การรู้จักพระเจ้า 9

คุณลักษณะของอาตมัน (ซาตียะฮฺ) -               บทนำ -               คุณลักษณะของอาตมันและการกระทำ -               การพิสูจน์คุณลักษณะแห่งอาตมัน -               ชีวิต -               ความรู้ -               พลังอำนาจ บทนำ ดังที่ทราบแล้วว่าพระเจ้าคือ พระผู้ทรงสร้างสรรค์สรรพสิ่งทั้งหลาย โลก และจักรวาล พระองค์ทรงมีความสมบูรณ์ครบ ซึ่งความสมบูรณ์ทั้งหลายที่มีอยู่ในทุกสรรพสิ่งล้วนมาจากพระองค์ทั้งสิ้น โดยที่ไม่มีสิ่งใดเพิ่มหรือลดไปจากความสมบูรณ์ของพระองค์ และเพื่อความเข้าใจอันชัดแจ้งโปรดพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้ อาจารย์ได้ใช้ความรู้ของตนสอนลูกศิษย์ ขณะที่ไม่มีความรู้ใดลดหายไปจากอาจารย์แม้แต่นิดเดียว แน่นอน ว่าการเพิ่มในการมีอยู่ หรือความสมบูรณ์ของการมีอยู่ของพระเจ้านั้นสูงส่งยิ่งกว่าตัวอย่างที่กล่าวมา บางที่ในประเด็นนี้อาจกล่าวให้เข้าใจง่ายกว่านี้ได้ว่า โลกแห่งการมีอยู่นั้นอยู่ภายใต้อำนาจแห่งอาตมันสากลอันบริสุทธิ์ของพระเจ้า ดังที่พระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน กล่าวว่า “อัลลอฮฺ คือ รัศมีปกคลุมฟากฟ้าและแผ่นดิน” (อัล-กุรอาน บทอันนูร โองการที่ 35) เมื่อพิจารณาถึงความสมบูรณ์อันไม่มีที่สิ้นสุดของพระเจ้า ดังนั้น ความหมายที่บ่งบอกถึงความสมบูรณ์โดยไม่มีข้อบกพร่องหรืออยู่ในขอบเขตจำกัด สามารถนำมากล่าวเทียบเคียงกับความสมบูรณ์ของพระเจ้าได้ ดังที่โองการพระมหาคัมภีร์อัล-กุรอาน และพระวจนะของท่านศาสดาตลอดจนบทวิงวอนขอพร และบทรำลึกต่าง ๆ ของบรรดาเหล่าผู้นำผู้บริสุทธิ์ที่กล่าวไว้ เช่น ความหมายหรือความเข้าใจที่มาจากรัศมี ความสมบูรณ์ ความสง่างาม ความรัก ความบรรเจิด และสิ่งที่คล้ายคลึงกันที่กล่าวพรรณนาถึงพระองค์ แต่สิ่งที่กล่าวไว้ในตำราเกี่ยวกับหลักศรัทธา ปรัชญา และศาสนศาสตร์ภายใต้หัวข้อว่า คุณลักษณะของพระเจ้า เป็นเพียงคุณลักษณะที่เน้นเฉพาะพิเศษเท่านั้น ซึ่งสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มได้ดังนี้คือ คุณลักษณะของอาตมันและคุณลักษณะของการกระทำ และอันดับต่อไปจะอธิบายถึงการแบ่งคุณลักษณะ หลังจากนั้นจะวิเคราะห์และพิสูจน์คุณลักษณะที่สำคัญที่สุด คุณลักษณะของอาตมันและการกระทำ คุณลักษณะที่กล่าวสัมพันธ์ไปยังพระเจ้า หรือความเข้าใจเมื่อพิจารณาจากประเภทของความสมบูรณ์ที่ได้รับจากอาตมันสากลของพระองค์ เช่น ชีวิต ความรู้ หรืออำนาจ หรือความเข้าใจที่ได้รับจากประเภทของความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับบรรดาสิ่งถูกสร้างของพระองค์ เช่น การสร้างสรรค์ หรือการประทานปัจจัยยังชีพ คุณลักษณะประเภทแรกเรียกว่า คุณลักษณะของอาตมัน (ซิฟัตซาตียะฮฺ) ส่วนประเภทที่สองเรียกว่า คุณลักษณะของการกระทำ (ซิฟัต ฟิอฺลียะฮฺ) แก่นแท้ของความแตกต่างระหว่างคุณลักษณะทั้งสองกลุ่มกล่าวคือ คุณลักษณะกลุ่มแรก อาตมันสากลอันบริสุทธิ์ของพระเจ้าถือว่าเป็นแก่นของคุณลักษณะทั้งหมด ส่วนคุณลักษณะกลุ่มที่สอง เป็นเสมือนการเล่าเรื่องหรือการรายงาน จากความสัมพันธ์ที่เพิ่มเติมระหว่างพระเจ้ากับบรรดาสิ่งถูกสร้างของพระองค์ ซึ่งอาตมันสากลของพระเจ้ากับตัวตนของสิ่งถูกสร้าง อยู่ในฐานะที่ก่อให้เกิดการเพิ่มเติมขึ้นระหว่างทั้งสองด้าน เช่น คุณลักษณะของการสร้างสรรค์เกิดมาจาก ความสัมพันธ์ระหว่างการมีอยู่ของสรรพสิ่งถูกสร้างทั้งหลายที่สัมพันธ์ไปยังอาตมันสากลของพระเจ้า ซึ่งทั้งพระเจ้าและสิ่งถูกสร้างคือผู้ก่อให้เกิดการเพิ่มเติมระหว่างทั้งสองด้าน ฉะนั้น ภายนอกจึงไม่มีแก่นสารอันเป็นภาวะจริงอื่นใด ที่นอกเหนือไปจากอาตมันบริสุทธิ์ของพระเจ้านามว่า การสร้างสรรค์ แน่นอน พระเจ้าทรงมีอำนาจเหนือการสร้างสรรค์ในอาตมันของพระองค์ ซึ่งอำนาจนั้นถือว่าเป็นคุณลักษณะของอาตมัน ส่วนการสร้างสรรค์ เป็นความเข้าใจที่เกิดจากการเพิ่มเข้าไปในตำแหน่งของการกระทำ ด้วยเหตุนี้ จึงถือว่าการสร้างสรรค์เป็นหนึ่งในคุณลักษณะของการกระทำ เว้นเสียแต่จะให้ความหมายว่า เป็นผู้มีอำนาจเหนือการสร้างสรรค์ เวลานั้นความหมายจะย้อนกลับไปยังคุณลักษณะของอำนาจ คุณลักษณะที่สำคัญที่สุดของอาตมันบริสุทธิ์แห่งพระเจ้า คือ ชีวิต ความรอบรู้ และอำนาจ ส่วนคุณลักษณะอื่นไม่ว่าจะเป็นการมองเห็นหรือการได้ยิน ถ้ามีความหมายว่าผู้รอบรู้ได้ยินหรือมองเห็น หรือผู้ทรงมีอำนาจเหนือการได้ยินและการมองเห็น ความหมายดังกล่าวจะย้อนกลับไปสู่ความรอบรู้และอำนาจ แต่ถ้าจุดประสงค์หมายถึงการได้ยินหรือการมองเห็นโดยการกระทำ ซึ่งเกิดจากความสัมพันธ์ระหว่างตัวตนของผู้ฟังและผู้มองเห็นกับสิ่งของที่สามารถได้ยินหรือมองเห็นได้ ความหมายดังกล่าวนี้จะย้อนไปสู่คุณลักษณะของการกระทำ ดังเช่นที่บางครั้งคำว่า ความรู้ ก็ถูกใช้ในความหมายข้างต้นภายใต้การเรียกชื่อว่า ความรู้ปัจจุบัน นักเทววิทยาบางท่านถือว่าคำพูดและความประสงค์เป็นหนึ่งในคุณลักษณะแห่งอาตมัน (ซาตียะฮฺ) ซึ่งจะกล่าวอธิบายในโอกาสต่อไป การพิสูจน์คุณลักษณะแห่งอาตมัน วิธีการที่ง่ายที่สุดสำหรับการพิสูจน์ชีวิต อำนาจ และความรอบรู้ของพระเจ้า กล่าวคือ เมื่อนำเอาคุณลักษณะเหล่านี้ไปใช้กับสิ่งถูกสร้าง เท่ากับเป็นการยืนยันให้เห็นถึงความสมบูรณ์ของพวกเขา ฉะนั้น ความสมบูรณ์ขั้นสูงสุดของสิ่งเหล่านี้ต้องมีอยู่ในพระเจ้าผู้ทรงสร้างสรรค์สรรพสิ่ง