อัล-กุรอานความมหัศจรรย์ที่เป็นอมตะของโลก

บรรดาศาสดากับความมหัศจรรย์ บรรดาศาสดาแห่งพระผู้เป็นเจ้า ได้ถูกประทานมาพร้อมกับความมหัศจรรย์และเหตุผลอันชัดเจน เพื่อให้ประชาชนยอมรับว่าท่านนั้นมาจากพระผู้เป็นเจ้า ด้วยเหตุนี้เองจึงพบว่าบรรดาศาสดาผู้เผยแพร่ศาสนาเป็นผู้มีความสง่างาม มีความบริสุทธิ์และมีสิ่งมหัศจรรย์อยู่ในตัวทำให้ถูกตาต้องใจและเกิดความเลื่อมใสศรัทธาสำหรับผู้ที่ได้พบเห็น ดังที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกว่า ในสมัยของกษัตริย์ฟิรฺอาวน์ ประชาชนได้เห็นสิ่งมหัศจรรย์ที่ท่านศาสดามูซา (อ.) ได้แสดงเช่นท่านได้ใช้ไม้เท้าฟาดลงบนน้ำทะเล ทำให้น้ำทะเลแยกออกเป็นทางเดิน หรือได้โยนไม้เท้าออกไปและกลายเป็นงู สิ่งเหล่านี้ประชาชนรู้ว่ามันอยู่เหนือความสามารถของมนุษย์ พวกเขาจึงเลื่อมใสศรัทธาต่อท่านศาสดามูซา (อ.) และถูกฟิรฺอาวน์ขับไล่ข้ามทะเลแดงไปในที่สุด บรรดาสาวกของท่านศาสดาอีซา (อ.) เช่นกันเมื่อท่านศาสดาอีซาได้ทำให้คนตายฟื้นคืนชีพขึ้นมา พวกเขาจึงเลื่อมใสศรัทธาในตัวท่านและยอมถวายชีวิตของพวกเขาในการติดตามท่านศาสดาเพื่อเผยแพร่สารธรรม ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ผู้เป็นบรมศาสดาและศาสดาท่านสุดท้ายที่พระผู้เป็นเจ้าได้ประทานลงมา ท่านเป็นศาสดาที่สำคัญและประเสริฐกว่าศาสดาท่านอื่นๆ เนื่องจากท่านเป็นผู้นำเอาศาสนาที่สมบูรณ์ที่สุดแห่งพระผู้เป็นเจ้ามาเผยแพร่ อันเป็นศาสนาที่มีความมั่นคงถาวรจนกว่าจะถึงกาลดับสลายของโลก นับตั้งแต่รุ่งอรุณของอิสลามได้ทอแสงขึ้นก็ได้แสดงให้เห็นถึงความชัดเจนของสารธรรมที่มาจากพระผู้เป็นเจ้า และเป็นเหตุผลที่สัมบูรณ์ของแก่นแท้ความจริง อันเป็นการบ่งบอกถึงความถูกต้องและความประเสริฐสุดของศาสนา อัล-กุรอานเป็นอมตะที่สุดของความมหัศจรรย์ อัล-กุรอาน คือหลักฐานที่เป็นอมตะของอิสลาม ที่ได้ฝังและมีความบรรเจิดอยู่ ณ สติปัญญาของมวลมนุษย์ทั้งหลาย อัล-กุรอาน เป็นคบเพลิงที่ไม่มีวันดับ ได้ฉายส่องอยู่เหนือศาสนาที่สูงส่งของท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) อันเป็นศาสนาที่ชัดแจ้งที่เปี่ยมล้นไปด้วยตรรกะ และปรัชญา ซึ่งคบเพลิงนี้ยังคงติดอยู่ตลอดเวลา ดุจดังเช่นแสงพระอาทิตย์ที่ไม่มีวันดับ เจตจำนงอันแน่วแน่ของพระผู้เป็นเจ้าได้สว่างไสวเป็นอมตะ ซึ่งหนึ่งในความสว่างนั้นได้แก่แสงพระอาทิตย์ที่ฉายส่องอยู่ทุกกาลสมัย ให้ความร้อนที่ยังประโยชน์ต่อการดำรงชีพแก่มนุษย์ สัตว์และพืชทั้งหลาย และเพื่อต่อเติมความสมบูรณ์ให้แก่ชีวิตมนุษย์ให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น แสงพระอาทิตย์เป็นความจำเป็นขั้นสูงสุดสำหรับสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย อัล-กุรอาน เป็นมูลฐานที่สำคัญยิ่งที่บรรจุคำชี้นำอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อชีวิตมนุษย์เอาไว้ หลักความเชื่อศรัทธาถือเป็นสายสัมพันธ์ที่เชื่อมต่อระหว่างมนุษย์กับพระผู้เป็นเจ้า ซึ่งความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นนี้ได้ถูกเชื่อมต่อด้วยพจนารถแห่งอัล-กุรอาน อันทรงพลังที่มีคุณค่ายิ่ง