การวิเคราะห์สาเหตุของการหลงทาง
การวิเคราะห์สาเหตุของการหลงทาง
0 Vote
55 View
- บทนำ - สาเหตุของการหลงทาง 1.สาเหตุทางจิตวิทยา 2.สาเหตุทางสังคม 3.สาเหตุทางความคิด - การต่อสู้กับปัจจัยที่ทำให้หลงทาง บทนำ เคยกล่าวไปแล้วในบทก่อนหน้านี้ว่าเราสามารถแบ่งโลกทัศน์ออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่โลกทัศน์แห่งพระเจ้ากับโลกทัศน์แห่งวัตถุ ซึ่งความแตกต่างสำคัญระหว่างทั้งสองคือ การมีอยู่ของพระผู้ทรงสร้างผู้ทรงปรีชาญาณและทรงพลานุภาพ โลกทัศน์แห่งพระเจ้าในฐานะที่เป็นแก่นแห่งพื้นฐานอันสำคัญ ยืนตระหง่านอยู่บนโลกทัศน์แห่งวัตถุและปฏิเสธสิ่งนั้นโดยสิ้นเชิง ในบทก่อนหน้านี้กล่าวถึงการพิสูจน์การมีอยู่ของพระเจ้า และคุณลักษณะสำคัญบางประการทั้งที่มีอยู่จริงและไม่มีอยู่จริงในพระองค์ อีกทั้งได้พิสูจน์คุณลักษณะแห่งการกระทำและอาตมันของพระองค์ไปเรียบร้อยแล้ว แต่สำหรับการต่อเติมให้หลักศรัทธามีความเข็มแข็งจำเป็นต้องกล่าวถึงเหตุผล เพื่อหักล้างหลักความเชื่อของโลกทัศน์แห่งวัตถุ เพื่อพิสูจน์โลกทัศน์แห่งพระเจ้าให้มีความมั่นคงยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันประเด็นสำคัญอันเป็นความอ่อนแอทางความเชื่อของโลกวัตถุนิยมจะชัดเจนมากยิ่งขึ้น สาเหตุของการหลงทาง บรรดาพวกปฏิเสธพระเจ้าหรือพวกวัตถุนิยม มีประวัติความเป็นมาอย่างยาวนานตลอดหน้าประวัติของมวลมนุษยชาติ นอกจากนั้นแล้วประวัติศาสตร์ยังเป็นพยานยืนยันให้เห็นว่า ความเชื่อในเรื่องพระเจ้าผู้รังสรรค์ก็มีมาตลอดด้วยเช่นกัน และนับตั้งแต่บรรพกาลผ่านมาก็จะพบว่ามีบุคคลและกลุ่มชนปฏิเสธพระเจ้าผู้ทรงรังสรรค์มาโดยตลอด แต่กลุ่มชนที่ปราศจากการนับถือศาสนาเริ่มตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 โดยเริ่มต้นจากทวีปยุโรป และแพร่หลายไปสู่จุดต่างๆ ทั่วโลกที่ละน้อย ปรากฏการดังกล่าวนี้ ได้เริ่มต้นจากการต่อต้านบรรดาโบสถ์ของชาวคริสต์ และศาสนาคริสต์เป็นต้นมา แต่กระแสคลื่นของการปฏิเสธศาสนาได้เริ่มทำลายนิกายของศาสนาและศาสนาอื่นๆ ตามมาภายหลัง โดยที่พวกเขาได้นำเอาศิลปะ เทคโนโลยี และการพัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมมาเป็นสิ่งทดแทนศาสนา ชาวตะวันตกได้แพร่ขยายแนวความคิดของตนเขาไปในอาณาบริเวณอื่น ๆ มากมาย จนกระทั่งในศตวรรษหลังสุดนี้แนวความคิดด้านการปฏิเสธศาสนาได้แฝงตัวมากับลัทธิมากซิก ทุนนิยม สังคมนิยม และเศรษฐศาสตร์ ซึ่งน่าเสียใจเป็นอย่างยิ่งว่าในระยะเวลาไม่นานนั้นเอง ความคิดนี้ได้แพร่ขยายไปสู่สังคมต่าง ๆ ทั่วโลก นับว่าเป็นความเสียหายอย่างรุนแรงแก่ประชาโลกทั้งหมด สาเหตุและปัจจัยสำคัญในการเกิดแนวความคิดดังกล่าว พร้อมกับการขยายตัวอย่างหน้าสะพรึงกลัวจนเป็นเหตุให้ผู้คนทั้งหลายหลงทางออกไปอย่างมากมาย ถ้าจะกล่าวอธิบายกันโดยละเอียดคงต้องใช้เวลามากกว่านี้แน่นอน แต่ ณ ที่นี้จะขอกล่าวอธิบายโดยสังเขปเพื่อสร้างความเข้าใจกับท่านผู้อ่าน ฉะนั้น สามารถกล่าวสรุปถึงปัจจัยและตัวการสำคัญไว้ใน 3 ประเด็น ดังนี้ 1. สาเหตุทางจิตวิทยา หมายถึงมนุษย์ทุกคนอาจเป็นไปได้ ที่จะมีแนวความคิดการปฏิเสธพระเจ้าอยู่ในตัว ถึงแม้ว่าสิ่งนั้นจะไม่ได้เปิดเผยหรือแสดงออกมา หรือบุคคลนั้นอาจไม่ได้รับรู้ถึงผลของมันโดยตรงก็ตาม ซึ่งประเด็นสำคัญที่สุด คือ มนุษย์รักในความสะดวกสบาย ชอบที่จะอยู่อย่างอิสระปราศจากข้อผูกมัดหรือเงื่อนไขทั้งหลายแหล่ หรืมีชีวิตอยู่โดยไม่ต้องรับผิดชอบการงานใดๆ ทั้งสิ้น ขณะที่อีกด้านหนึ่งต้องลำบากและต้องขวนขวายหาความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นเกี่ยวกับภารกิจที่ไม่มีผลประโยชน์อันใดทางโลก ซึ่งสิ่งนี้ก็จะกลายเป็นอุปสรรคปัญหาสำหรับกลุ่มชนที่เกียจค้าน ไม่ขวนขวายหาความจริง ไม่อดทนต่อการไขว่คว้าหาความจริงเหล่านั้น อีกด้านหนึ่งความปรารถนาในความเสรีเยี่ยงลักษณะของเดรัจฉานที่ปราศจากเงื่อนไขและข้อผูกมัดต่างๆ ไม่ต้องรับผิดชอบและไม่มีขอบเขตจำกัด ฉะนั้น ชนกลุ่มนี้จะละเว้นโลกทัศน์แห่งพระผู้เป็นเจ้า เนื่องจากถ้ายอมรับว่ามีพระเจ้า หมายถึงมีความเชื่อในเรื่องของพระผู้ทรงสร้างสรรค์ผู้ทรงปรีชาญาณยิ่ง ซึ่งความเชื่อดังกล่าวนี้ก่อให้เกิดความเชื่ออื่นๆ ตามมา และความจำเป็นของความเชื่อต่างๆ เหล่านั้นจะทำให้มนุษย์มีความรับผิดชอบในหน้าที่ และรู้จักระมัดระวังความประพฤติของตนเองมากยิ่งขึ้น ซึ่งความรับผิดชอบดังกล่าวนั้นจะกลายเป็นตัวกำหนดให้ตนระวัง หรือออกห่างจากความต้องการตามใจปรารถนา และยอมรับในความจำกัดอันมีขอบเขตที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งการยอมรับในความจำกัดต่างๆ นั้นย่อมขัดแย้งกับความอิสรภาพที่ไม่มีเงื่อนหรือความจำกัดโดยสิ้นเชิง จากจุดนี้จะเห็นว่าอารมณ์ปรารถนาแห่งเดรัจฉาน แม้ว่าตนจะไม่ปรารถนาหรือไม่รู้ ถือว่าเป็นตัวการสำคัญในการทำลายล้างรากเหง้าแห่งความรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นตัวการนำไปสู่การปฏิเสธพระเจ้า ดังนั้น ภาวะจิตใจภายในจะมีผลต่อความปรารถนาที่ปราศจากเงื่อนไข อันเป็นผลที่เกิดตามมาจากปัจจัยภายนอก 2. สาเหตุทางสังคม หมายถึงสภาพแวดล้อมของสังคมในปัจจุบันอันไม่พึงปรารถนา อันเป็นปรากฏการที่เกิดขึ้นในสังคมส่วนใหญ่ บรรดาผู้ที่ยอมรับในคำสอนของศาสนาล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการเกิด หรือการขยายวงกว้างของมัน บนเงื่อนไขดังกล่าวประชาชนส่วนใหญ่ที่มีความคิดอ่อนแอไม่สามารถจำแนกแยกแยะปัญหาต่างๆ ไม่สามารถวิเคราะห์วิจัยหรือไม่สามารถค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาได้ บางคนมองว่าปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นเพราะนักการศาสนาหรือกลุ่มอนุรักษ์นิยม ซึ่งพวกเขาโทษความเชื่อด้านศาสนาเป็นสาเหตุก่อให้เกิดปรากฏการณ์อันไม่พึงปรารถนาของสังคม ด้วยเหตุนี้เอง