมปราการต่าง ๆ ที่ค็อยบัรมีความเข้มแข็งเป็นอย่างมาก ยากต่อการทำลายล้าง และมีความพร้อมในการรับมือกับผู้รุกรานเป็นอย่างดี ทหารของพวกยะฮูดีก็มีความสามารถในการป้องกันตนเองสูง และด้วยความพยายาม ความมานะ และความกล้าหาญของทหารอิสลาม ถึงแม้จะเป็นความยากลำบากในการพิชิตแต่ก็สามารถพิชิตป้อมต่าง ๆ ได้ยกเว้นป้อมที่มีชื่อว่า กุมูซ ซึ่งเป็นศูนย์กลางของกองทหารของพวกยะฮูดี มีกำลังพลที่เข้มแข็งกองทหารอิสลามไม่สามารถพิชิตป้อมปราการนี้ การต่อต้านของยะฮูดีในป้อมปราการนี้ สร้างความลำบากให้กับท่านศาสดาเป็นอย่างมาก ท่านแต่งตั้งแม่ทัพและมอบธงรบให้กับบุคคลต่าง ๆ เพื่อเข้ายึดครองป้อมปราการนี้ ในทุก ๆ เช้าท่านจะทำการแต่งตั้ง และมอบธงรบให้คนแล้วคนเล่าแต่ไม่มีใครสามารถพิชิตป้อมปราการนี้ได้เป็นผลสำเร็จ ซึ่งในวันแรกท่านได้มอบธงให้กับอบูบักร และในวันต่อมาท่านได้มอบให้กับอุมัร ซึ่งทั้งสองไม่สามารถพิชิตป้อมปราการนี้ได้ ในสถานการณ์เช่นนี้ได้สร้างความยุ่งยากให้กับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) เป็นอย่างมาก ท่านศาสดา(ซ็อล ฯ) กล่าวว่าلاغطين هذه الراية غدا رجلا يفتح الله على يديه يحب الله ورسوله ويحبه الله ورسوله
พรุ่งนี้ฉันจะมอบธงรบให้กับผู้ที่อัลลอฮฺประทานชัยชนะให้กับเขา และเขาคือผู้ที่รักอัลลอฮฺและเราะซูลของพระองค์ อัลลอฮฺและเราะซูลของพระองค์ก็รักเขา อิบนิอับดุลบัร ได้บันทึกคำพูดของท่านศาสดาไว้ว่าلاعطين الراية رجلا يحب الله ورسوله بفرار يفتح الله على يديه
(อัลอิซติฮาบฟีมะอฺรีฟะติลอัซฮาบ,พิมพ์ครั้งที่หนึ่ง,เบรุต,ดารุลอะฮฺยาอุลตุรอซิ อัลอาเราะบี,ปี 1328 เล่ม 3 หน้าที่ 36) และในคืนนั้น เหล่าบรรดาสาวกของท่านศาสดาต่างสันนิฐานกันต่าง ๆ นานาว่า ในวันพรุ่งนี้ท่านศาสดาจะมอบธงรบให้ใคร เมื่อเวลาเช้าตรู่ของวันรุ่งขึ้นได้มาถึงเหล่าบรรดาสาวกได้พากันมาล้อมกระโจมของท่านศาสดา ซึ่งทุกคนต่างมีความหวังว่าตนจะได้เป็นผู้รับธงรบในวันนี้ และในขณะนั้นเองท่านศาสดาได้กล่าวว่า "อะลีอยู่ไหน" พวกเขาตอบว่า อะลีไม่ได้มาเพราะว่าดวงตาของเขาได้รับบาดเจ็บ และกำลังนอนพักผ่อน ท่านศาสดากล่าวว่า ไปตามอะลีมา และเมื่อท่านอะลีมาถึงท่านศาสดาได้ขอดุอาอฺให้ดวงตาของอะลีหายจากการเจ็บป่วย ด้วยบะเราะกัตนั้น อะลีหายเป็นปกติ หลังจากนั้นท่านได้มอบธงรบให้กับอะลี และอะลีกล่าวว่า "โอ้เราะซูล ฉันจะทำสงครามกับพวกเขา จนกว่าพวกเขาจะยอมรับอิสลาม" ท่านศาสดากล่าวว่า "จงมุ่งหน้าไปสู่พวกเขา และเมื่อถึงป้อมปราการสิ่งแรกที่เจ้าต้องทำคือ เชิญชวนพวกเขาเข้าสู่อิสลาม และจงตักเตือนถึงหน้าที่ของการเป็นบ่าวแห่งพระผู้เป็นเจ้า (หมายถึงปฏิบัติตามสัจธรรม) ขอสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้าว่า