อัล-กุรอานอธิบายด้วยความอ่อนโยนดุจดังเช่นน้ำที่ผุดออกมาจากตาน้ำ ขณะเดียวกันมีความแข็งแรงมั่นคงเหมือนภูเขาที่สูงตระหง่าน อัล-กุรอาน ได้อธิบายภาระหน้าที่ทางสังคมของมนุษย์ ได้สอนวิธีและแนวทางในการดำรงชีวิตแก่มนุษย์ อัล-กุรอาน พยายามลบล้างความแตกแยกทางชนชั้นวรรณะ เชื้อชาติ ภาษา และความไม่เข้ากันของอุปนิสัยของมนุษย์ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน อัล-กุรอาน ปรารถนาให้มนุษย์เป็นผู้มีความสมบูรณ์ที่ดีและประเสริฐกว่าทุกสิ่ง แต่มีความเสมอภาคกันในหมู่นุษย์ วาทศิลป์และโวหารที่ไม่มีที่เปรียบเปรย ในบางครั้งการเข้าใจภาษา รู้ศัพท์จำนวนมากมาย ไม่ใช่เรื่องลำบากสำหรับคนๆ หนึ่งและมีความเป็นไปได้สูงอันเนื่องจากความฉลาดและความเป็น อัจฉริยะของคนๆ นั้น แต่การนำเอาคำเหล่านั้นมาแต่งเป็นประโยคให้มีความคล้องจองคงความไพเราะ รักษาสำนวนโวหาร รูปประโยคบ่งบอกถึงความสามารถและความเป็น อัจฉริยะของผู้แต่ง อีกทั้งยังสื่อให้เห็นถึงความสุนทรี มีความหลากหลายในรสชาติและมุมมอง ซึ่งแน่นอนสิ่งนี้ต้องไม่ได้มาจากผู้ที่ไม่ได้มีความเชี่ยวชาญหรือปราศจากรสนิยม ในวิชาฟะซอหัตและบะลาเฆาะฮฺ (วาทศาสตร์) ได้กล่าวว่า การที่จะให้คำพูดและสำนวนคงความไพเราะด้านภาษาต้องรักษากฎสามประการดังนี้ ประการที่หนึ่ง ต้องมีความรู้ครอบคลุมคำและความหมาย ประการที่สอง ต้องมีพลังความสามารถในการคิด มีความละเอียดอ่อน และมีรสนิยม ประการที่สาม ต้องมีพลังความสามารถในการอธิบายและเขียน แต่อย่างไรก็ตามต้องคำนึงเสมอว่า แม้ว่าบุคคลนั้นจะมีความสันทัดเรื่องภาษา ตลอดจนกฎเกณฑ์และไวยากรณ์ของมันอย่างดี และไม่มีผู้ใดมีความสามารถทัดเทียมได้ กระนั้นเขาก็ไม่อาจกล่าวได้ว่าเป็นผู้ที่รู้ดีที่สุดในทุกยุคทุกสมัย แต่อัลลอฮฺ (ซบ.) พระผู้อภิบาลผู้ทรงเกรียงไกร ทรงฤทธานุภาพ ทรงปรีชาญาณ ที่ไม่มีที่สิ้นสุดพระองค์ทรงร้อยถ้อยจำนรรจ์ เป็นรูปประโยคไว้ในอัล-กุรอานที่มีความสูงส่งทั้งด้านวาทศิลป์ โวหาร และความหมาย ชนิดไม่อาจหาผู้ประพันธ์คนใดที่มีความชำนาญทัดเทียมกับพระองค์ได้ ไม่ว่าในอดีตที่ผ่านมาจนกระทั่งปัจจุบันหรือแม้แต่ในอนาคต พระองค์ได้กล่าวท้าทายมนุษย์ทุกยุคทุกสมัยว่า ให้นำเอาสิ่งที่คล้ายกับอัล-กุรอานมาสักหนึ่งบท หรือสิบโองการ หรือแม้แต่คำพูดเดียว แต่จนถึงปัจจุบันยังไม่มีผู้ใดสามารถนำมาได้ ฉะนั้นสิ่งนี้ได้ยืนยันให้เห็นถึงความมหัศจรรย์ของ อัล-กุรอาน อันเป็นหลักฐานที่เป็นอมตะแห่งการเป็นศาสดาของท่านมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) อัล-กุรอาน ด้วยกับหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในยุคสมัยที่อาหรับมีความเจริญรุ่งเรืองที่สุดด้านภาษา ชาวอาหรับสมัยนั้นเก่งกาจในเชิงกวีนิพนธ์ มีกวีลือนามปรากฏอยู่ทุกเผ่า บรรดานักกวีอาหรับ ซึ่งก่อนการมาของอัล-กุรอานไม่มีใครมีความสามารถเหมือนกับพวกเขา บทกวีและกาพย์กลอนต่างๆ ที่พวกเขาได้นำเสนอเป็นโวหารที่มีความไพเราะบ่งบอกความเป็นอัจฉริยะและความเชี่ยวชาญด้านภาษาอย่างดี และเป็นที่ยอมรับของชาวอาหรับในสมัยนั้น บทกวีที่แต่งโดยยอดกวีอาหรับ ถูกเขียนไว้ที่ฝาผนังกะอฺบะฮฺ และบนกำแพงต่างๆ ซึ่งเป็นการให้เกียรติ และยืนยันถึงความเป็นเลิศด้านภาษา แต่ทว่าบทกวี และโคลงกลอนที่มีค่าเหล่านั้นได้จบสิ้นลงเมื่ออัล-กุรอานได้ปรากฏขึ้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านวาทศิลป์และโวหารทั้งหลายต้องตะลึงกับความไพเราะแห่งวาทศิลป์ และโวหารของอัล-กุรอาน ดังนั้นคัมภีร์อัล-กรุอานจึงเป็นสิ่งท้าทายที่พิศดารสำหรับชาวอาหรับ เพราะเป็นร้อยแก้วที่มีความไพเราะได้โดยไม่ต้องใช้มาตราสัมผัสและบทวรรคตามกฏของกวีนิพนธ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ชาวอาหรับฉงนใจว่า คนที่ไม่เคยแต่งโคลงกลอนและอ่านเขียนไม่เป็นอย่างมุฮัมมัด จะต้องไม่ใช่ผู้แต่งอัล-กุรอานอย่างแน่นอน ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้ทำให้ผลงานและศาสนาของพวกเขาหมดคุณค่าลง แต่เพราะความดื้อรั้นพวกเขาได้ตั้งตนเป็นศัตรูกับท่านศาสดาและพยายามหาข้อบกพร่องและจุดอ่อนของอัล-กุรอาน แต่พวกเขาไม่สามารถทำได้แม้เพียงเล็กน้อยจวบจนถึงปัจจุบัน การตัดสินของศัตรู ช่วงเทศกาลหัจญ์ (หัจญ์เป็นเป็นเทศกาลที่มีมาก่อนการมาของอิสลามและเป็นที่ยอมรับของชนอาหรับในสมัยนั้น) ประชาชนทั่วสารทิศได้เดินทางมามักกะฮฺ ชนเผ่ากุเรชโกรธมากเพราะพวกเขาเกรงว่าข่าวการเป็นศาสดาของท่านมุฮัมมัดจะแพร่งพรายไปในหมู่ของพวกที่เพิ่งเดินทางมามักกะฮฺ ดังนั้นพวกเขาได้ร่วมกับวะลีดจิ้งจอกแห่งอาหรับและกุเรชอีกบางส่วนจัดกลุ่มขึ้นมาเพื่อมุ่งหวังขัดขวางกิจกรรมการเผยแพร่ศาสนาของท่านศาสดา พวกเขาได้กีดกันพวกที่เพิ่งเดินทางมามักกะฮฺไม่ให้พบกับท่านศาสดา และได้กล่าวใส่ร้ายท่านศาสดาว่าเป็นคนบ้า วะลีดพูดว่า พวกท่านต้องหลงกลอย่างแน่นอน เพราะคำพูดของเขาเป็นคำพูดของนักมายากล คนอื่นพูดว่า พวกเราเรียกเขาว่าคนบ้า วะลีดพูดว่า ไม่มีใครยอมรับเขาหรอก เพราะเขาได้พูดเชิญชวนให้เราไปเป็นคนบ้าเหมือนกับเขา พวกเขาได้พูดว่า เขาเป็นนักกวีไม่ใช่หรือ ? พูดว่า สิ่งนี้ก็ไม่มีใครยอมรับเช่นกัน เพราะว่าอาหรับนั้นมีความเชี่ยวชาญด้านกาพย์กลอนอย่างดี ซึ่งคำพูดของเขาไม่เหมือนกับโคลงกลอนของเรา พวกเขาพูดว่า ถ้าอย่างนั้นเขาก็เป็นนักมายากล พูดว่า นักมายากลเขามีวิธีการที่เฉพาะเจาะจง แต่ทว่ามุฮัมมัดเขาไม่ได้ทำอย่างนั้น ในเวลานั้นวะลีด ได้พูดเสียงดังว่า ขอสาบานต่อพระเจ้า คำพูดของชายคนนี้มันมีความไพเราะ และกินใจเป็นพิเศษ คำพูดของเขาเหมือนกับ ต้นไม้ที่หยั่งรากลึกลงดินมีความเหนียวแน่นมั่นคง กิ่งก้านของมันได้แผ่กระจายปกคลุมไปทั่ว ดังนั้นเราสามารถพูดกับประชาชนทุกคนได้ว่า คำพูดของเขาเป็นคาถาอาคมชั้นสูงเพราะว่ามันได้ทำให้ครอบครัวเกิดความแตกแยก (คำพูดของวะลีดได้บ่งถึงว่า ใครที่เข้ารับอิสลามใหม่เขาจะดำเนินชีวิตไปอีกแบบหนึ่ง เหมือนเป็นการบังคับตนเองให้แยกออกจากครอบครัว หรือไม่ก็มีการปฏิบัติตัวที่ขัดแย้งกับความเชื่อเดิมของบรรพบุรุษ ) ประชาชนที่ไม่ใช่ชาวอาหรับสามารถสร้างความเข้าใจเรื่อง ฟะซอหัตและบะลาเฆาะฮฺ (โวหารและวาทศิลป์) เพื่อจะได้ตรวจสอบว่าอัล-กุรอานเป็นคัมภีร์ที่มีวาทศิลป์อยู่ในขั้นที่สูงส่งจริง พวกเขาสามารถค้นคว้าได้จากคำพูดของอาหรับในสมัยก่อนที่มีการบันทึกเอาไว้และนำมาเปรียบเทียบกับคำพูดของอาหรับในยุคปัจจุบัน