พวกเขาจึงหันห่างออกจากศาสนา ตัวอย่างที่เห็นได้ง่ายอันเป็นสาเหตุตามคำกล่าวข้างต้น สามารถพิจารณาได้จากสภาพแวดล้อมของสังคมตะวันตกตั้งแต่ยุคสมัยของยุคเรอเนสซองซ์เป็นต้นมา (ยุคนี้เป็นช่วงเวลาที่เกิดการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมในทวีปยุโรป ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมยุคใหม่ ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาอยู่ระหว่างยุคกลาง (Middle Age) และยุคปัจจุบัน (Modern Age) การเริ่มต้นของยุคฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมเริ่มต้นในประเทศอิตาลี เนื่องจากเป็นประเทศที่เป็นเมืองท่าในการติดต่อค้าขายระหว่างโลกตะวันตก และโลกตะวันออกในคริสต์ศตวรรษที่ 14 และยุโรปเหนือในคริสต์ศตวรรษที่ 16)[1] พวกเขามีความคิดว่าความประพฤติที่น่ารังเกียจแบบสุดโต่งด้านศาสนา เกี่ยวกับสิทธิมนุษย์ชนและการเมือง พวกนักอนุรักษ์นิยมและบรรดาบาทหลวงทั้งหลาย คือ สาเหตุสำคัญที่ทำให้ประชาชนถอยห่างออกจากศาสนาคริสต์ และคำสอนของศาสนาทั้งหมด ดังนั้น การให้ความสนใจพิเศษกับกลุ่มตัวการที่ก่อให้เกิดความทดถอยทางศาสนา ถือว่าเป็นความจำเป็นสำหรับกลุ่มชนที่มีบทบาทและมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของศาสนา เพื่อจะได้รับรู้และเข้าใจถึงสถานการและการให้ความสำคัญต่อหน้าที่ความรับผิดชอบของตน และจะได้รู้ว่าการหลงผิดหรือความเบี่ยงเบนของพวกตนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สังคมหลงทางและประสบกับความตกต่ำ 3. สาเหตุทางความคิด หมายถึงการจินตนาการหรือความคลางแคลงสงสัยที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของแต่ละบุคคล หรือการได้ยินมาจากบุคคลอื่นขณะที่ตนตกอยู่ภายใต้อิทธิพลทางความคิดและการวิเคราะห์อันอ่อนแอจึงไม่สามารถขจัดปัญหาเหล่านั้นให้หมดไปจากตนได้ ตนจึงตกอยู่ภายใต้อิทธิพลเหล่านั้นไปโดยปริยาย ประกอบกับตนเป็นผู้มีความรู้น้อย จึงทำให้เกิดความประหม่ากลายเป็นอุปสรรคขวางกั้นไม่ให้เกิดความเชื่อมั่น ตัวการสำคัญในประเด็นนี้สามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยได้ดังนี้กล่าวคือ ความเคลือบแคลงสงสัยที่วางอยู่บนพื้นฐานของผัสสะการ ความคลางแคลงใจที่เกิดจากความศรัทธาที่หลงผิด ความคลางแคลงใจที่เกิดจากการตีความที่ไม่ถูกต้องหรือการวิเคราะห์วิจัยอันอ่อนแอ ความคลางแคลงใจเกี่ยวกับปรากฏการอันไม่พึงปรารถนา ซึ่งคิดว่าสิ่งนั้นขัดแย้งกับวิทยปัญญาและความยุติธรรมของพระเจ้า ความคลางแคลงใจที่เกิดจากการตั้งสมมุติฐานที่ขัดแย้งกับความศรัทธาในศาสนา ความคลางแคลงใจเกี่ยวกับบทบัญญัติและกฎเกณฑ์ต่างๆ ของศาสนาโดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาเกี่ยวกับสิทธิ กฎหมายและการเมือง บางครั้งปัจจัยสำคัญหลายประการเป็นสาเหตุสร้างความคลางแคลงใจ หรือเป็นสาเหตุของการปฏิเสธพระเจ้า และบางครั้งอาการจิตไม่ปกติก็เป็นสาเหตุสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่โน้มนำไปสู่ความเคลือบแคลงสงสัยและการจิตนาการต่างๆ นานาที่เรียกว่าป่วยทางจิต (การหยุแหย่ทางความคิด) ในทีสุดแล้วบุคคลที่มีจิตใจป่วยไข้เขาจะไม่ยอมรับเหตุผลใดๆ ทั้งสิ้น เหมือนกับบุคคลที่มีความสงสัยในการกระทำแม้ว่าจะปฏิบัติอย่างถูกต้องแล้วแต่ไม่มีความมั่นใจในการกระทำของตน เช่น บางคนต้องการล้างมือได้เอามือจุ่มลงในน้ำหลายสิบครั้งแต่ไม่มั่นใจว่ามือของตนสะอาดแล้วหรือยัง ทั้งที่มือของตนอาจจะสะอาดอยู่แล้วโดยที่ไม่ต้องล้างหรือทำความสะอาดแต่อย่างใด การต่อสู้กับปัจจัยอันเป็นสาเหตุทำให้หลงทาง เมื่อพิจารณาปัจจัยและสาเหตุที่ก่อให้เกิดการหลงทางแล้วเป็นที่ประจักษ์ว่ามีจำนวนมากมาย ฉะนั้น การต่อสู้กับสาเหตุเหล่านั้นก็ต้องการเงื่อนไขและวิธีการที่เฉพาะเจาะจงเป็นพิเศษ เช่น สาเหตุที่เกิดจากภาวะจิตหรือจริยธรรมต้องอาศัยการอบรมสั่งสอนที่ถูกต้อง และการพิจาณาถึงอันตรายหรือผลเสียที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นตัวรักษา ดังที่กล่าวผ่านมาแล้วในบทที่สองและสามเกี่ยวกับความจำเป็นในการแสวงหาศาสนาและอันตรายที่เกิดจากการปราศจากศาสนา ทำนองเดียวกันการป้องกันผลที่เกิดจากสังคมที่เลวร้ายนอกจากจะป้องกันทางวิชาการแล้ว ยังต้องจำแนกความไม่ถูกต้องทางศาสนากับความประพฤติที่ไม่ถูกต้องของคนมีศาสนาให้ชัดเจน อย่างไรก็ตามการพิจารณาถึงผลอันเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดภาวะทางจิตและสังคม แม้ว่าจะมีผลสะท้อนออกมาไม่มากนักแต่ผู้คนส่วนน้อยก็ไม่รู้ว่าตัวเองกำลังตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของสิ่งเหล่านั้น เช่นกันการป้องกันผลร้าย อันเป็นตัวการที่เกิดจากความคิดจำเป็นต้องเลือกสรรวิธีการที่มีความเหมาะสมในการต่อสู้ เช่น จำเป็นต้องจำแนกความหลงผิดทางความเชื่อออกจากความเชื่อที่ถูกต้อง และจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงข้อพิสูจน์ที่อ่อนแอไม่มีเหตุผลทางวิชาการในการพิสูจน์ความเชื่อทางศาสนา และบางครั้งต้องเข้าใจว่าเหตุผลที่อ่อนแอมิได้บ่งบอกว่าข้อกล่าวอ้างนั้นไม่ถูกต้อง [1] ศิลปะเรอเนสซองซ์ (พ.ศ. 1940 - 2140) คำว่า "เรอเนสซองซ์" หมายถึง การเกิดใหม่ ซึ่งเป็นการระลึกถึงศิลปะกรีกและโรมันในอดีต ซึ่งเคยรุ่งเรืองให้กลับมาอีก ศิลปะเรเนสซองซ์ไม่ใช่การลอกเลียนแบบจากอดีต แต่เป็นยุคสมัยแห่งการเน้นความสำคัญของลักษณะเฉพาะบุคคล มีความสนใจลักษณะภายนอกของมนุษย์ และ ธรรมชาติ เป็นแบบที่มีเหตุผลทางศีลธรรม ก่อให้เกิดความกระตือรือร้นในการค้นหาความรู้ทาง วิทยาศาสตร์ และวิทยาการแขนงต่าง ๆ ซึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็น "ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยา" โดยมีรากฐานมาจากประเทศอิตาลี และแผ่ขยายไปยังดินแดนต่าง ๆ ในยุโรป