หน้าที่ต่อสังคม-การทำลายชื่อเสียงของคนอื่น
หน้าที่ต่อสังคม-การทำลายชื่อเสียงของคนอื่น
0 Vote
216 View
การทำลายชื่อเสียงและเกียรติยศของผู้อื่น อิสลามถือว่าเป็นหนึ่งในบาปใหญ่ ซึ่งมีโทษทัณฑ์ที่แตกต่างกันออกไปแล้วแต่กรณี ในบางครั้งอาจเป็นการลงโทษทั่วไป และในบางครั้ง คือ การฆ่าให้ตายตกไปตามกัน การทำลายเกียรติของผู้อื่นนอกจากจะถูกลงโทษที่รุนแรงแล้ว ยังเป็นสาเหตุทำให้สายสัมพันธ์ฉันเครือญาติที่อิสลามได้เน้นไว้อย่างหนักต้องได้รับการกระทบกระเทือน และส่งผลถึงข้อบัญญัติบางเรื่อง เช่น มรดกและทายาทผู้รับมรดกต้องถูกยกเลิกไปโดยปริยาย ความรักและความผูกพันทางครอบครัว อิสลามถือว่าเป็นแก่นและรากหลักที่แท้จริงของสังคม นอกจากนั้นอิสลามยังถือว่าเป็นความผิดขั้นรุนแรง ซึ่งอัลลอฮ ทรงสัญญาไว้แล้วว่าพวกเหล่านี้ต้องถูกลงโทษอย่างสาหัสที่สุด และแม้ว่าจะเป็นความผิดเพียงครั้งเดียวก็เพียงพอที่จะทำให้ชื่อเสียง และเกียรติยศของเขาสูญสิ้นไปจากสังคม ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวถึงการทำลายชื่อเสียงของคนอื่นว่าเป็นความชั่วร้ายว่า.... สิ่งหนึ่งที่ชี้ให้เห็นถึงความเลวร้าย นั้นก็คือการก้าวร้าวคนดี สาเหตุที่คนเราต้องทำลายชื่อเสียงของคนอื่นไม่ว่าจะด้วยการกระทำหรือคำพูดก็ตาม มีสาเหตุมาจากความอิจฉาริษยาเสียเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งความอิจฉาริษยานั้นเกิดจากความบกพร่องและเป็นเพราะเราไม่มีสิ่งนั้นจึงได้อิจฉาผู้อื่น ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวถึงความอิจฉาริษยาว่า. 1. ความอิจฉาริษยา ก็คือ คุกของวิญญาณ 2. ความอิจฉาริษยา นำมาซึ่งความเศร้าหมอง 3. ความอิจฉาริษยาทำให้ร่างกายผุพัง 4. ความอิจฉาริษยาเป็นโรคชนิดหนึ่ง หากไม่หยุดยั้งก็ไม่อาจรักษาได้จนกว่าความตายของผู้อิจฉาหรือผู้ถูกเขาอิจฉาริษยาจะมาเยือน 5. คนขี้อิจฉาริษยา ย่อมเป็นสหายที่แย่ที่สุด 6. ความริษยาที่มีต่อเพื่อนคือภัยพิบัติของมิตรภาพ 7. คนตระหนี่ถี่เหนียวมักรู้สึกต่ำต้อยอยู่เสมอ และคนขี้อิจฉาตาร้อนก็จะมีโรคภัยอยู่ตลอดเวลา 8. มันช่างเป็นความใจแคบอะไรเช่นนั้น ที่ไปอิจฉาริษยา แม้กระทั้งความสุขของเพื่อนตนเอง 9. สุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงอยู่ที่การออกห่างความริษยา ท่านอิมามอะลี (อ.) ยังได้สอนวิธีแก้ความอิจฉาริษยาและป้องกันมิให้สิ่งนี้เกิดกับตนเอง ซึ่งหนึ่งในวิธีการเหล่านั้นคือ ความพึงพอใจ ในสิ่งที่ตนมี ดังนั้น ท่านจึงกล่าวถึงความพึงพอใจไว้ว่า 1. มนุษย์พึงพอใจอยู่กับความจำเป็นในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ไม่ใช่ในเรื่องที่มากมายอันใด 2. ไม่มีทรัพย์สฤงคารอันใดที่จะเทียบได้เท่ากับความพึงพอใจ 3. ผู้ใดก็ตาม ที่พึงพอใจอยู่กับของที่พระเจ้าได้ทรงมอบให้กับเขา ย่อมจะไม่เศร้าโศกกับสิ่งที่เขาไม่มี 4. ถ้าหากท่านไม่อาจสามารถจะหาเอาสิ่งที่ท่านพึงปรารถนามาได้ ก็จงพึงพอใจกับสิ่งที่ท่านมีอยู่ การติดสินบน ทรัพย์สิน ของกำนัล หรือผลประโยชน์อื่น ๆ ที่หยิบยื่นให้แก่บุคคลเพื่อเบี่ยงเบน หรือจูงใจให้ผู้นั้นกระทำหรือไม่กระทำการในหน้าที่การงานของตน ไม่ว่าการนั้นจะชอบหรือมิชอบด้วยหน้าที่ก็ตาม เรียกว่า “สินบน” อิสลามถือว่าการให้และรับสินบนเป็นบาปใหญ่ (ฮะรอม) และเป็นการทำลายความมั่นคงของสังคมและศาสนาตลอดจนเป็นการทำลายความยุติธรรมของตนเอง ซึ่งต้องถูกลงโทษอย่างรุนแรงทั้งโลกนี้และโลกหน้า อัล-กุรอาน และวจนะของท่านศาสดามุฮัมมัด กล่าวว่า “ผู้ให้ ผู้รับ และผู้เป็นสื่อในการติดสินบน ล้วนแต่ได้รับการสาปแช่งทั้งสิ้น” ท่านอิมาม ญะอฟัร อัซซอดิก (ขอความสันติพึงมีแด่ทาน) กล่าวว่า “การรับสินบนในความหมายเท่ากับเป็นการปฏิเสธพระผู้เป็นเจ้า” แน่นอน โทษทัณฑ์ที่กล่าวมาเป็นของพวกที่รับสินบนเพื่อทำตามความถูกต้อง หรือเพื่อคามยุติธรรม ดังนั้น การรับสินบนเพื่อทำผิดกฎหมาย หรือเพื่อกดขี่แล้วละก็ โทษย่อมรุนแรงยิ่งกว่าหลายเท่า การลักขโมย ขโมย เป็นอีกพวกหนึ่งที่เป็นพวกบ่อนทำลายความมั่นคงของสังคม เป็นธรรมดาที่ในชีวิตของคน ๆ หนึ่งได้พยายามทำงานและขวนขวายหาเงินทองด้วยหยาดเหงื่อของตนเอง และพร้อมที่จะปกป้องมันด้วยชีวิตเพื่อให้รอดจากน้ำมือของพวกขโมยและพวกฉ้อฉลทั้งหลาย ก็เพื่อที่จะให้ทรัพย์สินเหล่านั้นเป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิตและเป็นหลักประกันทางสังคม ซึ่งถ้าทรัพย์สินของเขาไม่มีความปลอดภัย ย่อมเกิดความปั่นป่วนและวุ่นวายไปทั้งระบบ และไม่ยุติธรรมสำหรับชีวิตของคน ๆ หนึ่งที่ได้ทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงงานตลอดอายุไขของตนเพื่อทำงานแลกเงิน แต่ต้องมาสูญสิ้นไปเพราะน้ำมือของพวกขโมยหรือพวกฉ้อฉล อิสลามจึงวางโทษที่รุนแรงสำหรับขโมยไว้ว่า พวกเขาต้องถูกตัดนิ้วมือขวาสี่นิ้วด้วยกัน อัล-กุรอาน กล่าวว่า وَالسَّارِقُ وَالسَّارِقَةُ فَاقْطَعُواْ أَيْدِيَهُمَا جَزَاء بِمَا كَسَبَا نَكَالاً مِّنَ اللّهِ وَاللّهُ عَزِيزٌ حَكِيمٌ “ขโมยทั้งหญิงและชาย มือขวาของเขาทั้งสองต้องถูกตัด เพื่อตอบแทนการกระทำที่ทั้งสองได้ก่อขึ้น และเป็นบทลงโทษให้หลาบจำจากอัลลอฮ” (อัล-กุรอาน บท อัล-มาอิดะฮ โองการที 38) ทรัพย์สินหรือข้าวของเครื่องใช้หรือเสื้อผ้าอาภรณ์ที่ซื้อด้วยเงินที่ขโมยมาถือว่าไม่อนุมัติให้ใช้จ่าย แม้แต่จะนำไปสวมใส่เพื่อแสดงความเคารพภักดีต่อพระเจ้า ก็จะไม่ถูกยอมรับ ณ พระองค์ การโกงตราชั่ง ในการค้าขายสิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ความซื่อสัตย์ไม่คดโกง อิสลามจึงสั่งห้ามการโกงตราชั่งไว้อย่างเด็ดขาด ซึ่งการโกงตราชั่งถือว่าเป็นการขโมยประเภทหนึ่ง อัลลอฮ (มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระองค์) จึงสาปแช่งพวกที่โกงไว้ว่า وَيْلٌ لِّلْمُطَفِّفِينَ الَّذِينَ إِذَا اكْتَالُواْ عَلَى النَّاسِ يَسْتَوْفُونَ وَإِذَا كَالُوهُمْ أَو وَّزَنُوهُمْ يُخْسِرُونَ أَلَا يَظُنُّ أُولَئِكَ أَنَّهُم مَّبْعُوثُونَ لِيَوْمٍ عَظِيمٍ “ขอความหายนะจงประสบแก่บรรดาผู้โกงตราชั่ง และเมื่อพวกเขาตวงเอาจากผู้อื่นเขาจะตวงจนเต็ม แต่เมื่อพวกเขาตวงหรือชั่งให้กับคนอื่นพวกเขาจะทำให้มันพร่องลง ไม่คิดหรือว่าพวกเขานั้นจะถูกทำให้ฟื้นในวันที่ยิ่งใหญ่” (อัล-กุรอาน บทอัล-มุฏ็อฟฟิฟีน โองการที่ 1-5) การโกงตราชั่งนอกจากจะเป็นการเอาเปรียบแล้ว ยังถือเป็นการยักยอกทรัพย์ของผู้อื่น ทำให้ผู้อื่นขาดความมั่นใจและลูกค้าก็จะลดน้อยลงในที่สุด ซึ่งตนนั่นแหละเป็นผู้ขาดทุน เนื่องจากทรัพย์ที่ได้จากการโกงตราชั่งเป็นสิ่งต้องห้ามนำไปใช้และบริโภคอันเนื่องจากเป็นการ ขโมยประเภทหนึ่ง นั่นเอง