ขั้นตอนการรู้จักกุรอาน

ขั้นตอนการรู้จักกุรอาน 1. การยึดมั่นสอัล-กุรอาน การยึดมั่นอัล-กุรอานเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำหรับการได้รับประโยชน์และการรู้จักอัล-กุรอาน หลายต่อหลายโองการได้เชิญชวนให้ปวงบ่วงทั้งทำการยึดมั่นกับ-อัล-กุรอาน เช่น ในซูเราะฮฺ ซุครุฟ พระองค์ตรัสกับท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) ว่า فَاسْتَمْسِكْ بِالَّذِي أُوحِيَ إِلَيْكَ إِنَّكَ عَلَى صِرَاطٍ مُّسْتَقِيمٍ ดังนั้นจงยึดมั่นตามที่ได้ถูกวะฮียฺแก่เจ้า แท้จริงเจ้านั้นอยู่บนแนวทางอันเที่ยงตรง (อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ อัซซุครุฟ 43) อัล-กุรอานซูเราะฮฺ อะอฺรอฟ กล่าวว่า وَالَّذِينَ يُمَسِّكُونَ بِالْكِتَابِ وَأَقَامُواْ الصّلوةَ إِنَّا لاَ نُضِيعُ أَجْرَ الْمُصْلِحِينَ และบรรดาผู้ที่ยึดถือคัมภีร์และดำรงนมาซ แท้จริงเราจะไม่ทำลายรางวัลของผู้ปรับปรุงแก้ไขทั้งหลาย (อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ อัล-อะอฺรอฟ 170) จุดประสงค์ของคำว่า กิตาบ ในโองการนั้นหมายถึง คัมภีร์เตารอต หรืออัล-กุรอาน บรรดานักตัฟซีรได้อธิบายไว้ 2 ลักษณะดังนี้ ตะมักซุก หมายถึงการยึดมั่น หรือการยึดติดกับสิ่ง ๆ หนึ่งเพื่อปกป้องรักษาไม่ให้ของสิ่งนั้นสุญเสียไป ซึ่งสามารถแยกออกเป็นการยึดมั่นที่สามารถสัมผัสได้ (ฮิซซียฺ) กับการยึดมั่นที่สัมผัสไม่ได้เป็นการสัมผัสด้านใน (มะอฺนะวีย) 1. การยึดมั่นที่สัมผัสได้ หมายถึง การที่ได้จับหรือถืออัล-กุรอานไว้ในมืออย่างมั่นคง พร้อมกับปกปักรักษาปกและเล่มอัล-กุรอานไม่ให้เสื่อมสลาย ถึงแม้ว่าการยึดมั่นลักษณะเช่นนี้จะมีประโยชน์และเป็นการกระทำที่ดีก็ตาม แต่ไม่ใช่วัตถุประสงค์ของโองการ 2. การยึดมั่นที่เป็นการสัมผัสด้านใน (มะอฺนะวีย) ซึ่งถือว่าเป็นการยึดมั่นที่แท้จริงเนื่องจากมนุษย์ได้ยึดมั่นด้วยความสมบูรณ์อย่างแท้จริง ด้วยความเลื่อมในศรัทธา และด้วยหัวใจที่จะปกป้องไม่ให้เสื่อมสลาย พร้อมกับไม่อนุญาตให้ตนปฏิบัติขัดแย้งกับอัล-กุรอานแม้จะเล็กเท่าผลธุลีก็ตาม อีกทั้งได้ทุมเทชีวิตจิตใจเพื่อการเรียนรู้และสร้างความเข้าใจกับอัล-กุรอาน (ตัฟซีร เนะมูเนะฮฺ เล่ม 6 หน้า 453) สรุป หนึ่งในหน้าที่ของเราที่มีต่อัล-กุรอานคือ การยัดมั่นอย่างแท้จริงกับอัล-กุรอาน และจุดประสงค์คือ การยึดมั่นแบบมะอฺนะวียฺ 2. การแปลอัล-กุรอาน การแปลอัล-กุรอานเป็นอีกหนึ่งในขั้นตอนของการรู้จักอัล-กุรอาน การแปลอัล-กุรอานสำหรับบุคคลที่มีความเข้าใจภาษาอาหรับดีพอ และมีเงื่อนไขที่คู่ควรเหมาะสม หรือเลือกใช้การแปลเป็นภาษาอื่นเป็นตัวช่วยกรณีที่ไม่มีความสันทัดภาษาอาหรับดีพอ การแปลอัล-กุรอานสำหรับบุคคลที่ไม่มีเงื่อนไขพอเพียง หรือไม่มีความรู้เรื่องการอรรถาธิบายอัล-กุรอาน มิได้นำเอาสัญลักษณ์ข้างเคียง (ริวายะฮฺและโองการอื่น) มาช่วยในการแปล และไม่ใช่ปัญญาถือว่าไม่อนุญาต เนื่องจากบั้นปลายสุดท้ายจะกลายเป็นการอรรถาธิบายอัล-กุรอานตามทัศนะของตนเอง ซึ่งถือว่าไม่อนุญาต ดังนั้น การแปลอัล-กุรอาน จึงถือว่าเป็นบทสรุปของการตัฟซีร ซึ่งผู้ที่สามารถกระทำสิ่งนี้ได้คือ นักอรรถาธิบายอัล-กุรอานนั่นเอง การแปลอัล-กุรอานสามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้ 1. การแปลคำต่อคำ หมายถึงการแปลทุกคำพูดของอัล-กุรอานเป็นภาษาที่สอง โดยไม่ได้ใส่ใจต่อการอธิบาย โครงสร้างของภาษาที่สอง และรูปประโยค หรืออีกนัยหนึ่งคือไม่ได้ใส่ใจต่อหลักภาษาที่ใช้ การแปลเช่นนี้มีประโยชน์สำหรับการเรียนรู้ภาษาอาหรับในเบื้องต้น และเพื่อให้ชำนาญต่อภาษาอาหรับ 2. การแปลอิสระ หมายถึงการแปลเป็นภาษาที่สองในเชิงสรุปความหมายโดยรวมของโองการ โดยอาศัยตัฟซีรเป็นตัวช่วยในการแปล โดยปกติการแปลลักษณะเช่นนี้จะเพิ่มการอธิบายลงไปเล็กน้อยโดยใส่ไว้ในวงเล็บ ซึ่งผู้แปลมีความอิสระในการแปล เพราะตนเข้าใจโองการอย่างไรก็จะถ่ายทอดเป็นภาษาที่สองออกมาทันที การแปลลักษณะเช่นนี้เหมาะสมและเป็นประโยชน์สำหรับการสร้างความเข้าใจในความหมาย และการอรรถาธิบายโองการโดยรวม 3. การแปลประโยคต่อประโยค หมายถึงการสร้างความเข้าใจประโยคของอัล-กุรอานเสียก่อน หลังจากนั้นจึงถ่ายทอดออกมาเป็นภาษาที่สองโดยกวดขันเรื่องหลักภาษาเป็นพิเศษ และไม่มีการอธิบายเพิ่มเติมในเชิงของ การตัฟซีร การแปลลักษณะเช่นนี้จะมีความมั่นคง ละเอียด และถูกต้องมากที่สุด อย่างเช่น การแปลเป็นภาษาฟารซียฺของท่านอายะตุลลอฮฺ มะการิมชีรอซียฺ หรือของอุซตามฟูลอดวันด์ เป็นต้น ข้อควรพิจารณา นักวิชาการบางท่านได้ให้ทัศนะว่าการแปลอัล-กุรอานเป็นภาษาที่สองไม่อาจทำให้สมบูรณ์ได้เด็ดขาด ถ้าเป็นเช่นนั้นก็จะเกิดอัล-กุรอานเล่มที่สองขึ้นมาทันที (ปัญหายุ่งยากในการแปลเป็นเหตุผลที่ดีพอสำหรับข้อกล่าวอ้างข้างต้น) 3. การอรรถาธิบายอัล-กุรอาน การอรรถาธิบายอัล-กุรอานเป็นขั้นตอนที่ลุ่มลึกที่สุดสำหรับการรู้จักอัล-กุรอาน ซึ่งจะขอนำเสนอโครงสำคัญของการตัฟซีรในเชิงสรุปดังนี้ 1. ตะอฺรีฟ (คำนิยาม) ตัฟซีรในเชิงภาษาหมายถึง การเปิดเผย