ถ้าหากเจ้าสามารถทำให้คน ๆ หนึ่งยอมรับพระผู้เป็นเจ้าได้ ย่ิอมดีกว่าเจ้ามีอูฐขนสีแดงไว้ในครอบครองเป็นจำนวนมากเสียอีก หมายเหตุ อูฐขนสีแดงในหมู่อาหรับสมัยนั้นเป็นอูฐที่มีราคาแพงมาก อ้างอิงจาก มุสลิม อิบนิ ฮาญาตกาซีรี ซอฮีย์ มุสลิม ไคโร สำนักพิมพ์ มุฮัมมัดอะลีซอเบียฮ. เล่ม 7 หน้า 121 บันทึกไว้ว่า การอธิบายของท่านศาสดากับหน้าที่รับผิดชอบอันยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ ของท่านอะลีมีความแตกต่างกันน้อยมาก อ้างอิงมาจาก อับดุลมาลิก อิบนิฮิชาม,ซีเราะตุลนบูวัต,ค้นคว้าโดย มูซฏอฟาซิกอ,อิบรอฮีม อับยารี,อับดุลมาลิก ฮาฟิซซะละบี,ไคโร เรียบเรียงโดย มุซฏอฟาบาบีฮาละบี ปี 1355 เล่ม 3 หน้า 349 อิบนิอะซีร,อัลกามิลฟิลตารีค,เบรุต,ดารุลซอดีร ปี 1399 เล่ม 2 หน้า 219 ฮากิมนิชาบูรี,อัล-มุซตัดร็อกฮากิม,อะลัซเซาะฮีฮัยนฺ ค้นคว้าโดย อับดุลเราะฮฺมาน มัรอะชี, พิมพ์ครั้งแรก,เบรุต,ดารุลมะอาริฟ ปี 1406 เล่ม 3 หน้า 109 มูฮัมมัด อิบนิอิสมาอีลบุคอรีย์,ซอฮีย์บุคอรีย์,เบรุต เรียบเรียงโดยอับดุลฮามีด อะฮฺมัดฮานะฟี ปี 1314 เล่ม 5 หน้า 18 หลังจากนั้นท่านอะลีได้นำทัพ และด้วยความกล้าหาญที่ไม่มีใครเหมือน ท่านสามารถพิชิตป้อมปราการค็อยบัรได้สำเร็จ ผู้นำสาสน์และตัวแทนที่แท้จริงของท่านศาสดา หลังจาก 20 ปีผ่านไปอาณาจักรอิสลามได้แผ่ขยายออกไปครอบคลุมแผ่นดินฮาญาต ซึ่งมีอาหรับหลายเผ่ายังเคารพสักการะรูปปั้น บรรดาที่อยู่ห่างไกลจากอาณาจักรอิสลามได้เข้าใจแล้วว่า การกราบไหว้รูปปั้นไม่ใช่สิ่งใดเลย นอกจากเป็นการปฏิบัติตามบรรพบุรุษเยี่ยงคนตาบอด พวกเขาได้ให้เหตุผลในการละทิ้งการกราบไหว้บูชารูปปั้นว่า ตัวเทวรูปไม่สามารถช่วยเหลือหรือช่วยงานพวกเขาได้ และยิ่งไปกว่านั้นรูปปั้นไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือหาประโยชน์ให้ตน ซึ่งต่อไปนี้พวกเขาจะไม่สรรเสริญ และกราบไหว้อีกต่อไป บางกลุ่มที่เข้ารับอิสลามด้วยความรู้สึกที่ไม่มีเหตุผล หลังจากที่ได้ยินคำปราศรัยของท่านศาสดา(ซ็อล ฯ)พวกเขาได้รับรู้ถึงการมีชีวิตอยู่ที่แท้จริง และละทิ้งการกราบไหว้รูปปั้นและหันมานับถือพระเจ้าองค์เดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ท่านศาสดาได้เข้ายึดนครมะกะฮฺเป็นผลสำเร็จ ช่วงเวลานี้บรรดาผู้มีความรู้สามารถเผยแพร่สาสน์อิสลามได้อย่างเสรีภาพ ผลที่ได้รับคือ เมืองต่าง ๆ หรือแม้แต่หมู่บ้านเล็ก ๆ ยอมรับศาสนาอิสลามกันอย่างถ้วนหน้า จะมีเฉพาะบางกลุ่มที่มีอคติ หรือไม่สามารถละทิ้งขนบธรรมเนียมประเพณีของบรรพบุรุษได้ แม้ว่าพวกเขาจะทราบดีโดยความเป็นธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ แต่พวกเขาก็ยังคงปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมผิด ๆ ของบรรพบุรุษต่อไป ด้วยเหตุนี้ ท่านศาสดาจึงต้องการที่จะขจัดบรรดาผู้ที่กราบไหว้รูปปั้นทั้งหลายให้หมดไป เนื่องจากเป็นสาเหตุทำให้มนุษย์ละทิ้งจริยธรรม และสังคม ในช่วงเวลานั้นเองซูเราะฮฺบรออะฮฺ ได้ถูกประทานลงมา ท่านศาสดามีหน้าที่ประกาศสาสน์ของพระองค์ให้ไปถึงยังพวกบูชารูปปั้นตามเมืองต่าง ๆ และท่านได้ประกาศสาสน์นี้อีกครั้งในช่วงเทศกาลฮัจญฺ เพราะว่ามีนักแสวงบุญจากทั่วสารทิศเดินทางมาเป็นจำนวนมาก ซึ่งการประกาศสาสน์ครั้งนี้มีใจความว่า "ในระยะเวลา 4 เดือนข้างหน้าที่จะถึงพวกเขา(มุชริก)จะต้องแสดงสถานภาพให้ชัดเจนว่าถ้าหากพวกเขาให้การสนับสนุนศาสนาอิสลามพวกเขาจะได้เข้าอยู่ร่วมกับบรรดามุสลิม และได้รับการช่วยเหลือจากบรรดามุสลิมในขั้นหนึ่ง แต่ถ้าหากว่าพวกเขายังคงความเป็นศัตรูให้พวกเขาเตรียมตัวให้พร้อมเพราะหลังจาก 4 เดือนเราจะทำสงครามกับพวกเขา และจงรู้ไว้เถิดว่าถ้าหากใครถูกจับได้ในสมรภูมิรบหรือตกเป็นเชลยโทษของเขาคือ ประหารชีวิต" เมื่อซูเราะฮฺบะรออะฮฺ ถูกประทานลงมาท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ตัดสินใจที่จะไม่ร่วมการฮัจญฺในครั้งนี้ เพราะว่าปีที่แล้วท่านได้ยึดมะกะฮฺ และซียาเราะฮฺบ้านของพระองค์แล้ว ท่านจึงตัดสินใจว่าจะเข้าร่วมฮัจญฺในปีหน้า ซึ่งเรียกว่า ฮัจตุลวิดา ด้วยเหตุนี้ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ท่านต้องเลือกตัวแทนของท่าน เพื่อประกาศสาสน์ของพระผู้เป็นเจ้า บุคคลแรกที่ท่านเลือกคือ อบูบักร ท่านสอนบางส่วนตอนต้นซูเราะฮฺให้กับอบูบักร และได้จัดหาเพื่อนร่วมทางสำหรับอบูบักรจำนวน 40 คน ท่านศาสดากำชับว่า "เมื่อถึงอีดกุรบานขอให้เจ้าอ่านซูเราะฮฺดังกล่าวนี้แก่ประชาชน" หลังจากที่อบูบักรได้ออกเดินทางมุ่งหน้าสู่มะกะฮฺ ทันใดนั้นเองอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงลงบัญชาแก่ท่านศาสดาว่าการประกาศสาสน์ครั้งนี้ เป็นหน้าที่ของเจ้าหรือคนที่มาจากเจ้าเท่านั้น ซึ่งถ้าปราศจากทั้งสองแล้วการประกาศสาสน์ถือว่าไม่ถูกต้องلايُؤديهاعنك الاأنت اورجل منك
มีคำถามว่า ใครคือบุคคลผู้ซึ่งถูกบัญญัติอยู่ในคำสั่งของพระองค์ เมื่อสิ้นสุดคำสั่งท่านได้เรียก อะลีให้มาพบ และได้กล่าวกับอะลีว่า "จงออกเดินทางไปให้ทันอบูบักรก่อนที่อบูบักร จะถึงมะกะฮฺ เมื่อพบเขาให้เจ้าเอาสาสน์ที่เขามาเก็บไว้ที่เจ้า และบอกกับเขาว่าพระผู้เป็นเจ้า ทรงมีบัญชาแกท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่า จำเป็นอย่างยิ่งในการประกาศสาสน์ครั้งนี้ ผู้ประกาศต้องเป็นศาสดา หรือบุคคลที่มาจากท่าน ด้วยเหตุนี้ ฉันจึงได้รับมอบหมายให้ไปประกาศสาสน์แทนศาสดา" ท่านอะลีออกเดินทางร่วมกับญาบิร