เนื่องความสมบูรณ์ที่พบในบรรดาสิ่งถูกสร้างทั้งหลายล้วนมาจากพระเจ้าผู้ทรงประทานผู้ทรงบังเกิดพวกเขา พระองค์ทรงเพิ่มแก่พวกเขา และเป็นไปไม่ได้ที่ว่าพระองค์ทรงประทานชีวิตแก่พวกเขาแต่พระองค์กับไม่ทรงมีชีวิต พระองค์ทรงประทานความรู้แก่พวกเขาแต่พระองค์กับไม่มีความรู้และไร้ความสามารถ ฉะนั้น การพบคุณลักษณะสมบูรณ์เหล่านี้ในสิ่งถูกสร้างบางประเภท ย่อมแสดงให้เห็นถึงการมีอยู่ของสิ่งเหล่านั้นในงานสร้างสรรค์ของพระเจ้า โดยปราศจากความบกพร่องและการไร้ขอบเขตจำกัด อีกนัยหนึ่งสามารถกล่าวได้ว่า พระเจ้าทรงมีชีวิต อำนาจ และความรู้อันไม่มีขอบเขตจำกัด ซึ่งลำดับต่อไปนี้จะอธิบายคุณลักษณะแต่ละประการเหล่านั้น ชีวิต คำว่าชีวิต (ฮะยาต) หมายถึงการดำรงอยู่ ซึ่งจะใช้กับสิ่งถูกสร้าง 2 กลุ่ม ดังต่อไปนี้ กลุ่มที่หนึ่ง ใช้กับบรรดาวัชพืชที่มีการเจริญเติบโตและมีการขยายพันธ์ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งใช้กับบรรดาปศุสัตว์และมนุษย์ที่มีความรู้สึกและความต้องการ แต่ในความหมายแรกนั้นบ่งบอกให้เห็นความบกพร่องและความต้องการ  เนื่องจากสิ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตคือ ต้องมีการเจริญเติบโตอันมั่นคงอยู่ก่อนแล้วซึ่งในตอนแรกนั้นปราศจากความสมบูรณ์ แต่เนื่องจากมีปัจจัยภายนอกก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสิ่งนั้น ต่อมาสิ่งนั่นค่อยพัฒนาไปสู่ความสมบูรณ์ ซึ่งขบวนการเหล่านี้ไม่อาจนำไปสัมพันธ์กับพระเจ้าได้เด็ดขาด เนื่องจากพระองค์ทรงสัมบูรณ์ครบถ้วนดังที่อธิบายไปแล้วในบทของคุณลักษณะที่ไม่มีอยู่ในพระเจ้า ส่วนความหมายที่ 2 คำว่าชีวิต คือความเข้าใจอันสมบูรณ์ ถึงแม้ว่าจะมีองค์ประกอบภายนอกเป็นเพียงความเป็นไปได้ซึ่งอยู่คู่กับความบกพร่องและการมีขอบเขตจำกัดก็ตาม แต่ในระดับหนึ่งสามารถคิดได้ว่าชีวิตนั้นไร้ขอบเขตจำกัด ไม่มีข้อบกพร่องและไม่มีขอบเขตจำกัดอีกทั้งไม่มีความต้องการไปยังสิ่งอื่น ดังเช่น ความเข้าใจในการมีอยู่ กับความเข้าใจในความสมบูรณ์ แต่โดยหลักการแล้วสำหรับคำว่า ชีวิต ที่มีความรู้และการกระทำเป็นองค์ประกอบสำคัญนั้น จะเป็นชีวิตที่ไม่ใช่ชีวิตทางวัตถุ แม้ว่าจะเอาชีวิตสัมพันธ์ไปยังการมีอยู่ที่มีชีวิตในโลกวัตถุก็ตาม ซึ่งในความเป็นจริงแล้วคุณลักษณะแห่งจิตวิญญาณของพวกเขา และเรือนร่างที่รองรับจิตวิญญาณทำให้ถูกเรียกว่ามีชีวิต อีกนัยหนึ่งกล่าวได้ว่า การดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องคือความจำเป็นสำหรับเรือนร่าง ชีวิตก็เช่นเดียวกันเป็นความจำเป็นสำหรับภาวะนามธรรม (มุญัรรอด) หมายถึงภาวะที่ไม่มีตัวตนหรือรูปร่าง ฉะนั้น เมื่อพิจารณาข้อความข้างต้นแล้วทำให้ได้รับเหตุผลอีกประการหนึ่งสำหรับ ชีวิตของพระเจ้า นั่นก็คือ อาตมันบริสุทธิ์ของพระองค์เป็นภาวะนามธรรมไร้ตัวตนและรูปร่าง ดังกล่าวอธิบายไปในบทก่อนหน้านี้แล้วว่าทุกสรรพสิ่งที่เป็นภาวะนาม ล้วนมีชีวิตทั้งสิ้น ดังนั้น อาตมันของพระเจ้าผู้ทรงเกรียงไกรก็มีชีวิตด้วย เหตุผลที่พระเจ้าทรงมีชีวิตเป็นที่ชัดเจน แน่นอน พระลักษณะชีวิตสำหรับพระเจ้าก็เหมือนกับพระลักษณะอื่น ๆ ที่ปราศจากความบกพร่อง และชีวิตของพระองค์ต่างไปจากมนุษย์ หรือสรรพสิ่งอื่นที่คล้ายคลึงกับมนุษย์เนื่องจากสิ่งเหล่านั้นมีการเกิดและตาย ส่วนชีวิตของพระองค์บริสุทธิ์จากสิ่งเหล่านี้ ชีวิตของพระองค์เมื่อผนวกกับซาตหมายถึงความตายไม่อาจกล้ำกรายพระองค์ได้ อีกนัยหนึ่ง การมีอยู่ของพระองค์สัมบูรณ์ หมายถึงมีอยู่เองไม่ขึ้นกับเหตุปัจจัยอื่นใด เป็นองค์สัมบูรณ์ ขณะที่ความตายเป็นความบกพร่อง ฉะนั้น ความตายจึงไม่อาจกล้ำกรายซาตของพระองค์ได้ อัล-กุรอานกล่าวว่า       “สูเจ้าจงมอบหมายต่อพระผู้ทรงดำรงชีวิตตลอดกาล ไม่ตาย” (อัล-ฟุรกอน/๕๘) ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความรู้ถือเป็นความเข้าใจที่ประจักษ์แจ้งที่สุด ซึ่งไม่ต้องการคำอธิบายหรือเหตุผลประกอบ แต่ตัวอย่างภายนอกระหว่างสิ่งถูกสร้างทั้งหลายตามที่รู้จักกัน ล้วนมีขอบเขตจำกัดและบกพร่องทั้งสิ้น ดังนั้น ความรู้ภายนอกที่มีคุณสมบัติดังกล่าวไม่อาจครอบคลุมเหนือพระเจ้าได้ ดั่งที่กล่าวไปแล้วว่าสติปัญญาสามารถคิดถึงตัวอย่างเพื่อความสมบูรณ์นั้นได้ โดยที่ไม่มีขอบเขตจำกัดหรือข้อบกพร่องใดๆ ทั้งสิ้น และความรู้นั้นยังเป็นหนึ่งเดียวกับอาตมันของผู้รู้อีกต่างหาก ซึ่งสิ่งนั้นคือความรู้แห่งอาตมันของพระเจ้านั่นเอง ความรู้ของพระเจ้าสามารถพิสูจน์ได้หลายวิธี ซึ่งหนึ่งในวิธีการเหล่านั้นคือ วิธีที่ใช้พิสูจน์คุณลักษณะทั้งหมดแห่งอาตมันของพระองค์ เนื่องจากความรู้ที่มีอยู่ในหมู่สิ่งถูกสร้างทั้งหลายมีความสมบูรณ์ แน่นอนว่าในชั้นของผู้สร้างสิ่งเหล่านั้นย่อมมีความสมบูรณ์มากกว่า อีกวิธีหนึ่งคือการอาศัยเหตุผลแห่งความเป็นระบบระเบียบ กล่าวคือทุกปรากฏการที่เกิดขึ้นเป็นระเบียบมากเท่าใด สิ่งนั้นย่อมบ่งบอกให้เห็นถึงความรอบรู้ของผู้สร้างปรากฏการนั้น  ดังเช่นหนังสือทางวิชาการ หรือหนังสือบทกวีที่มีความสวยงาม หรือหนังสือใดก็ตามทั้งหมดล้วนเป็นการบ่งบอกให้เห็นถึงรสนิยมและความถนัดของผู้เขียน เพราะไม่มีผู้มีสติปัญญาคนใดจะคิดว่าหนังสือทางวิชาการ หรือหนังสือปรัชญาถูกเขียนขึ้นมาโดยคนโง่เขลา ฉะนั้น จะคิดได้อย่างไรว่าโลกและจักรวาลอันกว้างไพศาล ที่เปี่ยมล้นไปด้วยความเร้นลับและปาฏิหาริย์มากมายเป็นสิ่งถูกสร้างที่ไม่มีความรู้กระนั้นหรือ ความรู้ของพระเจ้า เป็นอันหนึ่งอันเดียวกับซาตของพระองค์ เป็นอมตะ ชั่วกาลปาวสาน และไม่มีที่สิ้นสุด พระองค์นอกจากจะรู้โดยแก่นแล้ว ยังรอบรู้ในสิ่งที่พ้นไปจากธรรมชาติทั้งโดยรวมและรายละเอียดปลีกย่อย ทั้งก่อนและหลังการเกิด อัล-กุรอานกล่าวว่า اللَّهُ يَبْسُطُ الرِّزْقَ لِمَن يَشَاءُ مِنْ عِبَادِهِ وَيَقْدِرُ لَهُ إِنَّ اللَّهَ بِكُلِّ شَيْءٍ عَلِيمٌ “อัลลอฮฺ ทรงประทานเครื่องยังชีพมากมายแก่ผู้ที่พระองค์ทรงประสงค์ จากปวงบ่าวของพระองค์และทรงประทานเพียงเล็กน้อยแก่เขา แท้จริงอัลลอฮฺเป็นผู้ทรงรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง”[1] أَلَا يَعْلَمُ مَنْ خَلَقَ وَهُوَ اللَّطِيفُ الْخَبِيرُ พระผู้ทรงสร้างจะมิทรงรอบรู้ดอกหรือ พระองค์คือผู้ทรงรอบรู้อย่างถี่ถ้วน ผู้ทรงตระหนักยิ่ง”[2] ฮะดีซของอิมาม (อ.) ผู้บริสุทธิ์ได้กล่าวย้ำไว้อย่างมากมายถึง ความรู้ที่เป็นนิรันดรของพระผู้เป็นเจ้า ดังที่ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “ความรอบรู้ของพระองค์ เกี่ยวกับสถานที่ก่อนที่จะสร้างและหลังการสร้าง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ พระองค์ทรงรอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่าง”[3] อำนาจที่เป็นนิรันดร เกี่ยวกับผู้กระทำนั้นจะเห็นว่ามีการปฏิบัติตามเจตนารมณ์เสรีของตน และเมื่อกล่าวถึงงานก็จะบอกว่าตนมีพลังอำนาจในการกระทำ ดังนั้น คำว่าพลังอำนาจจึงหมายถึงการเริ่มต้นการกระทำ โดยผู้กระทำที่มีเจตนารมณ์เสรี ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่ภารกิจเหล่านั้นจะเริ่มต้นจากเขา ฉะนั้น ในระดับของการมีอยู่ถ้าผู้กระทำมีความสมบูรณ์มากเท่าใด ก็จะมีพลังอำนาจมากเท่านั้น และโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าการมีอยู่ของสิ่งนั้นไร้ขอบเขตจำกัด พลังอำนาจของเขาก็จะไร้ขอบเขตจำกัดตามไปด้วย ดังที่พระองค์ตรัสว่า إِنَّ اللَّه عَلَى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرٌ “แท้จริงอัลลอฮฺนั้นทรงอานุภาพเหนือทุกสิ่งทุกอย่าง”[4] ณ จุดนี้จะขอกล่าวประเด็นสำคัญเพื่อเป็นข้อคิดสัก 2-3 ประการ 1. ภารกิจที่เกี่ยวข้องกับอำนาจ จะต้องมีความเป็นไปได้ในการเกิด ดังนั้น สิ่งที่โดยแก่นแท้แล้วเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้หรือไม่มีอำนาจในความเป็นไป จึงไม่อาจเป็นที่ย้อนกลับของอำนาจได้ ซึ่งอำนาจของพระเจ้าที่ครอบคลุมอยู่เหนือทุกกิจการงานจึงไม่ได้หมายความว่า พระเจ้าทรงสร้างพระเจ้าใหม่ขึ้นมาอีกองค์ (เนื่องจากพระเจ้าไม่ได้เกิดจากการสร้างสรรค์) หรือการที่ทำให้จำนวน 2 ใหญ่กว่าจำนวน 3 