การทำให้ความหมายของคำ ๆ หนึ่งกระจ่าง อีกนัยหนึ่งการตัฟซีร หมายถึงการฉีกสิ่งกีดขวางที่กั้นประเด็นต่าง ๆ อันเป็นรูปลักษณ์ที่แท้จริงของคำ ความหมายในเชิงของนักปราชญ์ ตัฟซีรหมายถึงการอธิบายความหมายโองการอัล-กุรอาน และการฉีกม่านที่กั้นเป้าหมายหรือวัตถุประสงค์ที่โองการต้องการกล่าวถึงออก ข้อควรพิจารณา อัล-กุรอานคือรัศมีและเป็นคัมภีร์ที่ชัดแจ้ง ไม่มีจุดประเด็นใดที่มืดบอดเด็ดขาด ดังนั้น ในความเป็นจริงหัวใจและจิตวิญญาณของเราต่างหากที่มีความมืดบอด เราจำเป็นต้องขัเกลาตัวเองก่อนให้สะอาดเพื่อจะได้เข้าใจ ความหมายและเจตนารมณ์ของอัล-กุรอาน 2. การตัฟซีรอัล-กุรอานอย่างน้อยที่สุดต้องมี 3 เงื่อนไข อนุญาต ให้บุคคลที่มีเงื่อนไขของนักตัฟซีรทั้งหมด สามารถตัฟซีรอัล-กุรอานโดยอาศัยตัฟซีรที่เชื่อถือได้ก่อนหน้านั้นเป็นเกณฑ์ในการตัฟซีร วาญิบ สำหรับนักตัฟซีรที่จะต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องในหลักศรัทธาของตน และต้องป้องกันการหลงทางออกไป อีกทั้งสามารถอธิบายกฏเกณฑ์ต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้าที่ปรากฏในอัล-กุรอานได้ ฮะรอม สำหรับบุคคลที่ไม่มีเงื่อนไขของนักตัฟซีร หรือไม่ใส่ใจต่อเงื่อนไขของการตัฟซีร และได้ตัฟซีรตามทัศนะของตนเอง 3. การตัฟซีรตามทัศนะตนเองหมายถึงอะไร หมายถึงผู้อธิบายอัล-กุรอานมีเงื่อนไขไม่เพียงพอต่อการตัฟซีร และไม่ใส่ใจต่อสัญลักษณ์ทั้งสติปัญญา โองการ และริวายะฮฺในการตัฟซีร การตัฟซีรเช่นนี้ถือว่าใช้ไม่ได้ ริวายะฮฺกล่าวว่า สถานที่พำนักของผู้อธิบายอัล-กุรอานด้วยทัศนะของตนเองคือ ไฟนรก 4. จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นเข้าใจได้ว่าขั้นตอนต่อไปนี้ไม่ใช่ส่วนหนึ่งของการตัฟซีร - การอ่านโองการต่าง - การแปลคำหรือประโยค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปลคำต่อคำ - การตะดับบุรและการตะฟักกุรเกี่ยวกับโองการต่าง ๆ เพื่อความเข้าใจโดยไม่ได้อธิบายออกมา - การอ้างถึงตับซีรไม่ใช่การตัฟซีร ข้อควรพิจารณา ไม่มีความแตกต่างกันระหว่างการตะดับบุดและการตะฟักกุรในอัล-กุรอาน กับการอธิบายอัล-กุรอานตามทัศนะของตัวเอง แน่นอนว่าการตะดับบุรและการตะฟักกุรนั้นเป็นประโยชน์กับและมีความจำเป็นต่อตนเอง แต่ถ้าต้องการอธิบายให้บุคคลอื่นทราบจำเป็นต้องอาศัยการตัฟซีร หรือต้องมีเงื่อนไขของการตัฟซีรอยู่ด้วยจึงจะถือว่าเชื่อถือได้ มิเช่นนั้นแล้วจะกลายเป็นการตัฟซีรด้วยทัศนะตนเอง ซึ่งถือว่า ฮะรอม 