และสาวกของท่านศาสดาบางส่วน การเดินทางครั้งนี้อะลีได้ขี่อูฐส่วนตัวของท่านศาสดา เมื่ออะลีมาถึงอบูบักร ท่านได้กล่าวคำพูดของท่านศาสดาให้อบูบักรฟัง อบูบักร จึงมอบสาสน์คืนให้อะลี เมื่ออะลีเดินทางมาถึงมะกะฮฺ (ในวันที่ 10 เดือนซุลฮิจญะฮฺฺ) ท่านได้ขึ้นไปบนเนินเขาที่มีชื่อว่า อุกบะฮฺ และได้ประกาศสาสน์ดังกล่าว ท่านอ่านโองการแรกของบทบะรออะฮฺ และกล่าวคำพูดของท่านศาสดาว่า พวกท่านมีเวลาเพียงแค่ 4 เดือนเท่านั้น ท่านประกาศสาสน์ ด้วยน้ำเสียงที่ดังจนกระทั้งบรรดามุชริกได้ยินกันถ้วนหน้า ในการประกาศครั้งนี้ทำให้พวกมุชริกรู้ดีว่าเหลือเวลาอีกเพียง 4 เดือนเท่านั้น ที่พวกเขาจะต้องปฏิบัติตามการปกครองอิสลาม โองการอัล-กุรอาน ส่งผลอย่างน่าอัศจรรย์ คือ ภายในระยะเวลาไม่ถึง 4 เดือนบรรดามุชริกได้ยอมรับศาสนาอิสลามจนหมด ซึ่งยังไม่ถึงปลายปี ฮ.ศ.ที่ 10 พวกตั้งภาคีในแผ่นดินฮิญาตได้ถูกทำลายลงจนหมดสิ้น เมื่ออบูบักรทราบข่าวว่าตนเองหมดภาระหน้าที่ ในการเป็นผู้นำสาสน์ไปประกาส ็เกิดความรู้สึกเสียใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น จึงได้เดินทางกลับสู่มาดีนะฮฺ และได้เข้าพบท่านศาสดา พร้อมกับกล่าวตำหนิท่านศาสดาว่า “ท่านได้เห็นชอบในการมอบภาระหน้าในการประกาศโองการอัล-กุรอาน และคำแถลงการณ์ของท่าน แต่ไม่ทันเท่าไรท่านก็ปลดฉันออกจากตำแหน่ง หรือว่านี้เป็นคำสั่งของอัลลอฮฺ (ซบ.)” ท่านศาสดากล่าวตอบว่า” ทูตสวรรค์ได้มาหาฉันและได้กล่าวว่า เฉพาะฉันและบุคคลที่มาจากฉันเท่านั้นที่มีสิทธิ์ประกาศโองการอัล-กุรอาน ถ้าหากเป็นบุคคลอื่นการประกาศถือว่าไม่ถูกต้อง” สมัยที่สี่ หลังจากการเสียชีวิตของท่านศาสดาจนถึงการได้รับตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺก่อนที่จะเข้าสู่เรื่องราวในสมัยที่สี่ จำเป็นต้องกล่าวก่อนว่าในเรื่องของตำแหน่งอิมามะฮฺ นับตั้งแต่การเสียชีวิตของท่านศาสดาคือปีที่ 11 เดือนเซาะฟัรจนถึงการเสียชีวิตของอิมามฮะซัน อัซการี เดือนรอบีอุลเอาวัล ปีที่ 260 สามารถแบ่งคร่าว ๆ ได้เป็น 4 สมัยด้วยกัน ซึ่งในทุก ๆ สมัยบทบาทของอิมาม แต่ละท่าน มีรูปแบบที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับผู้ปกครองในสมัยนั้น สมัยที่หนึ่ง ตรงกับการปกครองของเคาะลิฟะฮฺสามท่านแรก สมัยนี้ท่านอิมามอะลี (อ.) ต้องอดทน และต้องระมัดระวังต่อการกดขี่ต่าง ๆ ซึ่งมีระยะเวลาประมาณ 25 ปี เริ่มต้นตั้งแต่การเสียชีวิตของท่านศาสดา(ปี ฮ.ศ. ที่ 11) จนกระทั่ง ท่านอิมามอะลีได้รับตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺในปี ฺฮ.