หรือการสร้างบุตรในฐานะที่เป็นบุตรก่อนมีเป็นบิดา 2. สิ่งคู่ควรกับการมีอำนาจเหนือทุกภารกิจไม่ได้หมายความว่าจำเป็นต้องกระทำทุกสิ่ง ทว่าทุกสิ่งหากประสงค์ที่จะกระทำสามารถกระทำได้ทั้งสิ้น ดังนั้น อัลลอฮฺ (ซบ.) พระเจ้าผู้ทรงปรีชาญาณจะไม่กระทำสิ่งใด นอกจากภารกิจที่เปี่ยมไปด้วยวิทยปัญญาและคุณความดีเท่านั้น แม้ว่าพระองค์จะสามารถกระทำสิ่งชั่วร้ายและความไม่ดีไม่งามทั้งหลายได้ก็ตาม ซึ่งในบทต่อไปจะกล่าวอธิบายถึงวิทยปัญญาของพระเจ้า 3. อำนาจตามที่กล่าวถึงนั้นต้องครอบคลุมเจตนารมณ์เสรีอยู่ด้วย และอัลลอฮฺ (ซบ.) นั้นทรงเดชานุภาพสูงสุด และทรงมีเจตนารมณ์เสรีสมบูรณ์เป็นที่สุด ไม่มีอำนาจอื่นใดสามารถบีบบังคับให้พระองค์กระทำตามประสงค์ของเขา หรือถอดถอน หรือปฏิเสธเจตนารมณ์เสรีไปจากพระองค์ได้ เนื่องจากอำนาจของมวลสรรพสิ่งทั้งหลายบนโลกนี้ล้วนได้รับมาจากพระองค์ทั้งสิ้น ดังนั้น พระองค์จะไม่พ่ายแพ้ต่ออำนาจที่พระองค์ทรงมอบให้แก่สิ่งอื่นเป็นอันขาด อำนาจของพระเจ้าเหมือนกับความรอบรู้ เป็นนิรันดร และเป็นอันหนึ่งอันเดียวกับอาตมันของพระองค์ เช่น ความรอบรู้ที่เป็นจริง ที่ไม่มีที่สิ้นสุด อัล-กุรอานกล่าวถึงอำนาจที่แผ่ไพศาลของพระองค์ว่า وَكَانَ اللَّهُ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ قَدِيرًا “และอัลลอฮฺ ไว้ซึ่งอานุภาพเหนือทุกสิ่ง”[5] وَكَانَ اللَّهُ عَلَى كُلِّ شَيْءٍ مُّقْتَدِرًا “และอัลลอฮฺ ไว้ซึ่งอานุภาพเหนือทุกสิ่ง”[6] ท่านอิมามซอดิก (อ.) กล่าวว่า “อำนาจของอัลลอฮฺ (ซบ.) ทรงครอบครองเหนือบรรดาสรรพสิ่งทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นความรู้ อำนาจ การปกครอง และเจ้าของกรรมสิทธิ์อย่างเท่าเทียมกัน” บางครั้งสรรพสิ่งบางอย่างเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิด (มุมตะนิอฺ) และความเป็นไปไม่ได้โดยซาต (ตัวตน) ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของอัลลอฮฺ (ซบ.) ซึ่งไม่ได้หมายความว่าอำนาจนั้นไม่เพียงพอ แต่เป็นเพราะความบกพร่องของความเป็นไปไม่ได้นั้นเอง ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นไปไม่ได้ที่สิ่งนั้นจะเกิดขึ้น ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้ตอบคำถามของผู้ที่ถามถึงการสร้างสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ว่า “แท้จริงอัลลอฮฺ มิได้ถูกประดับด้วยการไร้ความสามารถ แต่สิ่งที่ท่านถามฉันมันเป็นไปไม่ได้ที่จะเกิดขึ้น” [1] อัล-อังกะบูต/62 [2] อัล-มุลกฺ/14 [3] เตาฮีดซะดูก หน้าที่ 177 หมวดที่ 10 ฮะดีซที่ 9 [4] อัล-กุรอาน บทอัลบะเกาะเราะฮฺ 20 [5] อัล-อะฮฺซาบ/27 [6] อัล-กะฮฺฟิ/45