สถานภาพของฮัจญฺในอิสลาม
สถานภาพของฮัจญฺในอิสลาม
0 Vote
63 View
บทคัดย่อ : กะอฺบะฮฺ ถือว่าเป็นบ้านหลังแรกที่ได้ถูกสถาปนาขึ้นท่ามกลางประชาชาติ เพื่อการอิบาดะฮฺ เป็นศูนย์กลางแรก ที่ได้โน้มน้าวและดึงดูดผู้ปฏิบัติอิบาดะฮฺทั้งหลายไปสู่ตน อัลกุรอานกล่าวว่า “แท้จริง บ้านหลังแรก [สถานอิบาดะฮฺ] ถูกตั้งขึ้นสำหรับมนุษยชาติคือ ที่บักกะฮฺ เป็นที่จำเริญ และเป็นทางนำสำหรับประชาชาติทั้งหลาย ในนั้นมีสัญญาณต่างๆ อันชัดแจ้ง [เช่น] มะกอม [ที่ยืน] อิบรอฮีม ผู้ใดเข้าไปในบ้านนั้น ย่อมได้รับความปลอดภัย สิทธิ์ของอัลลอฮฺทรงกำหนด [พันธะ] แก่มนุษย์ [คือ] การฮัจญฺ ณ อัลบัยตฺ เป็นหน้าที่ของผู้สามารถเดินทางไปยังบ้านนั้น ผู้ใดปฏิเสธ [พึงรู้เถิด] อัลลอฮฺไม่ทรงพึ่งประชาชาติทั้งหลาย ดังนั้น ทั้งฮัจญฺและสถานที่ประกอบฮัจญฺ มิได้เป็นกรรมสิทธิ์ของผู้ใด หากแต่เป็นกรรมสิทธิ์ของอัลลอฮฺ และเป็นบัญชาของพระองค์ ฮัจญฺ จึงเป็นทั้งอิบาดะฮฺ และเป็นการเมืองของพระองค์ คำสำคัญ : ฮัจญฺ, อิสลาม, การชี้นำ, ประชาโลก, สากล หัวข้อ : สถานภาพของฮัจญฺในอิสลาม บทนำ : อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงประสงค์ให้มนุษย์เป็นมะลักของพระองค์ พระองค์จึงให้ร่องรอยของมลาอิกะฮฺปรากฏในมนุษย์ ดังเช่นพระองค์ได้มีบัญชาให้ถือศีลอด เพื่อหลีกเลี่ยงจากความสำราญและความสุขทั้งปวงทางโลก เพื่อให้มนุษย์ได้คล้ายเหมือนมลาอิกะฮฺ โดยตัดขาดจากการไม่กินไม่ดื่ม และความประพฤติเยี่ยงสัตว์เดรัจฉานทั้งหลาย นอกจากนั้นพระองค์ยังได้มีบัญชาให้มนุษย์เดินเวียนรอบ (เฏาะวาฟ) กะอฺบะฮฺ ซึ่งอยู่ในฐานะที่เท่าเทียมกับ บัยตุลมะอฺมูร ณ บัลลังก์ของพระองค์ เนื่องจากมวลมลาอิกะฮฺ ที่อยู่รายรอบบัลลังก์ของอัลลอฮฺ ต่างเดินเวียนรอบ เพื่อรำลึกถึงอัลลอฮฺ ถวายสดุดีพระนามอันประเสริฐของพระองค์ วิงวอนขออภัยโทษต่อพระองค์เพื่อคนอื่น และอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงสร้างกะฮฺบะฮฺแก่มนุษย์ไว้บนแผ่นดิน เพื่อให้มนุษย์ผู้มีคุณสมบัติเดินเวียนรอบ และกล่าวรำลึกถึงพระองค์ ขณะเดียวกันให้วิงวอนขออภัยโทษต่อพระองค์เพื่อคนอื่น กะอฺบะฮฺ อาณาบริเวณกะอฺบะฮฺ ฮะรัม และอาณาบริเวณของฮะรัม ตลอดจนสัญลักษณ์อื่นๆ ซึ่งแต่ละอย่างโดยตัวตนแล้วล้วนเป็นสัญลักษณ์ของอัลลอฮฺทั้งสิ้น ซึ่งทั้งหมดล้วนมีบทบาทต่อการเติมเต็มความสูงส่งของพระองค์ รายงานฮะดีซกล่าวว่า กะอฺบะฮฺ ตามความเป็นจริงคือ ภาพลักษณ์ของอะรัชของพระองค์ เป็นหน้าตาของ บัยตฺ มะอฺมูรและอะรัชของอัลลอฮฺ การเดินเวียนรอบกะอฺบะฮฺ ประหนึ่งการเฎาะวาฟของมวลมลาอิกะฮฺรอบอะรัชของอัลลอฮฺ ซึ่งอะรัชปรากฏในภาพของ บัยตฺมะอฺมูร และบัยตมะอฺมูรปรากฏในรูปของกะอฺบะฮฺ อันเป็นรูปร่างที่ปรากฏในโลกธรรมชาติ การที่รายงานกล่าวว่า กะอฺบะฮฺ คือหน้าตาของบัยตฺมะอฺมูร และบัยตฺมะอฺมูรคือหน้าตาของอะรัช หมายถึง ถ้าหากบุคคลหนึ่งได้เฎาะวาฟรอบกะอฺบะ ด้วยความคู่ควรสมความเป็นจริง ประหนึ่งเขาได้ก้าวขึ้นไปสู่บัยตฺมะอฺมูร และถ้าเขาได้ขึ้นไปสู่ระดับนั้นจริง ก็เท่ากับเขาได้ปฏิบัติหน้าที่ในระดับนั้นได้สมบูรณ์แล้ว รายงานกล่าวว่า “หัวใจของมุอฺมินคืออะรัชอัรเราะฮฺมาน”[1] ฮัจญฺ เป็นหนึ่งในพิธีกรรมของอิสลาม ประหนึ่งเป็นการรำลึกถึงภารกิจอันยิ่งใหญ่ของศาสดาอิบรอฮีม (อ.) เป็นมรดกสืบทอดของเหล่าบรรดาศาสดาทั้งหลาย เป็นหลักการที่มั่นคง เป็นสายเชือกที่เหนียวแน่น ซึ่งการรำลึกถึงฮัจญฺสำหรับผู้มีความกระตือรือร้นเป็นการบ่งบอกให้เห็นถึงความหวัง ฮัจญฺเป็นนามที่มีความสวยงาม ซึ่งถูกบันทึกไว้บนกระดาษแห่งเกียรติยศ สำหรับทุกดวงจิตที่ภายในได้บรรจุความรักในพระเจ้าไว้จนเต็มเปี่ยม แต่เป็นเสียงกัมปนาทแห่งความอัปยศอดสู สำหรับทุกดวงจิตของผู้ตั้งภาคีเทียมเคียงพรเจ้า และผู้ปฏิเสธศรัทธาทั้งหลาย ฮัจญฺเป็นหนึ่งในหลักการอิสลาม อิสลามนั้นมีพื้นฐานและหลักการมั่นคง ซึ่งอิสลามได้วางอยู่บนนั้น ด้วยเหตุนี้ อิสลามจึงมีความมั่นคง แน่นอน ถ้าอิสลามปราศจากพื้นฐานเหล่านี้แล้ว ต้องพบกับความพินาศอย่างแน่นอน และคงจะไม่มีสิ่งใดในอิสลามหลงเหลืออยู่อีกต่อไป นอกจากชื่อเท่านั้น และหนึ่งในพื้นฐานสำคัญของอิสลามคือ ฮัจญฺ ท่านอิมามมุฮัมมัดบากิร (อ.) กล่าวว่า “อิสลามวางอยู่บนพื้นฐานสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ นมาซ ศีลอด ซะกาต ฮัจญฺ และวิลายะฮฺ”[2] ฉะนั้น บุคคลใดที่เจตนาละเว้นการฮัจญฺ เท่ากับเขาได้ทำลายหลักการหนึ่งของศาสนาแห่งพระเจ้า และตามความเป็นจริงแล้วเขาได้ทำลายอิสลามโดยสมบูรณ์ ด้วยเหตุนี้ อัลลอฮฺ (ซบ.) จึงตรัสถึงการละเว้นฮัจญฺโดยตั้งใจว่าเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา กล่าวว่า “ผู้ใดปฏิเสธ [พึงรู้เถิด] อัลลอฮฺไม่ทรงพึ่งประชาชาติทั้งหลาย[3] โองการนี้บ่งบอกให้เห็นว่า ผู้ใดละเว้น ฮัจญฺ โดยตั้งใด ในทางปฏิบัติประหนึ่งว่าเขาเป็นผู้ปฏิเสธศรัทธา แม้ว่าอีมานและความเชื่อของเขาจะไม่ได้ปฏิเสธก็ตาม ฮัจญฺคือสถานแสดงภาพอิสลามโดยรวมและการยืนหยัด อิสลาม ถือเป็นศาสนาสากลมีโปรแกรม และคำสอนที่ครอบคลุมเหนือความสากล ซึ่งมีรากฐานมั่นคง 2 ประการที่ไม่อาจล่มสลายได้กล่าวคือ ฮัจญฺเป็นของทุกคน และธำรงอยู่เสมอ หมายถึง ความเป็นสากลและการยืนหยัดนั่นเอง ดังนั้น เมื่อโครงสร้างของศาสนาเป็นสากล จำเป็นต้องมีโปรแกรมเป็นสากลด้วย ซึ่งตัวอย่างของความเป็นสากลและการยืนหยัดของอิสลามคือ ฮัจญฺ นั่นเอง ซึ่งเราจะเห็นว่า ฮัจญฺ มีโปรแกรมที่เข้มแข็งและถูกรำลึกถึงตลอดเวลา โดยทุกคน และเป็นการรำลึกถึงอยู่เสมอ อาจมีคนถามว่าแล้วนมาซมิได้เป็นสากลดอกหรือ เพราะรำลึกถึงวันละ 5 เวลา อาจกล่าวได้ว่า นมาซเองก็เป็นสากลและเป็นเสาหลักของศาสนา แต่นมาซมิได้มีการลงทุนเหมือนฮัจญฺ การฮัจญฺบ่งบอกให้เห็นความเป็นสากลและการยืนหยัดที่แท้จริงของศาสนาของพระเจ้า เนื่องจาก ฮัจญฺ เป็นหน้าที่ของศาสนา ซึ่งเป็นรากฐานที่มั่นคงและสำคัญของอิสลาม และถึงแม้ว่าจะมีการลงทุนสูงและมีความสามารถโดยสมบูรณ์แล้ว กระนั้นผู้คนก็ยังขวนขวายกระตือรือร้นที่จะไปประกอบพิธีฮัจญฺ การประกอบพิธีฮัจญฺจึงไม่อาจเกิดขึ้นได้ ถ้าปราศจากพื้นฐานหลัก ฉะนั้น ถ้าฮัจญฺเป็นสากลและดำรงอยู่ตลอดไป หลักความเชื่อ และพื้นฐานทางความคิดก็เป็นสากลและดำรงอยู่เสมอ เพราะฮัจญฺ มีใช่คำสั่งที่แยกออกนอกจากหลักความเชื่อ เพราะถ้าปราศจากความเชื่อแล้ว ฮัจญฺ ก็มิอาจถูกตอบรับ ความเป็นสากลของฮัจญฺในทัศนะอัลกุรอาน เพื่อความเป็นสากลที่ชัดเจนของฮัจญฺ จำเป็นต้องพิจารณาถึงมิติต่างๆ เพื่อจะได้เข้าใจว่าสาระแห่งการอิบาดะฮฺนี้มีความกว้างไพศาลและดำรงอยู่เสมอ ซึ่งมีรูปลักษณ์และการเปิดเผยที่แตกต่างกันออกไป กะอฺบะฮฺ ถือว่าเป็นบ้านหลังแรกที่ได้ถูกสถาปนาขึ้นท่ามกลางประชาชาติ เพื่อการอิบาดะฮฺ เป็นศูนย์กลางแรก ที่ได้โน้มน้าวและดึงดูดผู้ปฏิบัติอิบาดะฮฺทั้งหลายไปสู่ตน อัลกุรอานกล่าวว่า “แท้จริง บ้านหลังแรก [สถานอิบาดะฮฺ] ถูกตั้งขึ้นสำหรับมนุษยชาติคือ ที่บักกะฮฺ เป็นที่จำเริญ และเป็นทางนำสำหรับประชาชาติทั้งหลาย ในนั้นมีสัญญาณต่างๆ อันชัดแจ้ง [เช่น] มะกอม [ที่ยืน] อิบรอฮีม ผู้ใดเข้าไปในบ้านนั้น ย่อมได้รับความปลอดภัย สิทธิ์ของอัลลอฮฺทรงกำหนด [พันธะ] แก่มนุษย์ [คือ] การฮัจญฺ ณ อัลบัยตฺ เป็นหน้าที่ของผู้สามารถเดินทางไปยังบ้านนั้น ผู้ใดปฏิเสธ [พึงรู้เถิด] อัลลอฮฺไม่ทรงพึ่งประชาชาติทั้งหลาย[4] อัลกุรอาน ได้เรียกสถานตั้งกะอฺบะฮฺว่า บักกะฮฺ หมายถึงสถานที่พลุกพล่านไปด้วยผู้คนจำนวนมาก แสดงให้เห็นว่า กะอฺบะ คือศูนย์กลางของโลกที่แท้จริง เนื่องจากประชาโลกทั่วสารทิศไม่ว่าเขาจะขยายตัวกว้างไปมากน้อยเท่าใด และอยู่ ณ ที่ใดบนโลกนี้ พวกเขาก็จะย้อนกลับไปสู่ กะอฺบะฮฺ อยู่ดี และเนื่องจากเต็มเปี่ยมไปด้วยผู้คนสถานที่นั้นจึงได้ถูกเรียกว่า บักกะฮฺ นั่นเอง บักกะฮฺ ก็คือมักกะฮฺนั่นเอง เนื่องจากในแง่ของภาษาอรับ อักษรมีมได้เปลี่ยนเป็น อักษรบาอฺ เช่น เดียวกับคำว่า ลาซิบ และ ลาซิม[5] บางคนกล่าวว่า บักกะฮฺ หมายถึงการตอกหรือทุบให้ละเอียด เนื่องจากผลที่เกิดจากความหนาแน่น และความพลุกพล่านของผู้คนจำนวนมากมาย ทำให้ต้องเดินเบียดเสียดและกระทบกระทั่งกัน คนหนึ่งอาจรบกวนอีกคนหนึ่งก็ได้ จึงได้เรียกที่นั้นว่า บักกะฮฺ[6] ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า “เนื่องจากว่าสถานที่ดังกล่าว จะทำให้บรรดาผู้อหังการต้องพบกับความอัปยศอดสู ความจองหองของพวกเขาจะถูกทำลายทิ้งอย่างไม่เป็นท่า จึงได้เรียกสถานที่นั้นว่า บักกะฮฺ”[7] ครั้นเมื่อ กะอฺบะฮฺ ได้กลายเป็น กิบละฮฺ อย่างเป็นทางการของชาวมุสลิม บรรดาผู้ปฏิบัติตามแนวทางของมูซา (อ.) ได้ทักท้วงว่า พวกท่านได้เปลี่ยนกิบละฮฺ จากบัยตุลมุก็อดดิส ไปยังกะอฺบะฮฺ ได้อย่างไร อัลลอฮฺ ได้ประทานวะฮฺยูลงมาว่า กะอฺบะฮฺ นับเป็นสถานอิบาดะฮฺที่เก่าแก่กว่าถานที่อื่นทั้งหมด กะฮฺบะฮฺ เป็นสถานที่แรกที่ได้ถูกสร้างขึ้นเพื่อ การอิบาดะฮฺของปวงบ่าวของพระเจ้า และเป็นแหล่งชี้นำทางมนุษย์ชาติ ดั่งที่ที่ทราบกันดีว่า กะอฺบะฮฺ มีความจำเริญและมีความสิริมงคลมากมาย การชี้นำทางของ กะอฺบะฮฺ สำหรับประชาชาติทั้งปวง มิได้จำกัดแค่ชนชาติหนึ่งชนชาติใด หรือจำกัดแค่ยุคหนึ่งยุคใดเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ นับตั้งแต่กาลนานผ่านมาแล้ว ประชาชาติที่นับถือพระเจ้า ต่างให้ความเคารพต่อกะอฺบะฮฺ มาโดยตลอด ซึ่งพวกเขาได้แสดงความเคารพต่อกะอฺบะฮฺ ในลักษณะที่แตกต่างกัน และถือเป็นความจำเป็นสำหรับพวกเขาที่ต้องปฏิบัติเช่นนั้น