5. แนวทางในการตัฟซีรคืออะไร การแบ่งแนวทางตัฟซีรอัล-กุรอานในเบื้องต้นสามารถแบ่งออกเป็น 2 แนวทางดังนี้ 1. ตัฟซีรเมาฎูอียฺ หมายถึง การนำเอาโองการที่กล่าวถึงเรื่องเดียวกันมารวมไว้ที่เดียวกันและทำการอธิบายไปตามประเด็นเหล่านั้น เช่น เรื่องความเป็นเอกภาพของพระผู้เป็นเจ้า นบูวัต หรืออิมามะฮฺเป็นต้น 2. ตัฟซีรตัรตีบียฺ หมายถึง การอธิบายอัล-กุรอานตั้งแต่แรกจนกระทั่งจบเรียงไปตามซูเราะฮฺ และโองการ ส่วนการแบ่งอีกประเภทหนึ่งกล่าวคือ ถ้าพิจารณาการแบ่ง 2 ประเด็นข้างต้นแล้ว จะเห็นว่าแต่ละประเด็นยังสามารถแบ่งออกได้อีก 7 ประเด็น เช่น การตัฟซีรอัล-กุรอานด้วยอัล-กุรอาน ตัฟซีรดัวยสติปํญญา ตัฟซีรด้วยริวายะฮฺ ตัฟซีรด้วยวิทยาศาสตร์ ตัฟซีรด้วยทัศนะตัวเอง ตัฟซีรด้วยรหัสยะ และการตัฟซีรดัวยการอิจญฺติฮาด 6. เงื่อนไขของนักตัฟซัรคืออะไร บุคคลที่มีเงื่อนไขดังต่อไปนี้สามารถอธิบายอัล-กุรอานได้ แต่ต้องกวดขันเรื่องเงื่อนไข และเอาใจใส่ต่อหลักการเหล่านั้นเป็นพิเศษ 1. มีความรู้ความสามารถเกี่ยวกับหลักภาษาอาหรับ และต้องมีความสันทัดต่อกฎไวยากรณ์เหล่านั้น เช่น มีความรู้เรื่องการแยกคำ ไวยากรณ์ ความหมาย วาทศีลปฺ และอื่น ๆ 2. มีความรู้เกี่ยวกับสาเหตุของการประทานอัล-กุรอาน (สะบะบุลนุซูล) 3. มีความรู้เกี่ยวกับอัล-กุรอานโดยทั่วไป เช่น โองการที่เป็นนาซิค มันซูค มักกียะฮฺ มะดะนียะฮฺ มุฮฺกัม และมุตะชาเบะฮฺ 4. มีความรู้เรื่องฟิกฮฺ 5. มีความรู้เรื่องอุซูล 6. มีความรู้เรื่องฮะดีซ 7. มีความรู้เรื่องการอ่านในสำนวนต่าง ๆ 8. มีความรู้เรื่องปรัชญา ศาสนศาสตร์ สังคม และจริยธรรม 9. ต้องหลีกเลี่ยงการคาดการณ์ หรือการเปรียบเทียบ 10. ต้องรู้จักตัฟซีรและคำพูดของนักตัฟซีรก่อนหน้านั้นและต้องไม่ลอกเรียนแบบ 7. ตัฟซีรที่สำคัญของชีอะฮฺ ส่วนนี้ขอนำเสนอเฉพาะตัฟซีรที่มีความสำคัญและมีชื่อเสียง ซึ่งเป็นที่รู้จักของนักวิชาการทั่วไป 1. ตัฟซีร มัจมะอุลบะยาน มัรฮูมเฏาะบัรซียฮ 2. ตัฟซีร นูรุซซะเกาะลัยนฺ มัรฮูมฮุวัยซียฺ 3. ตัฟซีร อัลมีซาน มัรฮูมอัลลามะฮฺเฏาะบาเฏาะบาอียฺ 4. ตัฟซีร เนะมูเนะฮฺ อายะตุลลอฮฺ มะการิม ชีรอซียฺ 5. ตัฟซีร เมาฎูอฺ พัยยอมกุรอาน อายะตุลลอฮฺ มะการิม ชีรอซียฺ 6. ตัฟซีร เมาฎูอฺ มันชูรญอวีด อายะตุลลอฮฺ ญะอฺฟัร ซุบฮานียฺ แนวทางของตัฟซีรที่กล่าวนามข้างต้น ตัฟซีร มัจมะอุลบะยาน ส่วนใหญ่จะกวดขันเรื่องหลักภาษา และหลักไวยากรณ์ภาษาอาหรับ การอ่าน สาเหตุที่ประทานโองการ คำกล่าวของนักตัฟซีรที่สำคัญจากบรรดาเซาะฮาบะฮฺ และตาบิอีน ตัฟซีร นูรุซซะเกาะลัยนฺ เป็นตัฟซีรริวายะฮฺโดยการนำเอาริวายะฮฺของอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) มาอธิบายโองการ ตัฟซีร อัลมีซาน เป็นตัฟซีรอัล-กุรอานด้วยอัล-กุรอานและส่วนใหญ่อาศัยสติปัญญาเป็นหลักในการตัฟซีร ตัฟซีร เนะมูเนะฮฺ เป็นตัฟซีรสมัยใหม่ที่ผสมผสานระหว่างการตัฟซีรอัล-กุรอานด้วยอัล-กุรอานและตัฟซีรด้วยสติปัญญา ส่วนใหญ่จะกล่าวถึงสังคม ประเด็นความรู้สมัยใหม่ และความเร้นลับของโองการ ตัฟซีร เมาฎูอฺ พัยยอมกุรอาน มีทั้งสิ้น 10 เล่ม เป็นผลงานที่มีจากนักเขียนตัฟซีรเนะมูเนะฮฺ ตัฟซีร เมาฎูอฺ มันชูรญอวีด มีทั้งสิน 10 เล่ม เป็นตัฟซีรเมาฎูอฺชุดแรกที่อายะตุลลอฮฺ ซุบฮานียฺได้แขียนขึ้นมา 4. การตะอฺวีล การเข้าใจเรื่องการตะอฺวีลอัลกุรอานถือว่าเป็นการเข้าใจที่ลึกซึ้ง และเป็นอีกหนึ่งขั้นตอนสำคัญสำหรับการรู้จักอัล-กุรอาน ตะอวีล ในเชิงภาษามาจากรากศัพท์คำว่า อัลเอาวัล หมายถึง การกลับไปสู่แหล่งเดิม หรือไปสู่รากฐานเดิม หรือการกลับสิ่งหนึ่งไปยังเป้าหมายเดิมของตน (มุฟรอดาต รอฆิบ เอซฟาฮานียฺ หมวดคำว่า เอาวัล) ในทัศนะของนักตัฟซีรกล่าวว่า คำว่าตะอฺวีล มีหลายความหมายด้วยกัน อัลลามะฮฺ เฏาะบาเฏาะบาอียฺกล่าวว่า ตะอฺวีลคือความจริงที่อธิบายอัล-กุรอาน หรือคัมภีร์อันทรงเกียรติที่นอกจากผู้บริสุทธิ์แล้วไม่มีผู้ใดสามารถสัมผัสได้ (ตัฟซีร อัลมีซาน เล่ม 5 หน้า 25) บางทัศนะ กล่าวว่า ตะอฺวีล คือการตัฟซีรนั้นเอง บางทัศนะ กล่าวว่า ตะอฺวีล คือสิ่งที่ภายนอกอัล-กุรอานกำลังกล่าวถึง บางทัศนะ กล่าวว่า ตะอฺวีล คือการตีความของโองการที่มีความเคลือบแคลง บางท้ศนะ กล่าวว่า ตะอฺวีล คือความหมายที่สองของอัล-กุรอาน หรือความหมายด้านในนั่นเอง คำว่าตะอฺวีล ถูกกล่าวไว้ในอัล-กุรอาน 7 ซูเราะฮฺด้วยกัน ซึ่งเมื่อรวมแล้วเท่ากับว่าคำนี้ถูกใช้ทั้งสิ้น 17 ครั้ง ในความหมายที่แตกต่างกัน 1. ตะอฺวีล ให้ความหมายว่า ตัฟซีร หรือ ตับยีน หรือการตีความ ดังที่อัล-กุรอานกล่าวว่า وَمَا يَعْلَمُ تَأْوِيلَهُ إِلاَّ اللّهُ وَالرَّاسِخُونَ فِي الْعِلْمِ และไม่มีใครรู้การตีความโองการได้นอกจากอัลลอฮฺ และบรรดาผู้ที่มั่นคงในความรู้เท่านั้น (อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ อาลิอิมรอน 7) 2. ตะอฺวีล ให้ความหมายว่า ด้านหลัง หรือการย้อนกลับ อัล-กุรอานกล่าวว่า فَإِن تَنَازَعْتُمْ فِي شَيْءٍ فَرُدُّوهُ إِلَى اللّهِ وَالرَّسُولِ إِن كُنتُمْ تُؤْمِنُونَ بِاللّهِ وَالْيَوْمِ الآخِرِ ذَلِكَ خَيْرٌ وَأَحْسَنُ تَأْوِيلاً แต่ถ้าพวกเจ้าขัดแย้งกันในสิ่งใด ก็จงนำสิ่งนั้นกลับไปยังอัลลอฮฺ และเราะซูลหากพวกเจ้าศรัทธาต่ออัลลอฮฺและวันปรโลก นั่นแหละเป็นสิ่งที่ดียิ่งและเป็นการกลับไปที่สวยยิ่ง (อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ นิซาอฺ 59) 3. ตะอฺวีล ให้ความหมายว่า การเกิดของสิ่งหนึ่งและได้แจ้งข่าวการเกิดของสิ่งนั้น อัล-กุรอานกล่าวว่า هَلْ يَنظُرُونَ إِلاَّ تَأْوِيلَهُ يَوْمَ يَأْتِي تَأْوِيلُهُ เขาเหล่านั้นมิได้คอยการปรากฏขึ้นดอกหรือ (การลงโทษของพระผู้เป็นเจ้า) วันที่ผลสุดท้ายของพวกเขาจะปรากฏ (หมดหน้าที่และการสำนึกไม่มีผล) (อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ อัล อะอฺรอฟ 53) รหัสยะ ความเร้นลับ และปรัชญาของอะฮฺกาม เช่น เรื่องราวของศาดา มูซา (อ.) กับศาสดาคิฎรฺ (อ.) อัล-กุรอานกล่าวว่า ذَلِكَ تَأْوِيلُ مَا لَمْ تَسْطِع عَّلَيْهِ صَبْرًا นั่นคือความลับที่ท่านไม่สามารถมีความอดทนในสิ่งนั้นๆ ได้ (อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ อัลกะฮฺฟฺ 82) ข้อควรพิจารณา เพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ศึกษาได้จากตัฟซีรอัลมีซาน และตัฟซีรเนะมูเนะฮฺ ซูเราะฮฺ อาลิอิมรอน โองการที่ 7 5. การรับด้านในของอัล-กุรอาน ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมายด้านในของอัล-กุรอานเป็นหนึ่งในขั้นตอนที่ยุ่งยาก และเป็นความเข้าใจลุ่มลึกของอัล-กุรอาน คำว่า บัฏนฺ ในเชิงภาษาหมายถึงสิ่งที่แตกต่างไปจากภายนอก หมายถึงภานในเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่นอกเหนือไปจากภายนอก ซึ่งประสาทสัมผัสทั้ง 5 ไม่อาจรับรู้ได้ ฉะนั้น จึงเรียกสิ่งนั้นว่า บัฏนฺ บางครั้งสิ่งที่ลำบากต่อความเข้าใจ หรือสิ่งที่ยุ่งยากก็เรียก บัฏนฺ เช่นกัน (มุฟรอดาต รอฆิบ เอซฟาฮานียฺ หมวดคำว่า บัฏนฺ) คำว่า บัฏนฺ ในอัล-กุรอานจะถูกใช้เกี่ยวกับ คุณลักษณะ (ซิฟัต) ของ พระผู้เป็นเจ้า เช่น กล่าวว่า هُوَ الْأَوَّلُ وَالْآخِرُ وَالظَّاهِرُ وَالْبَاطِنُ وَهُوَ بِكُلِّ شَيْءٍ عَلِيمٌ พระองค์ทรงเป็นองค์แรกและองค์สุดท้าย ทรงเปิดเผยและทรงเร้นลับ พระองค์เป็นผู้ทรงรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง (อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ อัล ฮะดีด 3) และถูกใช้เกี่ยวกับนิอฺมัตต่าง ๆ เช่นกล่าวว่า وَأَسْبَغَ عَلَيْكُمْ نِعَمَهُ ظَاهِرَةً وَبَاطِنَةً