คุณค่าของกุรอานในวิถีวีชิตของมุสลิม
คุณค่าของกุรอานในวิถีวีชิตของมุสลิม
0 Vote
57 View
กุรอานครอบคลุมแบบแผนหลักในการดำเนินชีวิตของมนุษยชาติ กุรอานครอบคลุมแบบแผนหลักของชิวิตมมนุษย์ ทั้งนี้เนื่องจากศาสนาอิสลามซึ่งถือเป็นศาสนาที่ดีกว่าศาสนาอื่นๆ ในการจัดเตรียมและให้หลักประกันต่อความผาสุกของชีวิตมนุษย์นั้น ได้มาถึงมือของมุสลิมโดยผ่านกุรอานอันจำเริญ นอกจากนี้รากฐานหลักของเนื้อหาสาระของอิสลามซึ่งได้แก่ประมวลคำสอนในด้านความเชื่อถือศรัทธา ข้อบัญญัติทางศีลธรรมจรรยาและกฎเกณฑ์ในทางปฏิบัตินั้น ได้ถูกสาธยายไว้ในกุรอานด้วยเช่นกัน อัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่งได้ทรงตรัสว่า “แท้จริงกุรอานนี้ชี้นำไปสู่แนวทางที่ดีมั่นคงที่สุดในท่ามกลางแนวทางทั้งหลาย” (อัล-อิสรออฺ, 9) พระองค์ทรงตรัสอีกว่า “เราได้ประทานคัมภีร์นี้ลงมาให้แก่เจ้าซึ่ง(เป็นคัมภีร์ที่)สาธยายทุกสรรพสิ่ง” (อัน-นะหลฺ,89) เป็นที่ประจักษ์ชัดว่า หลักศรัทธาทางศาสนา, ความดีงามและคุณค่าทางศีลธรรมจรรยา, และประมวลกฎหมายที่ครอบคลุมทุกแง่มุมของพฤติกรรมมนุษย์นั้น ได้รับการสาธยายไว้ในกุรอานโดยพร้อมสรรพ ด้วยกับการพิจารณาประเด็นต่างๆ ต่อไปนี้ จะสามารถทำให้เราเข้าใจถึงความหมายที่แท้จริงของคำกล่าวที่ว่า “กุรอานครอบคลุมแบบแผนในการดำเนินชีวิตของมนุษยชาติ” ได้เป็นอย่างดี 1. มนุษย์ไม่มีเป้าหมายอื่นใดในการดำเนินชีวิตนอกจากความสำเร็จและความผาสุกของตนเองเท่านั้น(ซึ่งสำแดงออกมาในรูปแบบต่างๆ อาทิเช่น เสรีภาพ ชีวิตที่สะดวกสบายและมั่งคั่งสมบูรณ์ เป็นต้น) ถึงแม้ว่าในบางครั้งจะดูเหมือนว่าบุคคลบางกลุ่มปฏิเสธความผาสุกของตนเองก็ตาม อาทิเช่น บุคคลที่จบชีวิตของตนเองด้วยกับการฆ่าตัวตาย หรือผู้ที่ละทิ้งการแสวงหาความสุขในทางวัตถุ แต่ถ้าหากเราได้พิจารณาสภาพจิตใจของพวกเขาอย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว เราจะพบว่ามีองค์ประกอบบางอย่างทำให้พวกเขาถือว่าสิ่งที่ตนเองปฏิบัติอยู่นั้นคือความผาสุก ตัวอย่างเช่น บุคคลที่ฆ่าตัวตายเนื่องจากการรุมเร้าของปัญหาชีวิตจะถือว่าความสุขของตนเองอยู่ในความตายนั้น บุคคลที่สละโลกและหมกมุ่นอยู่กับการบำเพ็ญตบะและหักห้ามตนเองจากการแสวงหาความพึงพอใจในทางวัตถุนั้น ก็จะถือว่าความผาสุกอยู่ในวิถีทางดังกล่าวที่ตนเองเลือกเดิน ดังนั้น กิจกรรมของมนุษย์ในการดำเนินชีวิตจึงดำเนินไปเพื่อการได้มาซึ่งความผาสุกและชัยชนะอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าในการแยกแยะความผาสุกที่แท้จริงของตนนั้นจะถูกต้องหรือผิดพลาดก็ตาม 2. พฤติกรรมของมนุษย์ในการดำเนินชีวิตมิอาจเกิดขึ้นโดยปราศจากแบบแผนหรือรูปแบบเฉพาะหนึ่งๆ ได้ ข้อเท็จจริงนี้เป็นที่ชัดเจนโดยตัวของมันเอง ทั้งนี้เนื่องจากในด้านหนึ่งมนุษย์จะสำแดงพฤติกรรมไปตามความปรารถนาและเจตนารมณ์ของตน ดังนั้น ตราบเท่าที่มนุษย์ยังไม่สามารถแยกแยะการงานหรือกิจกรรมหนึ่งๆ ด้วยกับเงื่อนไขต่างๆ ที่มีอยู่ว่าเป็นการงานที่กระทำได้หรือไม่ เขาจะไม่ลงมือกระทำงานดังกล่าวเป็นอันขาด กล่าวคือ มนุษย์จะกระทำงานหนึ่งๆ ไปตามคำสั่งด้านในของเขา และในอีกด้านหนึ่งมนุษย์จะกระทำงานต่างๆ ไปเพื่อตนเอง กล่าวคือ เพื่อตอบสนองความต้องการต่างๆที่เขาเห็นว่าเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้น ในระหว่างงานและการกระทำของมนุษย์จึงมีความเกี่ยวพันกันโดยตรง การกิน การดื่ม การหลับนอนและทุกๆ อิริยาบถของมนุษย์ล้วนประกอบไปด้วยกาลเทศะ, สถานที่และปริมาณที่เฉพาะเจาะจงต่อกิจกรรมนั้นๆ ในบางสภาพการณ์อิริยาบถหนึ่งๆ เป็นสิ่งจำเป็น แต่ในบางสภาพการณ์เป็นสิ่งไม่จำเป็น ในบางเงื่อนไขเป็นสิ่งที่มีประโยชน์ในขณะที่ภายใต้เงื่อนไขอีกบางประการกลับกลายเป็นสิ่งให้โทษ ดังนั้น การกระทำการงานของมนุษย์จึงเป็นไปตามการบงการของธรรมชาติด้านในของตน ซึ่งกฎเกณฑ์กว้างๆ ของมันถูกรวบรวมไว้ในความเข้าใจและการรับรู้ของมนุษย์ ส่วนรายละเอียดข้อปลีกย่อยต่างๆ จะเกิดขึ้นตามการประยุกต์กฎเกณฑ์หลักดังกล่าวเข้ากับกรณีนั้นๆ มนุษย์ทุกคนในแง่ของพฤติกรรมส่วนตัวเปรียบเสมือนประเทศหนึ่งๆ ซึ่งกิจกรรมต่างๆของพลเมืองของประเทศนั้นถูกควบคุมอยู่ภายใต้ประมวลกฎหมาย วัฒนธรรมและประเพณีหนึ่งๆ และประชาชนมีหน้าที่ที่จะต้องปรับกิจการงานของตนให้เข้ากับข้อกฎหมายก่อนเป็นประการแรก หลังจากนั้นจึงลงมือปฏิบัติ ในทำนองเดียวกัน พฤติกรรมทางสังคมของประชาคมหนึ่งๆ ก็มีลักษณะเช่นเดียวกับกิจกรรมส่วนบุคคลและจำต้องถูกควบคุมด้วยกับประมวลกฎหมาย วัฒนธรรมและประเพณีที่คนส่วนใหญ่ให้การยอมรับด้วยเช่นเดียวกัน ถ้ามิเช่นนั้นแล้วองค์ประกอบและโครงสร้างทางสังคมจะพังทลายลงมาเนื่องจากการปราศจากขื่อแปรในเวลาอันรวดเร็ว หากสังคมหนึ่งเป็นสังคมศาสนา การควบคุมบริหารในสังคมนั้นย่อมเป็นไปตามข้อบัญญัติทางศาสนา และหากสังคมนั้นมิใช่สังคมศาสนาแต่มีธรรมนูญในการปกครอง กิจกรรมต่างๆ ย่อมดำเนินไปตามตัวบทกฎหมายที่บังคับใช้ในสังคมนั้น แต่ถ้าหากสังคมนั้นมิใช่สังคมศาสนาอีกทั้งยังเป็นสังคมป่าเถื่อนไร้ขื่อแปรแล้ว ธรรมเนียมและแบบปฏิบัติต่างๆ ที่รัฐบาลเผด็จการเป็นผู้กำหนดและบังคับใช้มัน หรือพิธีกรรมต่างๆ ซึ่งเกิดขึ้นมาจากผลของความขัดแย้งกันของระบบความเชื่ออันหลากหลายในสังคมนั้นๆ จะถูกนำมาสู่การปฏิบัติ ดังนั้น มนุษย์จึงมิอาจปฏิเสธความจำเป็นในการมีเป้าหมายทั้งในพฤติกรรมส่วนบุคคลและกิจกรรมทางสังคมของตนเอง, ในการบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าวโดยอาศัยแนวทางที่เหมาะสมกับเป้าหมายนั้นควบคู่ไปกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์และข้อกำหนดต่างๆ ได้ กุรอานได้ยืนยันถึงทัศนะดังกล่าวนี้ไว้ว่า“ทุกกลุ่มชน (หรือทุกๆ คน) มีทิศทางและเป้าหมายที่มุ่งหน้าไปสู่ (ทิศทางนั้นๆ) ดังนั้น พวกเจ้าจงรุดหน้าไปสู่ความดีงามเถิด (เพื่อจะได้ไปถึงยังเป้าหมายหนึ่งอันสูงส่งยิ่ง)” (อัล-บะเกาะเราะฮฺ, 148) โดยหลักการแล้ว กุรอานจะใช้คำว่า “ดีน” ในความหมายของ “แนวทางและแบบแผนของการดำเนินชีวิต” ดังนั้น ไม่ว่าผู้ศรัทธาหรือผู้ปฏิเสธก็ตามต่างก็มี “ดีน” ทั้งสิ้น เนื่องจาการดำเนินชีวิตของมนุษย์มิอาจก่อรูปขึ้นโดยปราศจากแนวทางและแบบแผนได้ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางที่มาจากศาสดาและวะฮฺยูของพระผู้เป็นเจ้า หรือแบบแผนที่ถูกกำหนดขึ้นโดยมนุษย์เองก็ตาม อัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่งได้ทรงสาธยายถึงศัตรูของดีน (ศาสนา) ของพระผู้เป็นเจ้าไว้ว่า “พวกเขาคือบรรดาผู้ที่สกัดกั้นผู้คนจากแนวทางของอัลลอฮฺ และพวกเขาประสงค์แนวทางของอัลลอฮฺ (แนวทางในการดำเนินชีวิตตามธรรมชาติอันบริสุทธิ์)ในสภาพที่พวกเขาได้บิดเบือนมัน” (อัล-อะอฺรอฟ, 45) โองการนี้ชี้ให้เห็นว่า คำว่า “สะบีลิลลาฮฺ” ในสำนวนภาษาของกุรอาน หมายถึง“ดีน” และยังชี้ให้เห็นอีกว่าผู้กดขี่หรือแม้กระทั่งผู้ที่ไม่เชื่อถือศรัทธาในพระผู้เป็นเจ้า ก็ยังนำเอาศาสนาของอัลลอฮฺ (ศาสนาแห่งธรรมชาติอันบริสุทธิ์) ด้วยรูปแบบที่ถูกบิดเบือนแล้วมาสู่การปฏิบัติ ดังนั้น รูปแบบในการดำเนินชีวิตที่พวกเขาปฏิบัติอยู่ก็ถือว่าเป็นดีนของพวกเขานั่นเอง 3. แนวทางและแบบแผนในการดำเนินชีวิตที่ดีและมั่นคงที่สุดสำหรับมนุษย์ ได้แก่แนวทางที่ได้รับการชี้นำโดยธรรมชาติของการสร้างสรรค์ในตัวมนุษย์ มิใช่โดยอารมณ์ความรู้สึกของบุคคลหรือของสังคมแต่อย่างใด ถ้าหากเราพิจารณาส่วนประกอบต่างๆ แต่ละส่วนในโครงสร้างของมนุษย์อย่างละเอียดถี่ถ้วนแล้ว เราจะพบว่าในการมีอยู่ของมนุษย์นั้น มีเป้าหมายหนึ่งที่เขากำลังมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายนั้นนับตั้งแต่วันแรกที่เขาได้ถูกสร้างขึ้นมา และมนุษย์กำลังเคลื่อนตัวไปสู่เป้าหมายดังกล่าวในเส้นทางที่เหมาะสมและสั้นที่สุด และเราจะพบอีกว่าในโครงสร้างทั้งภายนอกและภายในของมนุษย์ล้วนเต็มไปด้วยความเพียบพร้อมต่างๆ ที่เหมาะสมกับเป้าหมายและเป็นที่มาของกิจกรรมต่างๆ ของเขา โดยแท้จริงแล้ว สิ่งถูกสร้างทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นสิ่งมีชีวิตหรือไม่มีชีวิตก็ตาม ล้วนได้รับการสร้างสรรค์ขึ้นในรูปแบบดังกล่าวทั้งสิ้น ตัวอย่างเช่น ต้นข้าวสาลีจะมุ่งหน้าไปสู่การกลายเป็นต้นข้าวสาลีที่เต็มไปด้วยรวงข้าว นับตั้งแต่วันแรกที่แตกหน่อออกมาจากเมล็ดใต้พื้นดิน และด้วยกับพลังที่ถูกซ่อนเร้นอยู่ภายในอย่างพร้อมสรรพ ต้นอ่อนจะดูดซึมเอาแร่ธาตุต่างๆ และอากาศในสัดส่วนที่เหมาะสม และจะเปลี่ยนแปลงจากสภาพหนึ่งไปสู่อีกสภาพหนึ่งจนกระทั่งกลายเป็นต้นข้าวสาลีที่ให้ผลพวงอย่างสมบูรณ์ในที่สุด และ ณ จุดนี้เองที่เส้นทาง (วัฏจักรชีวิต) ของต้นข้าวสาลีได้สิ้นสุดลง ในทำนองเดียวกัน ถ้าหากเราพิจารณาวัฏจักรชีวิตของต้นวอลนัตอย่างถี่ถ้วน เราจะพบอีกเช่นเดียวกันว่าต้นวอลนัต นับตั้งแต่วันแรกของชีวิตจะมุ่งหน้าไปสู่เป้าหมายเฉพาะตัวของมัน อันได้แก่การเติบโตจนกลายเป็นต้นวอลนัตที่แข็งแรงสมบูรณ์ และมันจะพัฒนาการไปสู่จุดหมายดังกล่าวด้วยกับเส้นทาง(กระบวนการ) ที่เหมาะสมและจำเป็นต่อรูปแบบชีวิตของมันเอง มันจะไม่พัฒนาการไปตามเส้นทางของต้นข้าวสาลี และในทำนองเดียวกัน ต้นข้าวสาลีก็จะไม่พัฒนาการไปตามเส้นทาง (กระบวนการ) ของต้นวอลนัตเป็นอันขาด สรรพสิ่งถูกสร้างทุกชนิดในโลกนี้ล้วนอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์หลักดังกล่าวนี้ (กล่าวคือ สิ่งถูกสร้างแต่ละประเภทจะมีเป้าหมายและเส้นทางที่เหมาะสมกับความพร้อมและศักยภาพของมันในการที่จะบรรลุสู่เป้าหมายนั้นๆ ซึ่งการบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าวถือเป็นความผาสุกของสิ่งถูกสร้างแต่ละประเภท) ดังนั้น จึงไม่มีเหตุผลใดๆ ที่มนุษย์ซึ่งเป็นสิ่งถูกสร้างประเภทหนึ่งจะได้รับการยกเว้นจากการอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ดังกล่าว ยิ่งไปกว่านั้น ความพร้อมและศักยภาพทางธรรมชาติต่างๆ ของมนุษย์ยังถือเป็นหลักฐานที่ดีที่สุดที่จะชี้ให้เห็นถึงข้อเท็จจริงดังกล่าว ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าธรรมชาติแห่งการสร้างสรรค์ของมนุษย์และจักรวาลซึ่งมนุษย์ถือเป็นส่วนหนึ่งของมัน จะเป็นตัวชี้นำทางมนุษย์ไปสู่ความผาสุกที่แท้จริง และจะแจ้งให้มนุษย์รู้ถึงกฎเกณฑ์พื้นฐานต่างๆที่สำคัญและมั่นคงที่สุด ซึ่งสามารถให้หลักประกันต่อความผาสุกของมนุษย์ได้ด้วยกับการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านั้น อัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่งได้ทรงรับรองข้อเท็จจริงข้างต้นไว้ว่า “พระผู้อภิบาลของเราคือผู้ทรงประทานแก่ทุกสรรพสิ่งซึ่งการสร้างสรรค์ (หรือธรรมชาติที่เฉพาะเจาะจงต่อ) สิ่งนั้นๆ หลังจากนั้นพระองค์ทรงชี้นำทาง (ไปสู่ความผาสุกและเป้าหมายเฉพาะของมัน)” (ฏอฮา, 50) พระองค์ยังได้ทรงตรัสอีกว่า “พระองค์คือผู้ทรงสร้างและทรงทำให้สมดุลย์ และพระองค์คือผู้ทรงกำหนดสัดส่วนและทรงนำทาง” (อัล-อะอฺลา, 2-3) เกี่ยวกับธรรมชาติของการสร้างสรรค์ของมนุษย์ พระองค์ได้ทรงตรัสว่า “ขอสาบานด้วยจิตวิญญาณ (ของมนุษย์) และพระผู้ทรงให้ความสมดุลแก่มัน แล้วทรงดลแก่มัน (ให้รู้ถึง) ซึ่งความชั่วและความยำเกรงของมัน แน่แท้ ผู้ชำระขัดเกลาจิตวิญญาณจนสะอาดเขาย่อมประสบความสำเร็จ ส่วนผู้ที่ทำให้มันแปดเปื้อนเขาย่อมสิ้นหวังอย่างแน่นอน” (อัช-ชัมสฺ, 7-10) พระองค์ยังได้ทรงตรัสอีกว่า “จงผินหน้าของเจ้าสู่ศาสนา (หรือจงยอมรับศาสนาด้วยการสำเหนียกอย่างสมบูรณ์) ในสภาพของการรักษาดุลยภาพและหลีกเลี่ยงจาการสุดโต่ง ศาสนาที่เป็นธรรมชาติแห่งการสร้างสรรค์ของอัลลอฮฺซึ่งพระองค์ได้ทรงมนุษย์ขึ้นมาบนธรรมชาตินั้น ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆในการสร้างสรรค์ของอัลลอฮฺ นี่คือศาสนาอันมั่นคง (และมีความสามารถในการจัดการบริหารวิถีดำเนินชีวิตของมนุษย์ได้)” (อัร-รูม, 30) และพระองค์ได้ทรงตรัสอีกว่า “ดีนและรูปแบบการดำเนินชีวิตที่ถูกรับรองโดยอัลลอฮฺ คือการยอมจำนน (ต่อพระประสงค์ของพระองค์ หมายถึงการยอมจำนนต่อธรรมชาติแห่งการสร้างสรรค์ของพระองค์ซึ่งได้เรียกร้องมนุษย์ไปสู่ประมวลข้อบัญญัติหนึ่งโดยเฉพาะ)” (อาลิอิมรอน, 19) หลังจากนั้นพระองค์ได้ทรงกล่าวเตือนว่า “และผู้ใดแสวงหาดีนอื่นนอกจากอิสลาม จะไม่มีการตอบรับใดๆจากเขา” (อาลิอิมรอน, 85) จากโองการต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นและโองการอื่นๆ ในทำนองเดียวกันนี้ สรุปได้ว่าอัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่งจะทรงชี้นำทางทุกๆ สรรพสิ่งไปสู่ความผาสุกและเป้าหมายของการสร้างสรรค์อันเฉพาะเจาะจงต่อสิ่งนั้นๆ ด้วยวิถีทางแห่งการสร้างสรรค์ของพระองค์ ดังนั้น เส้นทางที่แท้จริงสำหรับมนุษย์ในการดำเนินชีวิตจึงได้แก่เส้นทางที่ธรรมชาติอันบริสุทธิ์ของมนุษย์ได้เรียกร้องเขาไปสู่เส้นทางดังกล่าว และได้แก่การนำเอากฎเกณฑ์ต่างๆ มาปฏิบัติใช้ทั้งในชีวิตส่วนบุคคลและชีวิตในทางสังคม ซึ่งมนุษย์ที่มีธรรมชาติอันบริสุทธิ์จะได้รับการชี้นำไปสู่การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านั้น