เกี่ยวกับเรื่องนี้พวกเขาได้ยอมรับถึงความสูงส่งด้านโวหารและวาทศิลป์ของอัล-กุรอาน แต่เป็นเรื่องหน้าคิดที่ว่าตั้งแต่ยุคสมัยของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันจะมีผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาออกมาสารภาพถึงความสูงส่งของอัล-กุรอานที่ไม่มีใครเหมือน และยอมรับว่าพวกตนไม่มีความสามารถเช่นนั้น นักวรรณกรรมอาหรับในยุคปัจจุบันอาทิเช่น ท่านอับดุลฟะตาห์ ฏ่อบาเราะฮฺ นักวิชาการที่มีชื่อเสียงในยุคปัจจุบันเขียนว่า นักปราชญ์ นักวรรณคดี และนักเขียนทุกยุคต่างสารภาพถึงความมหัศจรรย์ของอัล-กุรอาน และยอมรับว่าพวกตนไร้ความสามารถเมื่อเทียบชั้นกับอัล-กุรอาน อัล-กุรอานคือแบบอย่างที่ไม่มีใครเหมือน ดอกเตอร์ ฏอฮาฮุเซน นักอักษรศาสตร์ และเป็นนักวรรณคดีที่มีชื่อเสียงของอียิปต์ในยุคปัจจุบันกล่าวว่าว่า กุรอานมีความเลอเลิศเกินขั้นของร้อยแก้วทั้งหลาย เพราะอัล-กุรอานมีความพิเศษเฉพาะตัวที่สิ่งอื่นนั้นไม่มี ดังนั้นไม่สามารถเรียกอัล-กุรอานว่าเป็นร้อยแก้วได้ อัล-กุรอานคืออัล-กุรอาน สิ่งนี้เป็นความพิเศษเฉพาะตัว และความเป็นหนึ่งเดียวของอัล-กุรอาน ซึ่งผลงานอื่นๆ ของอาหรับนั้นไม่สามารถเทียบเคียงกับอัล-กุรอานได้ อัล-กรุอานมีความมหัศจรรย์หลายอย่าง อาทิเช่นมีความไพเราะที่กวีทุกคนต้องยอมสยบ อัล-กุรอานเปิดเผยความลี้ลับของศาสตร์และวิทยาการแขนงต่าง ๆ ที่คนสมัยนั้นยังไม่ทราบ การเปิดเผยพงศาวดารในอดีต การพยากรณ์อนาคต การเปิดเผยความลี้ลับที่วิทยาศาสตร์ยังไม่รู้หรือพิสูจน์ไม่ได้ เช่น การระบุถึงการขยายตัวของจักรวาล การโคจรของโลก ฟ้าร้อง ฟ้าผ่า การเกิดฝน คลื่นใต้น้ำ และบทบาทของลมในการผสมพันธ์ของต้นไม้เป็นต้น ความสัมพันธ์กันของเนื้อเรื่อง งานเขียน หรือคำพูดของบุคคลทั้งหลายไม่ว่าจะมีความดีเลิศ และมีความสันทัดสักเพียงใดก็ตามเมื่ออยู่ภายใต้เงื่อนไขที่มีความแตกต่างกันผลงานของเขาย่อมจะแตกต่างตามไปด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลงานในช่วงแรกกับในช่วงสุดท้ายนั้นมีความแตกต่างกันเห็นได้อย่างชัดเจน เพราะในช่วงท้ายผู้เขียนมีประสบการณ์ ความเชี่ยวชาญและการฝึกหัดมากขึ้น ซึ่งเป็นธรรมดาที่ว่าผลงานหลังๆ ย่อมดีกว่าในตอนแรก อัล-กุรอาน เป็นคัมภีร์ที่ถูกประทานลงมาตลอด ๒๓ ปีเต็มภายใต้เงื่อนไขที่มีความแตกต่างกัน สภาพอากาศที่มีความแปรปรวน และร้อนระอุของพื้นทะเลทราย ความโหดร้ายของผู้คน วัฒนธรรมที่แตกต่างซึ่งสร้างความกดดันตลอดเวลา สงคราม ศัตรู มิตรภาพและสิ่งอื่นๆ อีกมากมาย แต่สิ่งเหล่านี้ไม่สามารถมีอิทธิพลเหนืออัล-กุรอานได้ อัล-กุรอานยังคงความเสมอต้นเสมอปลาย มีความสอดคล้องกันของเนื้อเรื่องและภาษา ซึ่งเป็นสิ่งยืนยันให้เห็นว่าอัล-กุรอานไม่ใช่ถ้อยจำนรรจ์ของมนุษย์อย่างแน่นอน เป็นที่ชัดเจนว่า ทุกคนมีความเชี่ยวชาญพิเศษเฉพาะด้านและอาจไปถึงขั้นเป็นศาสตราจารย์ได้ และถ้าหากให้เขาเสนอวิชาการด้านนั้นเขาย่อมทำได้อย่างดีเยี่ยม แต่ถ้าให้เขาเสนอวิชาการด้านที่เขาไม่มีความถนัดแน่นอนผลลัพธ์ย่อมมีความแตกต่างกัน แต่อัล-กุรอานนั้นไม่ว่าด้านใดก็ตามมีความเลอเลิศเป็นพิเศษทั้งหมด ความมหัศจรรย์ด้านวิชาการ แม้ว่าเป้าหมายแรกของอัล-กุรอานคือ การชี้นำมนุษยชาติให้ไปสู่ความเจริญผาสุกและความสำเร็จทั้งโลกนี้และโลกหน้า ขณะที่อัล-กุรอานมีเป้าหมายที่สูงส่งอยู่แล้วยังได้อธิบายแก่นแท้ของความรู้ต่างๆ ของมนุษย์ในสาขาวิชาต่างๆ อาทิเช่น ฟิสิกส์ ชีวะวิทยา ดาราศาสตร์และอื่นๆ ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ยืนยันถึงความสูงส่งแห่งความมหัศจรรย์ของอัล-กุรอานเพราะประวัติศาสตร์ได้กล่าวว่าท่านศาสดา (ศ็อลฯ) มิได้เรียนหนังสืออ่านไม่ออกเขียนไม่เป็น ประกอบกับท่านศาสดาได้เติบโตมาในสังคมที่เป็นอนารยชน นอกจากความรู้ด้านกวีนิพนธ์แล้ว พวกเขาไม่มีความรู้ด้านอื่นอีกเลย อีกทั้งแคว้นอาหรับยังอยู่ห่างไกลจากศูนย์กลางของความรู้ไม่ว่าจะเป็นโรม กรีกและอิหร่าน ตัวอย่างความมหัศจรรย์ด้านความรู้ของอัล-กุรอาน การพยากรณ์อากาศ ในสมัยก่อนเรื่องการพยากรณ์อากาศเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากมาก ส่วนมากจะใช้ประสบการณ์กับความรู้สึกในการคำนวณมากกว่าอย่างอื่น นั่นหมายถึงว่ามันได้ออกมาจากการคาดเดาเสียส่วนใหญ่ ไม่ได้เป็นวิชาการหรือมีกรมอุตุนิยมวิทยาเหมือนในปัจจุบันอย่างเช่น บรรดากัปตันเรือเดินทะเล และเกษตรกรนั้นจะใช้การดูสัญลักษณ์แทนเพื่อพยากรณ์อากาศไม่ว่าจะเป็นลม ฝน หรือพายุ ซึ่งพวกเขาได้สัญลักษณ์เหล่านั้นมาจากไหนไม่มีใครทราบ กาลเวลาได้ผ่านไปเป็นพันๆ ปี จนกระทั่งถึงศตวรรษที่ ๑๗ ปีคริสต์ศักราชได้มีการสร้างเทอร์โมมิเตอร์ เพื่อวัดอากาศ ในศตวรรษที่ ๑๙ ได้มีโทรเลขเกิดขึ้นและหลังจากนั้นก็มีเครื่องมือใหม่ๆในการคำนวณอากาศเกิดขึ้นมากมาย นักวิชาการเริ่มทำการค้นคว้าและวิจัยกันมากขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งถึงกลางยุคศตวรรษที่ ๒๐ ได้มีนักวิชาการชาวนอร์เวย์ นามว่าบีเยอร์ เคนส์ (BYERKNESS) ประสบความสำเร็จในการคิดค้นวิธีคำนวณการเกิดลมพายุ การพัดของลม การเกิดเมฆ และฝนโดยได้ประกาศเป็นกฎสากลต่อประชาโลก หลัจากที่งเขาจากไปเป็นธรรมดาที่มรดกทางความรู้ที่เขาได้ทิ้งเอาไว้ ได้มีนักวิชาการนำไปวิจัยต่อซึ่งทำให้เกิดวิชาการใหม่มากมายอาทิเช่น การรวมตัวกันของเมฆ การแยกตัวของฝนจากเมฆ การกลั่นเป็นเม็ดฝน และเรื่องเกี่ยวกับอัสนีตลอดจนพายุลมร้อน ใต้ฝุ่นและอื่นๆ[๑] ทัศนะอัล-กุรอาน เมื่อประมาณ ๑๔ ศตวรรษที่ผ่านมา อัล-กุรอานได้กล่าวถึงเรื่องราวของฝน และลมซึ่งนักวิชาการเพิ่งจะมาค้นพบในภายหลังอัล-กุรอานกล่าวว่า وَأَرْسَلْنَا الرِّيَاحَ لَوَاقِحَ فَأَنزَلْنَا مِنَ السَّمَاءِ مَاءً فَأَسْقَيْنَاكُمُوهُ وَمَا أَنتُمْ لَهُ بِخَازِنِينَ และเราได้ส่งลมผสมเกสร แล้วเราได้ให้น้ำลงมาจากฟ้า แล้วเราได้ให้พวกเจ้าดื่มมันและพวกเจ้าก็มิได้เป็นผู้สะสมมันไว้[๒] การสารภาพของนักวิชาการ เมื่อมนุษย์สามารถบินได้สูงๆ ด้วยเครื่งบินทำให้เขาได้เห็นว่าบนชั้นฟ้าที่สูงขึ้นไปนั้น กลุ่มเมฆได้รวมตัวกันอย่างแข็งแรงเสมือนภูเขาน้ำแข็งที่ล่องลอยอยู่และภายในกลุ่มเมฆนั้นมีจุดเยือกแข็งที่สร้างความเย็นทำให้เกิดฝน ลูกเห็บและหิมะจนถึงช่วงเวลาดังกล่าวไม่มีใครเคยรู้มาก่อนว่า ในชั้นบรรยากาศที่สูงขึ้นไปนั้นมีอะไรอยู่บ้าง