พระองค์ได้ทรงประทานความโปรดปรานมากมายของพระองค์อย่างครบครันแก่พวกเจ้า ทั้งที่เปิดเผยและที่ซ่อนเร้น (อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ ลุกมาน 20) และบางครั้งคำว่า บัฏนฺ ถูกใช้ในลักษณะอื่น ท่านอิมามบากิร (อ.) กล่าวว่า ا نّ للفرآن بطنا وللبطن بطنا แท้จริงอัล-กุรอานนั้นมีความหมายซ่อนเร้น (บัฏนฺ) และบนความซ่อนเร้นนั้นมีความซ่อนเร้น (บิฮารุลอันวาร เล่ม 92 หน้า 95, มีซานุลฮิกมะฮฺ เล่ม 8 หน้า 94/95) ท่านอิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า القرآن ظاهره انيق و باطنه عميق ภายนอกของอัล-กุรอานนั้นสวยงาม ส่วนภายในนั้นลุ่มลึก (นะฮฺญุลบะลาเฆาะฮฺ คำเทศนาที่ 18) เกี่ยวกับคำว่า บัฏนฺ นี้อัล-กุรอานได้กล่าวอธิบายไว้อย่างมากมาย แต่ที่ดีที่สุดสำหรับคำอธิบายคือ ความหมายซ่อนเร้นของทุกโองการคือ ความหมายทั่วไปเพียงแค่พิจารณาโองการอย่างละเอียดถี่ถ้วนจะเข้าใจได้ทันที แต่ไม่สามารถตีความหมายที่ซ่อนเร้นจากความหมายภายนอกของโองการได้ เกี่ยวกับเรื่องนี้จะสังเกตุเห็นว่ามีริวายะฮฺตัฟซีรจำนวนมากมายจากบรรดาอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ได้อธิบายความหมายที่ซ่อนเร้นของอัล-กุรอานไว้ เช่น อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ อัลมุลกฺ โองการที่ 30 กล่าวว่า قُلْ أَرَأَيْتُمْ إِنْ أَصْبَحَ مَاؤُكُمْ غَوْرًا فَمَن يَأْتِيكُم بِمَاء مَّعِينٍ จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด พวกท่านจงบอกฉันซิว่า หากแหล่งน้ำของพวกท่านเหือดแห้งลง ดังนั้นผู้ใดเล่าจะนำน้ำที่ท่วมทันมาให้พวกท่าน จะสังเกตเห็นว่าภายนอกของโองการกำลังกล่าวถึงเรื่อง น้ำดื่ม แต่ริวายะฮฺจากอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) กล่าวอธิบายว่า จุดประส่งค์ของน้ำในที่นี้หมายถึง อิมามและความรู้ของท่าน عن الرضا (ع) : سئل عن هذه الآية فقال : ماؤاكم ابوابكم اى الامام عليه السلام والائمة ابواب الله بينه و بين خلقه (فمن يأتيكم بماء معين) يعني بعلم الامام มีผู้ถามท่านอิมามริฎอ (อ.) เกี่ยวกับโองการข้างต้น ท่านอิมาม (อ.) ตอบว่า มะอฺวากุมอับวาบุกุม หมายถึง บรรดาอิมาม (อ.) ส่วนอะอิมมะฮฺเป็นประตูแห่งอัลลอฮฺ ที่อยู่ระหว่างพระองค์กับสรรพสิ่งถูกสร้าง ดังนั้นผู้ใดเล่าจะนำน้ำที่ท่วมทันมาให้พวกท่าน หมายถึง ความรู้ของบรรอิมาม (ตัฟซีร อัล กุมมี เล่ม 2 หน้า 379) ท่านอิมามริฎอ (อ.) ได้อธิบายความหมายคำว่า น้ำ ในโองการว่าหมายถึง