มิใช่มนุษย์ที่ตกเป็นทาสของอารมณ์ใฝ่ต่ำอันแปดเปื้อนหรือความปรารถนาและความรู้สึกต่างๆ คุณลักษณะอันจำเป็นของดีนแห่งธรรมชาติอันบริสุทธิ์นั้น ได้แก่การที่กลไกและองค์ประกอบต่างๆ ในระบบโครงสร้างของมนุษย์จะต้องไม่ถูกทำลายลง และสิทธิขององค์ประกอบเหล่านั้นจะต้องได้รับการตอบสนอง และระบบต่างๆ อาทิเช่น พลังหลากหลายชนิดของอารมณ์และความรู้สึกซึ่งแฝงเร้นอยู่ในร่างกายของมนุษย์ จะต้องถูกใช้งานไปในระดับที่สมดุลโดยไม่ส่งผลกระทบต่อพลังอื่น ๆ ดังนั้น จึงสรุปได้ว่าสติปัญญาจะต้องควบคุมมนุษย์ มิใช่ความปรารถนาและอารมณ์ความรู้สึกที่ขัดแย้งกับสติปัญญาที่สมบูรณ์ ส่วนในสังคมนั้น ความชอบธรรมและผลประโยชน์ที่แท้จริงของสังคมจะต้องเป็นตัวควบคุม มิใช่อารมณ์ปรารถนาตามอำเภอใจของปัจเจกชน และมิใช่ความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่ขัดแย้งกับสิทธิและผลประโยชน์ที่แท้จริงของสังคมแต่อย่างใด จากข้อเท็จจริงข้างต้น เรายังได้ข้อสรุปอีกประการหนึ่งว่า เฉพาะอัลลอฮฺเท่านั้นที่สามารถบัญญัติข้อกฎหมาย กฎเกณฑ์และหน้าที่ต่างๆ ได้ ทั้งนี้เนื่องจากเฉพาะระเบียบกฎเกณฑ์ที่ถูกกำหนดขึ้นมาจากวิถีทางตามธรรมชาติแห่งการสร้างสรรค์ของมนุษย์เท่านั้นที่จะสามารถยังประโยชน์ต่อมนุษย์ในการดำเนินชีวิตของเขาได้ กล่าวคือ มูลเหตุปัจจัยและองค์ประกอบทั้งภายนอกและภายในจะเรียกร้องมนุษย์ไปสู่การปฏิบัติตามกฎเกณฑ์เหล่านั้น หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่าอัลลอฮฺทรงประสงค์เช่นนั้น เนื่องจากความหมายของคำกล่าวที่ว่า “อัลลอฮฺทรงประสงค์สิ่งนั้นสิ่งนี้” ได้แก่การที่พระองค์ทรงบันดาลให้มูลเหตุปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆ ของการกระทำสิ่งนั้นๆ เกิดขึ้นมา ในบางกรณีมูลเหตุปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆดังกล่าวเป็นไปในลักษณะที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์หนึ่งในเชิงบังคับ อาทิเช่น ปรากฏการณ์ธรรมชาติต่างๆ ที่เกิดขึ้นประจำวัน พระประสงค์ของพระองค์ในลักษณะดังกล่าวนี้เรียกว่า “พระประสงค์ในทางธรรมชาติของการสร้างสรรค์” และในบางกรณีมูลเหตุปัจจัยและเงื่อนไขต่างๆ ดังกล่าวเป็นไปในลักษณะที่กำหนดให้มนุษย์กระทำการงานของตนด้วยกับการเลือกสรรอย่างเสรี อาทิเช่น การกินและการดื่ม พระประสงค์ของอัลลอฮฺในลักษณะดังกล่าวนี้เรียกว่า “พระประสงค์ในทางการบัญญัติข้อกฎหมาย” ซึ่งในเรื่องนี้พระองค์ได้ทรงตรัสไว้ในหลายโองการว่า “ไม่มีการตัดสินใดๆ นอกจากเป็นสิทธิเฉพาะแด่อัลลอฮฺเท่านั้น” (ยูนุส, 40,67) ด้วยกับการพิจารณาถึงบทนำทั้งสามประการข้างต้น อันได้แก่ ประการที่หนึ่ง การมีเป้าหมายของชีวิตมนุษย์ซึ่งได้แก่ความผาสุกของชีวิตที่เขาจะต้องขวนขวายและดิ้นรนในการบรรลุสู่เป้าหมายดังกล่าว ประการที่สอง ความพยายามดังกล่าวมิอาจสัมฤทธิ์ผลได้หากปราศจากระบบแบบแผนที่มีประสิทธิภาพ และประการที่สาม มนุษย์จะต้องเรียนรู้ระบบแบบแผนดังกล่าวจากหน้าหนังสือแห่งธรรมชาติและการสร้างสรรค์ หรืออีกนัยหนึ่ง มนุษย์จะต้องเรียนรู้มันจากการสอนของอัลลอฮฺนั่นเอง กุรอานจึงได้วางรากฐานของรูปแบบการดำเนินชีวิตของมนุษย์ไว้ดังนี้: กุรอานกำหนดให้ “การรู้จักอัลลอฮฺ” เป็นรากฐานของแบบแผนดังกล่าว และถือว่า “ความเชื่อในความเป็นเอกะของอัลลอฮฺ” เป็นพื้นฐานประการแรกของศาสนา(ดีน) หลังจากนั้นกุรอานได้ถือว่า “การรู้จักและศรัทธาต่อวันสุดท้าย” เป็นผลพวงของการรู้จักอัลลอฮฺและเป็นรากฐานอีกประการหนึ่ง หลังจากนั้น กุรอานได้ถือว่า “การรู้จักและศรัทธาต่อบรรดาศาสดา” เป็นผลพวงของความเชื่อในวันสุดท้าย ทั้งนี้เนื่องจากการตอบแทนการกระทำทั้งดีและชั่วจะไม่เกิดขึ้นโดยปราศจากการประกาศให้รู้ล่วงหน้าถึงสิ่งที่เป็นความดี ความชั่ว การจงรักภักดีและการฝ่าฝืนโดยผ่านทาง “วะหย์” และ “การเป็นศาสดา” เป็นอันขาด กุรอานได้ถือว่ารากฐานทั้งสามประการข้างต้นคือ “รากฐานของศาสนาอิสลาม” หลังจากนั้นในขั้นตอนถัดมา กุรอานได้แจกแจงถึงหลักเกณฑ์ทางศีลธรรมและคุณลักษณะอันดีงาม ต่างๆ ที่เหมาะสมกับรากฐานหลักของศาสนาทั้งสามดังกล่าว และเป็นคุณลักษณะที่มนุษย์ผู้มีศรัทธาและมองสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริงจำต้องมี หลังจากนั้นกุรอานได้กำหนดกฎเกณฑ์ต่างๆ ในทางปฏิบัติซึ่งในความเป็นจริงแล้วถือเป็นเครื่องพิทักษ์รักษาความผาสุกที่แท้จริง อีกทั้งยังเป็นเครื่องบ่มเพาะศีลธรรมจรรยาอันดีงาม และที่สำคัญไปกว่านั้น กฎเกณฑ์ต่างๆ ดังกล่าวถือเป็นองค์ประกอบของการเติบโตของหลักความเชื่อที่แท้จริงและรากฐานของศาสนา ทั้งนี้เนื่องจาก เป็นไปไม่ได้อย่างเด็ดขาดที่บุคคลซึ่งไม่มีกฎเกณฑ์ใดๆ ในเรื่องของเพศ ทำการลักขโมย ฉ้อโกง ยักยอกทรัพย์หรือหลอกลวงประชาชน จะเป็นผู้ที่มีจิตวิญญาณอันบริสุทธิ์ หรือบุคคลที่หลงใหลอยู่กับการสะสมทรัพย์สมบัติและไม่ยอมจ่ายทรัพย์สินไปตามสิทธิอันจำเป็นของมัน จะเป็นผู้ที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ หรือบุคคลที่ไม่เคารพภักดีอัลลอฮฺและไม่เคยรำลึกถึงพระองค์ จะเป็นผู้ที่มีความศรัทธามั่นต่อพระองค์และต่อวันแห่งการฟื้นคืนชีพและได้รับการขนานนามว่าเป็นบ่าวของพระองค์ ดังนั้น จริยธรรมอันดีงามจะดำรงอยู่ได้ก็ด้วยกับประมวลการประพฤติปฏิบัติหนึ่งๆ ที่ถูกต้องเหมาะสม ดังเช่นที่ความสัมพันธ์ระหว่างจริยธรรมอันดีงามกับรากฐานหลักต่างๆของความศรัทธาก็มีลักษณะดังกล่าวนี้เช่นกัน (กล่าวคือ จริยธรรมอันดีงามจะพบได้เฉพาะแต่ในบุคคลที่ความเชื่อของเขากลมกลืนกับรากฐานหลักของศาสนาเท่านั้น) ตัวอย่างเช่น เราไม่อาจคาดหวังการมีความศรัทธาต่ออัลลอฮฺและการนอบน้อมถ่อมตนต่อสถานภาพแห่งความเป็นพระผู้อภิบาลของพระองค์จากคนที่ยโสโอหังได้ หรือผู้ที่ตลอดชีวิตของเขาไม่เคยเข้าใจความหมายของมนุษยธรรม ความยุติธรรมและความกรุณาปรานี จะเป็นผู้มีศรัทธาต่อวันแห่งการฟื้นคืนชีพและวันแห่งการสอบสวน อัลลอฮฺผู้ทรงสูงส่งได้ทรงสาธยายถึงความสัมพันธ์ระหว่างระบบความเชื่อที่แท้จริงกับจริยธรรมอันดีงามไว้ว่า “ถ้อยคำ (ความเชื่อ) ที่บริสุทธิ์จะขึ้นไปยังพระองค์และการปฏิบัติที่ดีงามและเหมาะสมจะนำพามันขึ้นไป (หมายถึง การปฏิบัติที่ดีงามจะช่วยให้ถ้อยคำอันบริสุทธิ์ขึ้นไปถึงพระองค์)” (อัล-ฟาฏิร, 10) พระองค์ยังได้ทรงตรัสถึงความสัมพันธ์ระหว่างความเชื่อและการปฏิบัติไว้อีกว่า “หลังจากนั้นจุดจบของผู้ที่ประกอบความชั่วได้ลงเอยด้วยการที่พวกเขาปฏิเสธโองการต่าง ๆ ของอัลลอฮฺและเยาะเย้ยมัน” (อัร-รูม, 10) สรุปได้ว่า กุรอานครอบคลุมรากฐานหลักของอิสลามซึ่งประกอบไปด้วยส่วนสำคัญหลักๆ สามประการดังนี้ 1. รากฐานของความศรัทธาในอิสลามซึ่งส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อพื้นฐานทั้งสามประการ อันได้แก่ เตาฮีด (ความเป็นเอกะของอัลลอฮฺ) นุบูวะฮฺ (สภาวะการเป็นศาสดาของบรรดาศาสดา) และมะอาด (วันแห่งการฟื้นคืนชีพ) อีกส่วนหนึ่งเกี่ยวข้องกับระบบความเชื่อที่เป็นข้อปลีกย่อยของระบบความเชื่อหลักทั้งสาม อาทิเช่น ความเชื่อในเลาหฺ (แผ่นบันทึกการงาน) ก่อลัม (ปากกา) ก่อฎอและก่อดัร (กฎของการกำหนดสภาวการณ์) มะลาอิกะฮฺ อัรซฺ กุรซีย์ การสร้างชั้นฟ้าและแผ่นดิน เป็นต้น 2. จริยธรรมอันดีงาม 3. ข้อบัญญัติทางศาสนาและกฎเกณฑ์ในทางปฏิบัติซึ่งกุรอานได้สาธยายถึงหลักการใหญ่ๆ ของมันไว้ ส่วนการแจกแจงรายละเอียดเป็นหน้าที่ของท่านศาสดามุฮัมมัด (ซ็อล ฯ) และอะฮฺลุลบัยตฺ (อ.) ซึ่งเป็นตัวแทนของท่านดังที่ปรากฏอยู่ในหะดีษอัษ-ษะเกาะลัยน์ซึ่งได้รับการรายงานมาโดยมุสลิมทุกกลุ่มในระดับมุตะวาติร ฮะดีษมุตะวาติร หมายถึง ฮะดีซที่ได้รับการรายงานมาจากท่านศาสดา (ซ็อล ฯ) อย่างต่อเนื่องโดยสายรายงานจำนวนมาก จนมิอาจไม่อาจกล่าวได้ว่ามีความผิดพลาดในการรายงาน