ศ. ที่ 35 สมัยที่สอง ช่วงที่ท่านอิมามอะลี (อ.) ดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺฺ ซึ่งรวมเวลาประมาณ 4 ปี 9 เดือน และการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺของท่านอิมามฮะซัน (อ.) อีกไม่กี่เดือน ถือเป็นการดำรงตำแหน่งเคาะลีฟะฮฺที่สั้นที่สุดของบรรดาอิมาม สาเหตุมาจากในสมัยของท่านอิมามอะลี และอิมามฮะซัน เป็นช่วงเวลาที่ศัตรูอิสลามรายล้อมอยู่รอบด้าน กลั่นแกล้ง และบีบบังคับท่านทั้งสอง สมัยที่สาม เป็นสมัยที่มีการพยายามจัดตั้งรัฐบาลและการปกครองในรูปแบบอิสลามขึ้น เป็นเหตุการณ์ที่สืบเนื่องมาจากการทำสนธิสัญญาของท่านอิมามฮะซัน (อ.) ในปี ฮ.ศ.ที่ 41 จนถึงการเป็นชะฮีดของท่านอิมามฮุซัยนฺ (อ.) ในปี ฮ.ศ. ที่ 61 หลังจากการทำสนธิสัญญาของท่านอิมามฮะซันแล้ว บรรดาชีอะฮฺพยายามนำตำแหน่งการเป็นผู้นำของลูกหลานท่านศาสดากลับมาอีกครั้งหนึ่ง เป็นการกระทำที่ไม่เปิดเผย ในช่วงเวลานี้ผู้ปกครองไม่สามารถเข้าจับกุมบรรดาชีอะฮฺได้ง่ายดายนัก จนกระทั้งช่วงสุดท้ายของการมีชีวิตอยู่ของมุอาวียะฮฺ สมัยที่สี่ เป็นสมัยที่ชีอะฮฺยังคงดำเนินตามแผนการที่ได้วางเอาไว้ เป็นช่วงเวลาที่ยาวนานเกือบสองศตวรรษ หลายต่อหลายครั้งที่ชีอะฮฺได้ลุกขึ้นต่อสู้ ซึ่งผลที่ได้รับมีทั้งชัยชนะและความพ่ายแพ้ แต่สิ่งที่ได้รับคู่กับชัยชนะคือ การวางรากฐานที่มั่นคงที่ได้รับมาจากการวางแผนที่เหมาะสม ในการเผชิญหน้ากับฝ่ายตรงข้าม การเสียสละ ความพยายาม และเกียรติยศที่ได้รับ ทำให้มีผู้คนจำนวนนับหลายพันคนสืบทอดและปฏิบัติตาม แบบฉบับของท่านศาสดาและผู้นำ หลังจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) แล้ว อะลีคือผู้ปกครองที่เหมาะสมที่สุดในการบริหารงานสังคมอิสลาม ในสถาบันการศึกษาอิสลามนอกจากท่านศาสดามูฮัมมัด(ซ็อล ฯ) แล้วไม่มีบุคคลใดมีความรู้ และความสามารถเทียบเท่าท่านอิมามอะลี ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของความประเสริฐ ความสำรวมตนจากบาป ความรู้เกี่ยวกับกฎหมายอิสลาม การพิพากษาคดีความ การทำสงครามศาสนา การเสียสละในหนทางของพระผู้เป็นเจ้า หรือแม้แต่คุณลักษณะที่ดีงามอื่น ๆ ด้วยเหตุผลต่าง ๆ ตามที่กล่าวมา หลายต่อหลายครั้งที่อัลลอฮฺ (ซบ.) มีคำสั่งให้ท่านศาสดาประกาศกับบรรดาศรัทธาชนว่า อะลี คือ ผู้ปกครองของพวกท่านภายหลังจากฉัน ซึ่งการประกาศครั้งสำคัญที่สุดคือการประกาศที่ เฆาะดีร จากเรื่องราวที่กล่าวมาทั้งหมด สรุปได้ว่าหลังจากท่านศาสดาแล้ว อะลีคือผู้ปดครองของเหล่าผู้ศรัทธาโดยทันที แต่ทว่าเหตุการณ์ไม่ได้เป็นอย่างที่คาดคิด เนื่องจากพวกเขาได้หันเหออกจากแนวทางที่ท่านศาสดาได้วางไว้ และยิ่งไปกว่านั้นพวกเขาได้ห้ามไม่ให้อะลีมีส่วนร่วมในการเมืองและการปกครองแม้แต่นิดเดียว แหล่งอ้างอิง หนังสือประวัติศาสตร์พิชวออียอน