บรรดาอิมามและความรู้ของท่าน ได้อย่างไร เนื่องจาก น้ำ คือสิ่งที่ให้ชีวิตภายนอกแก่สรรพสิ่งถูกสร้างทั้งหลาย ส่วนบรรดาอิมามและความรู้ของท่านคือสิ่งที่ให้ความรู้ภายในแก่สรรพสิ่งทั้งหลายและสังคม ในความเป็นจริงสามารถนำโองการด้านบนเปลี่ยนเป็นความหมายที่ครอบคลุมทั้งหมดได้ หลังจากนั้นค่อยแนะนำอิมามซึ่งอยู่ในฐานะตัวอย่างที่อัล- กุรอานกล่าวถึง หมายถึง น้ำนั้นครอบคลุมทั้งความจริงและสิ่งเปรียบเปรย กล่าวคือน้ำคือสิ่งที่ให้ชีวิตแก่ทุกสิ่ง เหมือนกับอิมามและความรู้ของท่านที่ให้ชีวิตแก่จิตวิญญาณทั้งหลาย และนี่เป็นเพียงตัวอย่างที่สามารถค้นคว้าความหมายที่ซ่อนเร้นของโองการได้ 6 .การปฏิบัติตามอัล-กุรอานและธำรงความยุติธรรม ขั้นตอนสุดท้ายสำหรับการรู้จักอัล-กุรอาน และการได้รับประโยชน์อันมากมายจากพระคัมภีร์อันศักดิ์สิทธิ์คือ การปฏิบัติตามคำสั่งต่าง ๆ ที่อัล-กุรอานกล่าวถึง ซึงสิ่งนี้ได้นำเอาความจำเริญทั้งฟากฟ้าและแผ่นดินมาสู่มนุษย์ และนำพาสังคมมนุษย์ไปสู่ความผาสุก ความจำเริญ และความก้าวหน้าที่ไม่มีที่สิ้นสุด อัล-กุรอาน ซูเราะอฺ มาอิดะฮฺได้กล่าวถึง คัมภีร์แห่งฟากฟ้าและสัญลักษณ์ต่าง ๆ ของพระผู้เป็นเจ้า เช่น กล่าวว่า وَلَوْ أَنَّهُمْ أَقَامُواْ التَّوْرَاةَ وَالإِنجِيلَ وَمَا أُنزِلَ إِلَيهِم مِّن رَّبِّهِمْ لأكَلُواْ مِن فَوْقِهِمْ وَمِن تَحْتِ أَرْجُلِهِم และหากว่าเขาเหล่านั้นได้ดำรงไว้ซึ่งอัต-เตารอต และอัล-อินญีล และสิ่งที่ถูกประทานลงมา (อัล-กุรอาน) ยังพวกเขา (ปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด) จากพระผู้อภิบาลของพวกเขา แน่นอนพวกเขาก็จะได้บริโภคสิ่งที่มาจากเบื้องบน (ฟากฟ้า) ของพวกเขา และที่มาจากภายใต้เท้า (แผ่นดิน) ของพวกเขา (อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ อัล มาอิดะฮฺ 66) อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ อัล ฮะดีดได้กล่าวแนะนำเป้าหมายในการประทานบรรดาศาสดาลงมาสั่งสอนมนุษยชาติ การประทานคัมภีร์ต่าง ๆ และการธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมในสังคม อัล-กุรอานกล่าวว่า لَقَدْ أَرْسَلْنَا رُسُلَنَا بِالْبَيِّنَاتِ وَأَنزَلْنَا مَعَهُمُ الْكِتَابَ وَالْمِيزَانَ لِيَقُومَ النَّاسُ بِالْقِسْطِ แน่นอน เราได้ส่งบรรดาเราะซูลของเราพร้อมด้วยหลักฐานทั้งหลายอันชัดแจ้ง และเราได้ประทานคัมภีร์และความยุติธรรมลงมาพร้อมกับพวกเขา เพื่อมนุษย์จะได้ดำรงอยู่บนความเที่ยงธรรม (อัล-กุรอาน ซูเราะฮฺ อัล ฮะดีด 25)