แต่อัล-กุรอานได้กล่าวกับมนุษย์เมื่อ ๑๔๒๔ ปีที่แล้วว่า أَلَمْ تَرَ أَنَّ اللَّهَ يُزْجِي سَحَابًا ثُمَّ يُؤَلِّفُ بَيْنَهُ ثُمَّ يَجْعَلُهُ رُكَامًا فَتَرَى الْوَدْقَ يَخْرُجُ مِنْ خِلَالِهِ وَيُنَزِّلُ مِنَ السَّمَاءِ مِن جِبَالٍ فِيهَا مِن بَرَدٍ فَيُصِيبُ بِهِ مَن يَشَاءُ وَيَصْرِفُهُ عَن مَّن يَشَاءُ يَكَادُ سَنَا بَرْقِهِ يَذْهَبُ بِالْأَبْصَارِ เจ้ามิได้เห็นดอกหรือว่า อัลลอฮฺทรงให้เมฆเคลื่อนลอย แล้วทรงทำให้มันรวมกันเป็นกลุ่มก้อน หลังจากนั้นได้ทำให้มันแข็งตัว แล้วเจ้าก็ได้เห็นเม็ดฝนโปรยลงมาจากกลุ่มเมฆนั้น และจากฟากฟ้าพระองค์ทรงให้ฝนลูกเห็บตกลงมาจากภูเขาน้ำแข็ง (หิมะ น้ำฝน ลูกเห็บที่เกิดจากเมฆที่รวมตัวกัน) แล้วพระองค์จะทรงให้มันหล่นลงมาโดนผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ และพระองค์ทรงให้มันผันแปรไปจากผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ ประกายฟ้าแลบเกือบจะเฉี่ยวสายตาผู้มอง[๓] สิ่งมีชีวิตในดาวดวงอื่น มนุษย์ได้รับรู้เหตุการณ์จากดาวดวงอื่น จากการที่มนุษย์อวกาศได้มีโอกาสเดินทางไปยังดาวดวงอื่น ซึ่งมีการคาดการว่าในดาวบางดวง หน้าจะมีสิ่งมีชีวิตเหมือนกับโลกใบนี้อยู่ด้วยอย่างเช่นสัตว์ หรือมนุษย์ สิ่งนี้อัล-กุรอานได้อธิบายว่า وَمِنْ آيَاتِهِ خَلْقُ السَّمَاوَاتِ وَالْأَرْضِ وَمَا بَثَّ فِيهِمَا مِن دَابَّةٍ وَهُوَ عَلَى جَمْعِهِمْ إِذَا يَشَاءُ قَدِيرٌ และหนึ่งจากสัญญาณทั้งหลายของพระองค์ คือการสร้างชั้นฟ้าทั้งหลายและแผ่นดิน และสิ่งซึ่งพระองค์ทรงแพร่กระจายไปทั่วระหว่างมันทั้งสองได้แก่สิ่งที่มีชีวิตทั้งหลาย และพระองค์ทรงพลานุภาพยิ่งในการรวบรวมพวกเขาเมื่อพระองค์ทรงประสงค์ (คำว่าดาบะติน หมายถึงสิ่งมีชีวิตทั้งหลายรวมทั้งมนุษย์และสัตว์)[๔] สรรพสิ่งทั้งหลายบนโลกนี้มีทั้งเพศผู้และเพศเมีย อัล-กุรอานได้ยืนยันถึงสิ่งนี้ไว่ว่า سُبْحَانَ الَّذِي خَلَقَ الْأَزْوَاجَ كُلَّهَا مِمَّا تُنبِتُ الْأَرْضُ وَمِنْ أَنفُسِهِمْ وَمِمَّا لَا يَعْلَمُونَ มหาบริสุทธิ์ยิ่งแด่พระผู้ทรงสร้างสรรพสิ่งทั้งหลายขึ้นมาเป็นคู่ ๆ จากสิ่งที่งอกเงยขึ้นมาจากแผ่นดินได้ จากตัวของพวกเขา และจากสิ่งที่พวกเขาไม่รู้[๕] الَّذِي جَعَلَ لَكُمُ الْأَرْضَ مَهْدًا وَسَلَكَ لَكُمْ فِيهَا سُبُلًا وَأَنزَلَ مِنَ السَّمَاءِ مَاءً فَأَخْرَجْنَا بِهِ أَزْوَاجًا مِّن نَّبَاتٍ شَتَّى พระผู้ทรงทำให้แผ่นดินเป็นพื้นราบเรียบ สำหรับพวกท่าน และทรงทำให้เป็นทางสำหรับพวกท่าน และทรงหลั่งน้ำฝนมาจากฟากฟ้าและเราได้ให้พืชผลนานาชนิดออกมาเป็นคู่ ๆ[๖] ในสมัยก่อนนั้นความรู้ของมนุษย์ยังไปไม่ถึง จึงไม่อนุญาตให้นักวิชาการบอกว่านอกจากมนุษย์และสัตว์แล้ว บรรดาพืชต่าง ๆ ก็อยู่กันเป็นคู่เหมือนกัน แม้แต่ในเชิงของปรัชญา และการอธิบายอัล-กุรอานก็ไม่อนุญาตให้พูดเช่นกัน แต่ปัจจุบันนี้ได้มีการวิจัยค้นคว้าทางวิชาการมากยิ่งขึ้นทำให้ยอมรับได้ว่า สิ่งอื่นที่นอกเหนือจากมนุษย์และสัตว์ก็มีคู่เหมือนกัน การท้าทายของอัล-กุรอาน ตะหัดดีย์ ในพจนานุกรมหมายถึง การตั้งใจ การทำให้เสมอกันในกิจการงานแต่ในที่นี้หมายถึง