ดังนั้น สิ่งนี้จึงเป็นคำตอบที่สมบูรณ์สำหรับ บางศาสนาแห่งฟากฟ้าที่ทักท้วงเรื่อง กะฮฺบะฮฺ ด้วยเหตุผลที่ยืนยันว่า กะอฺบะฮฺ นั้นเก่าแก่กว่า บัยตุลมุก็อดดิส มีประวัติศาสตร์ที่มีนานกว่า มีความเก่าแก่ในแง่ของสถานประกอบอิบาดะฮฺมากกว่าที่อื่นทั้งหมด ซึ่งบางด้วยเหตุที่กะอฺบะฮฺ มีความเก่าแก่กว่าในแง่ของประวัติศาสตร์ อัลกุอาน จึงได้เรียกกะอฺบะฮฺว่า “บัยตุลอะตีก”[8] หมายถึง บ้านเก่าแก่ โบราณกาล แน่นอนว่า ทุกสิ่งที่มีความเก่าแก่มากกว่า ย่อมมีคุณค่าและมีความสำคัญยิ่งกว่าตามไปด้วย คำว่าอะตีกตรงกับคำอื่นที่มิใช่ภาษาอรับว่า แอ็นทีค ศูนย์กลางการชี้นำประชาโลก อัลกุรอาน กล่าวว่า กะอฺบะฮฺ คือบ้านหลังแรกที่ถูกสถาปนาขึ้นเพื่อการอิบาดะฮฺ เป็นสถานเก่าแก่ที่สุด จึงตั้งให้กะอฺบะฮฺ เป็นศูนย์กลางของประชาโลกสำหรับผู้เป็นบ่าวของพระองค์ อัลกุรอานกล่าวว่า “แท้จริง บ้านหลังแรก [สถานอิบาดะฮฺ] ถูกตั้งขึ้นสำหรับมนุษยชาติคือ ที่บักกะฮฺ เป็นที่จำเริญ และเป็นทางนำสำหรับประชาชาติทั้งหลาย”[9] หมายถึงสถานที่แรกที่ถูกสร้างขึ้นสำหรับประชาโลก เพื่อการอิบาดะฮฺและเป็นทางนำสำหรับพวกเขา อันได้แก่ กะอฺบะฮฺ ซึ่งมิได้จำกัดเพียงแค่ชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ประชาชนที่อยู่อาศัยในเขตภูมิอากาศหนึ่ง มิได้ดีไปกว่าประชาชนอีกเขตหนึ่ง ในที่นี้เขตแดนทางภูมิศาสตร์มิได้มีบทบาทแต่อย่างใด ด้วยเหตุนี้เอง เราจึงเห็นประชาชาติจากทั่วสารทิศไม่ว่าจะมาจากเอเชีย แอฟริกา ยุโรป อเมริกา หรือลาตินอเมริกา จะเป็นชาวยะฮูดีย หรืออรับต่างให้ความเคารพต่อกะอฺบะฮฺทั้งสิ้น[10] อัลกุรอาน กล่าวว่า จงรำลึกเมื่อเราได้แนะนำสถานอัลบัยตฺ (กะอฺบะฮฺ) แก่อิบรอฮีม เพื่อให้เป็นสถานที่ประกอบอิบาดะฮฺ และกำชับเขาว่า เจ้าอย่าตั้งภาคีต่อข้าแต่อย่างใด จงทำบ้านของข้าให้สะอาด สำหรับผู้มาเวียนรอบ ผู้ยืนนมาซ ผู้โค้งคารวะ และผู้สุญูด และจงประกาศแก่มนุษย์ทั่วไปเพื่อการทำฮัจญฺ พวกเขาจะมาหาเจ้าทุกทาง (ในทุกสภาพและทุกพาหนะ) ทั้งด้วยการเดินด้วยเท้าเปล่า ขับขี่พาหนะที่เป็นอูฐเพรียวทุกตัว หรือพาหนะอื่น มาจากทางไกลทุกทิศทาง หรือใกล้ โดยมีจุดประสงค์เพื่อประกอบพิธีฮัจญฺ และซิยาเราะฮฺ[11] เหตุผลอีกประการหนึ่งของประเด็นนี้ อัลกุรอาน กล่าว่า “จงรำลึกถึง เมื่อเราได้ให้บ้านหลังนั้น [กะอฺบะฮฺ] เป็นสถานที่กลับ และยังความปลอดภัยแก่มวลมนุษย์” –การตีความดังกล่าวนี้แม้นว่าจะไม่ได้ระบุถึงประชาชนในยุคก่อนหน้านี้ แต่เมื่อพิจารณาประโยคถัดไปที่ว่า “พวกเจ้าจงเลือกที่ยืนของอิบรอฮีมเป็นที่นะมาซ” เข้าใจได้ทันที่ว่า กะอฺบะฮฺ มิได้จำกัดอยู่แค่ประชาชาติหลังจากการประทานอัลกุรอานเท่านั้น ทว่าประชาชนในอดีตก็เดินทางมาซิยาเราะฮฺกะอฺบะฮฺด้วยเช่นกัน เนื่องจากพันธสัญญาของพระเจ้า ทีมีต่อสองศาสดาผู้ยิ่งใหญ่ทั้งศาสดาอิบรอฮีม และอิสมาอีล (อ.) คือ “เจ้าทั้งสองจงทำความสะอาด บ้านของข้า สำหรับผู้มาเวียน ผู้จำสมาธิ ผู้โค้ง และผู้กราบ” ความเสมอภาคกันของผู้ซิยาเราะฮฺกะอฺบะฮฺ อลกุรอาน กล่าวอย่างชัดเจนว่าการประกอบพิธีฮัจญฺ หรือการปฏิบัติตามบัญชาของพระเจ้า โดยเฉพาะการ ซิยาเราะฮฺกะอฺบะฮฺ มิได้จำกัดเฉพาะประชาชนในพื้นที่เท่านั้น ผู้ที่เดินทางไปซิยาเราะฮฺกะอฺบะฮฺ ไม่ว่าเขาจะเป็นใคร เดินทางมาจากที่ใด และอยู่ในสถานภาพใดก็ตาม เขาต่างเท่าเทียมกันทั้งสิ้น มิติของสถานภาพในการเดินทางครั้งนี้คือ เรื่องจิตวิญญาณ อันได้แก่ ความใกล้ชิด ดังอัลกุรอานกล่าวว่า “แน่แท้ บรรดาผู้ปฏิเสธและขัดขวางจากทางของอัลลอฮฺ มัสญิดอัล-ฮะรอม ซึ่งเราได้สร้างไว้สำหรับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นคนพื้นที่หรือคนเดินทางก็ตาม อีกทั้ง ผู้ที่มุ่งมาดที่จะออกนอกขอบเขตของความสมดุลด้วยความอธรรม และหมายที่จะก่อการนอกลู่นอกทางในนั้น เราจะให้เขาลิ้มรสการลงโทษอันเจ็บปวด”[12] ตามความหมายของโองการ เห็นได้ว่ามัสญิดที่ถูกสร้างในเขตหวงห้ามของกะอฺบะฮฺ นั้นเป็นสถานที่นมาซ ดุอาอฺ และเดินเวียนรอบของประชาชน อย่างเท่าเทียมกัน และไม่มีความแตกต่างกันระหว่างคนในพื้นที่ หรือคนที่เดินทางมาจากที่อื่น สมัญญานามสากลของฮัจญฺ เมื่อพิจารณามิติต่างๆ ของฮัจญฺแล้ว จะพบความเป็นสากลของฮัจญฺได้อย่างง่ายดาย เนื่องจากการเดินทางของมุสลิมไปยังกะอฺบะฮฺ ถือเป็นการอพยพของทุกคนไปยังพระเจ้า ซึ่งการอพยพไปในโลกอันกว้างไพศาล ถือเป็นความจำเป็นของศาสนา บรรดาศาสนาที่นับถือพระเจ้าถือว่า การฮัจญฺนั้นเป็นคำสั่งที่เป็นทางการของศาสนา ซึ่งเป็นหลักฐานที่ยืนยันให้เห็นว่า ความเป็นสากลของฮัจญฺนั้น ทั้งประวัติศาสตร์และจำนวนปีคือข้อกำหนดสำคัญ ดังเช่น เรื่องราวของมูซา กับชุอัยบฺ (อ.) จากจำนวน 8 ปี ถูกตีความว่าเป็น