การเชิญชวนคนอื่นให้มาแข่งขันกันในกิจการที่มีความเท่าเทียมกัน อัล-กุรอานไม่ได้เป็นสิ่งมหัศจรรย์แค่เพียงเรื่อง วาทศิลป์ และโวหารเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ในทุกเรื่องไม่ว่าจะเป็นความคิดของมนุษย์ และสังคมการเป็นอยู่ในทุกระดับชั้นถือว่าอัล- กุรอานคือสิ่งมหัศจรรย์หนึ่ง ดังนั้นถ้าเป็นนักกวี อัล-กุรอานจะพูดเรื่องวาทศิลป์ และโวหารกับเขา ถ้าเป็นนักปราชญ์ อัล-กุรอานจะพูดเรื่องปรัชญาและวิทยปัญญากับเขา ถ้าเป็นนักวิชาการ อัลกุรอานจะพูดเรื่องความรู้ และวิชาการกับเขา และอื่นๆ ด้วยเหตุนี้อัล-กุรอานจึงได้พูดท้าทายกับคนในทุกระดับชั้นว่า ถ้าคิดว่าอัล-กุรอานคือคำพูดของมนุษย์ ดังนั้นจงนำมาให้เหมือนกับอัล-กุรอาน قُل لَّئِنِ اجْتَمَعَتِ الإِنسُ وَالْجِنُّ عَلَى أَن يَأْتُواْ بِمِثْلِ هَذَا الْقُرْآنِ لاَ يَأْتُونَ بِمِثْلِهِ وَلَوْ كَانَ بَعْضُهُمْ لِبَعْضٍ ظَهِيرًا จงกล่าวเถิดมุฮัมมัด ถ้าหากมนุษย์และญินรวมกันเพื่อจะนำมาสิ่งเหมือนอัล-กุรอานมา พวกเขาไม่สามารถนำสิ่งที่คล้ายกับกุรอานมาได้และแม้ว่าบางคนในหมู่พวกเขาจะช่วยเหลือกันและกันก็ตาม[๗] وَإِن كُنتُمْ فِي رَيْبٍ مِّمَّا نَزَّلْنَا عَلَى عَبْدِنَا فَأْتُواْ بِسُورَةٍ مِّن مِّثْلِهِ وَادْعُواْ شُهَدَاءكُم مِّن دُونِ اللّهِ إِنْ كُنْتُمْ صَادِقِينَ และหากพวกเจ้ายังคลางแคลงในสิ่ง ที่เราได้ประทานลงมาแก่บ่าวของเรา ดังนั้นจงนำมาสักบทหนึ่งเยี่ยงสิ่งนั้น และจงเรียกพยานของพวกเจ้า ที่ไม่ใช่อัลลอฮฺมา หากพวกเจ้าเป็นผู้สัตย์จริง[๘] ตลอดหน้าประวัติศาสตร์ได้จารึกไว้ตั้งแต่ในสมัยของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) เป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบันยังไม่มีผู้ใดเสนอตัวมาทำการแข่งขันกับอัล-กุรอาน และไม่มีนักวิชาการคนใดสามารถ ประพันธ์สิ่งที่คล้ายคลึงกับอัล-กุรอานได้แม้เพียงบทเดียว หรือสักหนึ่งโองการก็ตาม แม้ว่าในสมัยหลังจากท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้สิ้นพระชนม์ไปแล้ว มีอาหรับบางคนอย่างเช่น มุซัยละมะฮฺ สัจญาห์ และอิบนิอบิลเอาญาอ์ ได้ขันอาสารับคำท้าทายของอัล-กุรอานแต่พวกเขาก็ไม่สามารถทำได้และยอมรับสารภาพในที่สุด ในสมัยที่ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ยังมีชีวิตอยู่บรรดาศัตรูได้ทำการขัดขวางการเผยแพร่ของศาสดาต่างๆ นานา รวมไปถึงการเข่นฆ่า การนองเลือด และการทำสงคราม ตลอดจนการปิดล้อมทางเศรษฐกิจ พวกเขาได้ทำทุกอย่างด้วยความยากลำบากยิ่ง แต่สิ่งที่ง่ายเพียงนิดเดียวที่พวกเขาไม่สามารถทำได้คือ การนำสิ่งที่คล้ายกับอัล-กุรอานขึ้นมาแม้เพียงคำเดียวก็ตาม ในปัจจุบันผู้ที่คิดทำลายล้างอิสลามได้สูญเสียเงินไปเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อทำลายอิสลามให้สิ้นซาก แน่นอนเสียเหลือเกินถ้าพวกเขาสามารถทำได้โดยไม่ต้องสูญเสียงบประมาณมหาศาล แต่งสิ่งที่คล้ายกับอัล-กุรอานขึ้นมาสักหนึ่งบท เพื่อสู้กับอิสลามพวกเขาคงทำไปตั้งนานแล้ว และถ้าประสบความสำเร็จพวกเขาต้องป่าวประกาศอย่างยิ่งใหญ่ในฐานะของเจ้าของสื่อโฆษณา การสารภาพของนักวิชาการทั้งหลาย