ฮัจญฺ 8 ครั้ง “เขา (ชุอัยบฺ) กล่าวว่า “ท่านจะต้องทำงานให้ฉัน 8 ปี”[13] เนื่องจากทุกปีนั้นจะต้องปฏิบัติฮัจญฺ 1 ครั้ง ดังนั้น 8 ปี จึงเท่ากับการประกอบฮัจญฺ 8 ครั้ง ฉะนั้น ฮัจญฺ จึงอยู่ในฐานะของรูปลักษณ์ของอิสลามที่สำคัญที่สุดประการหนึ่ง การเกิดสมจริงของ 2 หลักสำคัญ ได้แก่ ความเป็นสากล และการดำรงอยู่อย่างต่อเนื่อง จึงเป็นสิ่งเหมาะสมอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่ปรากฏกับอิบรอฮีม (อ.) และสิ่งที่ปรากฏก่อนยุคสมัยของท่านคือ ในยุคของอาดัม (อ.) ก็ได้เกิดในสมัยของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อลฯ) ศาสดาในยุคสุดท้ายด้วยเช่นกัน ฉะนั้น ฮัจญฺ จึงมิได้จำกัดอยู่ในยุคใดยุคหนึ่ง หรือจำกัดอยู่กับประชาชาติใด ทว่าฮัจญฺนั้นเป็น สากลและดำรงอยู่เสมอ ได้ปรากฏในทุกประชาชาติและทุกเผ่าพันธุ์ในอดีตตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา และอยู่ท่ามกลางการอนุรักษ์เสมอ สรุป จากสิ่งที่กล่าวมา ฮัจญฺ จึงต้องเป็นป้ายสัญลักษณ์ที่บ่งบอกให้เห็นถึงรากหลักสำคัญ 2 ประการ มิเช่นนั้นแล้ว ฮัจญฺจะเป็นทางนำสำหรับประชาโลกไม่ได้ คงเป็นได้เพียงพิธีกรรมประจำชนเผ่าเฉพาะเท่านั้น และถ้าเป็นเช่นนั้นจริง ก็แสดงให้เห็นว่า ฮัจญฺ ขัดกับพื้นฐานของการสถาปนาฮัจญฺ อันเป็นกฎเกณฑ์กำหนดทาง ชัรอียฺ ที่ว่า ฮัจญฺเป็นสากลและต้องดำรงอยู่ตลอดไป ดังที่ท่านอิมาม อะลี (อ.) กล่าวว่า “พวกท่านไม่ได้พิจารณาดอกหรือว่า อัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงทดสอบมนุษย์ตั้งยุคสมัยของอาดัม (อ.) จนถึงปัจจุบัน ด้วยหินต่างๆ ที่ไม่ให้คุณและไม่ให้โทษ มองไม่เห็น และไม่ได้ยิน ดังนั้น พระองค์จึงได้สร้างสิ่งนั้นคู่กับบ้านของพระองค์ อันเป็นเหตุก่อให้เกิดความมั่นคงถาวรสำหรับประชาชน”[14] [1] บิฮารุลอันวาร เล่ม 55, หน้า 39 พิมพ์ที่เบรุต [2] อุซูลกาฟียฺ, เล่ม 2, หน้า 18. [3] อาลิอิมรอน 97 [4] อาลิอิมรอน 96, 97 [5] ตักซีร มัจญฺมะอุลบะยาน เล่ม 1-2 หน้า 797 [6] บิฮารุลอันวาร เล่ม 96 หน้า 77 [7] อ้างแล้ว เล่ม 10 หน้า 127 [8] ฮัจญฺ 29 [9] อาลิอิมรอน 96 [10] อันมีซาน เล่ม 3, หน้า 358-363 [11] ฮัจญฺ 26-27 [12] ฮัจญฺ 25 [13] เกาะซ็อซดฺ 27 [14] นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ คำเทศนาที่ 192 บรรพที่ 53-54