นักวิชาการตะวันตกได้ยอมรับว่าอัล-กุรอานคือสิ่งมหัศจรรย์ที่ไม่มีคัมภีร์ใดเหมือน นักวิชาการที่เป็นสตรีชาวอิตาลี และเป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัย นาโปลี กล่าวว่า คัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์แห่งฟากฟ้า ของอิสลามคือ อัล-กุรอาน เป็นตัวอย่างของความมหัศจรรย์ที่ลุ่มลึกไม่มีใครสามารถทำได้เช่นอัล-กุรอาน แนวทางและรูปแบบของอัล-กุรอานไม่เคยมีมาก่อนในวัฒนธรรมของอาหรับ การมีอิทธิพลพิเศษทางจิตวิญญาณของมนุษย์ เป็นสิ่งยืนยันถึงความเป็นเลิศกว่า ดีกว่าของอัล-กุรอาน .... และเป็นไปได้อย่างไรที่คัมภีร์นี้จะเป็นของมุฮัมมัด ขณะที่เขาเป็นอาหรับคนหนึ่งที่ไม่ได้เรียนหนังสือ อ่านไม่ออกและเขียนไม่เป็น เราได้ค้นพบคลังแห่งวิชาการมากมายจากอัล-กุรอาน ซึ่งเป็นคลังวิชาที่มีความสูงส่งกว่าผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาการ มีความยิ่งใหญ่กว่านักปรัชญา และนักการเมืองทั้งหลาย ด้วยเหตุนี้อัล-กุรอานจึงไม่ใช่ผลงานของบุคคลที่ได้จบการศึกษาในระดับสูงอย่างแน่นอน[๙] ศาสตราจารย์ ซินายิช พูดว่า ไม่ต้องคิดเลย แท้จริงอัล-กุรอานเป็นธรรมนูญที่สมบูรณ์ ที่ไม่มีสิ่งโมฆะใดสามารถย่างกายเข้าไปได้ ดังนั้นในทุกยุคสมัยถ้ามุสลิมได้มีการยึดมั่นกับอัล-กุรอานเขาสามารถกลับมายิ่งใหญ่ได้เหมือนบรรพชนในอดีต[๑๐] จอห์น วิลเลี่ยม ดรอพเพอร์ (J.W. DROPER) พูดว่า อัล-กุรอานได้เตือนเรื่องจริยธรรมจรรยาไว้อย่างมาก อัล-กุรอานได้ถูกเรียบเรียงไว้อย่างเรียบง่ายเพื่อให้เราได้ค้นพบและเข้าใจ ไม่มีหน้าไหนของอัล-กุรอานนอกจากการจารึกด้วยถ้อยจำนรรจ์ที่สูงส่ง ถ้าใครยอมรับเขาก็จะได้สัมผัสมัน ความมั่นคงเป็นพิเศษที่กล่าวไว้ที่ละน้อยล้วนเป็นธรรมนูญที่สูงส่งทีมีความสมบูรณ์อยู่ในตัวเอง และเป็นความเมตตาแก่ประชาชาติทุกหมู่เหล่า ทุกแง่มุมของการดำเนินชีวิตสามารถใช้ประโยชน์จากอัล-กุรอานได้[๑๑] แน่นอนถ้าหากบรรดามุสลิมทั้งหลายได้สร้างความเข้าใจกับอัล-กุรอาน ทำการขบคิด และปฏิบติไปตามสิ่งที่อัล-กุรอานได้สอนเอาไว้ชีวิตของเขาต้องก้าวหน้าและประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน แต่ทุกวันนี้ยังพบความแตกแยก และความไม่สมานฉันท์ของพี่น้องมุสลิมเป็นเพราะเราได้ห่างเหินกับอัล-กุรอาน เราจึงพ่ายแพ้ตัวเองและพ่ายแพ้ต่อศัตรูเสมอมา อิสลามนั้นไม่ได้เป็นกันแต่เพียงชื่อเท่านั้น หากแต่ต้องอิงอาศัยการปฏิบัติเป็นหลักด้วย ดังนั้นการยึดมั่นต่ออัล-กุรอานคือความจำเป็นเหนือสิ่งอื่นใด ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) กล่าวว่า เมื่อการทดสอบทั้งหลายได้ย่างกายมาสู่ท่าน ประดุจดังเวลากลางคืนได้ครอบคลุมเหนือพวกท่าน ท่านจงยึดมั่นอัล-กุรอานให้มั่นคง[๑๒] ________________________________________ [๑] จากหนังสือลมและฝนในอัล-กุรอานหน้าที่ ๑๙-๒๕ [๒] หิจร์ /๒๒ [๓] นูรฺ / ๔๓ [๔] ชูรอ / ๒๙ [๕] ยาซีน / ๓๖ [๖] ฏอฮา / ๕๓ [๗] อัสรอ /๘๘ [๘] บะก่อเราะฮฺ / ๒๓ [๙] พีชรัฟ สะรีอ์ อิสลาม หน้าที่ ๔๙ เป็นต้นไป [๑๐] ตับซีรฺนะวีน หน้าที่ ๔๒ [๑๑] ตารีคตะรักกี ฟิกร์ ยูโรป ลอนดอน ค.ศ. ๑๘๗๕ หน้าที่ ๓๔๓-๓๔๔ [๑๒] อุศูลกาฟีย์ เล่มที่ ๒ หน้าที่ ๕๙๙